ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ออกมาประกาศให้คนทั่วโลก ได้ตระหนักถึงการบริโภคอาหารรสเค็ม อันเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคไต...แต่หากจะว่ากันตามตรง อาหารรสเค็มก็ไม่ได้เป็นแค่ตั๋วใบเดียวไปสู่ปลายทางโรคไตเสียเมื่อไหร่ เพราะยังมีสาเหตุและความเสี่ยงอีกหลายเรื่อง ที่พร้อมจะพาเราวิ่งสู่เส้นทางของโรคร้ายได้ทุกเมื่อ และไม่ใช่แค่กับวันพฤหัสบดีที่สองของเดือนมีนาคมเพียงเท่านั้น แต่เป็นทุกวัน ที่เราต้องตระหนักเกี่ยวกับ “ภาวะโรคไต” ให้มากกว่านี้
สมมติว่าคุณไม่ชอบทานอาหารรสเค็มอยู่แล้ว ก็อย่าเพิ่งลดการ์ดระวังโรคไตเป็นเด็ดขาด เพราะถ้าบังเอิญคุณดันไปชื่นชอบอาหารที่มีความมันจัดหรือหวานจัด ความเสี่ยงที่ว่าก็แทบไม่ต่างกันเลย ยิ่งถ้าเหมารวมกับพฤติกรรมยอดแย่อื่นๆ อย่างดื่มน้ำน้อย หรือไม่ออกกำลังกาย คงไม่ต้องตรวจตั๋วก็คงรู้อยู่แล้ว ว่าปลายทางของอาการป่วยโรคไตจะไปหยุดลงตรงที่ระยะไหน
พญ.ผ่องพรรณ ทานาค แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอายุรศาสตร์โรคไต สถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต โรงพยาบาลพระรามเก้า ให้ข้อมูลว่า “นอกจากปัจจัยด้านพฤติกรรมการกินอาหารที่เราทราบกันดี ยังต้องระวังในเรื่องการทานยา โดยเฉพาะในกลุ่มยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ที่ทำให้เลือดไปเลี้ยงไตลดลง และส่งผลให้ไตทำงานได้แย่ลงด้วย แต่สิ่งที่เป็นสาเหตุหลักของความเสี่ยงโรคไตจริงๆ ประมาณ 70% คือกลุ่มโรคประจำตัว อย่างเบาหวานและความดัน หรือแม้โรคไขมันและโรคอ้วน ก็นับเป็นความเสี่ยงเช่นกัน”
17.6% คือตัวเลขของคนไทยที่ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังหรือผู้ที่มีภาวะโรคไตแฝงอยู่ คิดเป็นประมาณ 8 ล้านคนของประชากรไทย แต่กลุ่มที่ป่วยเป็นโรคไตวายในระยะสุดท้าย จะอยู่ที่ประมาณ 8 หมื่น และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ราวๆ 1-2 หมื่นคนต่อปี
โดยอาการผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นก่อนคือ ‘อาการบวม’ โดยเฉพาะที่เปลือกตา ใบหน้า หรือบางรายที่หน้าแข้ง รวมถึงอาการปัสสาวะผิดปกติ เช่น มีเลือดเจือปน หรือมีลักษณะเป็นฟองละเอียด ทั้งยังส่งผลให้ปริมาณปัสสาวะมีความผิดปกติด้วยเช่นกัน อย่าง ปริมาณปัสสาวะลดลงทั้งที่ดื่มน้ำเท่าเดิม หรือปัสสาวะบ่อยขึ้นในเวลากลางคืน
...สำหรับโรคอื่นๆ เมื่อเราเจออาการผิดปกติเร็ว เราก็มักจะได้รับการรักษาที่ดี แต่โชคร้ายหน่อยที่ภาวะโรคไตไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะทันทีที่เราสังเกตเห็นอาการผิดปกติที่ว่า นั่นหมายถึง เรากำลังป่วยเป็นโรคไตในระยะที่ ‘อันตราย’ หรือเลวร้ายสุดคือระยะที่ 5 ที่จะตามมาซึ่ง “อาการไตวายระยะสุดท้าย”
“อาการของคนไข้โรคไตมี 5 ระยะ” พญ.ผ่องพรรณ กล่าว “แต่คนไข้ส่วนใหญ่ถ้าไม่อยู่ในระยะสุดท้ายหรือระยะที่แย่จริงๆ มักจะไม่มีอาการ ดังนั้นกว่าคนไข้บางคนจะมาหาหมอ เขาก็ป่วยในระยะสุดท้ายแล้ว ยิ่งถ้าผู้ป่วยมีโรคประจำตัวตั้งต้นติดมาด้วย จนไตเสื่อมการทำงาน ทางเลือกที่แพทย์ทำได้ก็จะเหลือแค่ชะลอความเสื่อมของไตไปให้ช้าที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้อาการลามไประยะสุดท้ายได้”
โดยปกติวิธีการรักษาโรคไตจะขึ้นอยู่กับระยะของโรคที่คนไข้เป็น ในระยะที่ 1-4 แพทย์จะทำการชะลอความเสื่อมของไตให้ช้าที่สุด ด้วยการรักษาตัวโรคตั้งต้นที่ก่อให้เกิดโรคไต ควบคุมเบาหวานให้ดี ควบคุมความดันให้อยู่ในระดับปกติ งดเว้นการสูบบุหรี่ ลดน้ำหนักลง ควบคุมอาหารไม่ให้มีรสจัดเกินไป รวมถึงรับประทานยาเพิ่มเพื่อคุมโรคไต
แต่ในทางตรงข้าม ‘อาการไตวายระยะสุดท้าย หรือ ระยะที่ 5’ ประสิทธิภาพไตจะทำงานเหลือน้อยลงกว่า 15% สิ่งที่แพทย์ทำได้จะเหลือตัวเลือกแค่ 3 ทาง คือการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม, การฟอกเลือดทางหน้าท้อง หรือการล้างหน้าท้องด้วยน้ำยา และสุดท้ายวิธีรักษาที่ดีที่สุด นั่นคือ “การปลูกถ่ายไต”
“การปลูกถ่ายไตไม่ใช่เรื่องง่าย” พญ.ผ่องพรรณ กล่าว “ปัจจุบันมีผู้ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตประมาณ 8,000 คน หรือคิดเป็นเพียง 10% ของผู้ป่วยโรคไตทั้งหมด ก่อนอื่นผู้ที่จะเข้ารับการปลูกถ่ายไตจะต้องให้ทางโรงพยาบาลเป็นผู้ยื่นชื่อเพื่อขอรับไตจากผู้บริจาคซึ่งเป็นผู้บริจาคสมองตาย จากสภากาชาดไทย หรือจากผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งเป็นญาติผู้ป่วยเองก็ได้ แต่ถึงอย่างนั้น ผู้ป่วยก็ต้องเจอกับกระบวนการทางแพทย์อีกหลายขั้นตอน เช่น ตรวจกรุ๊ปเลือด เช็คเนื้อเยื่อเพื่อหาความเข้ากันได้กับไต สภาพร่างกายต้องพร้อม และที่สำคัญคือความชำนาญและการทำงานของ ‘ทีมแพทย์’ ผู้ผ่าตัดต้องดีเยี่ยม เพราะไตที่รับบริจาคมาจะอยู่นอกร่างกายได้เพียงแค่ 24 ชั่วโมงเท่านั้น”
ด้วยปัจจัยเสี่ยงมากมาย และขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนของการปลูกถ่ายไต ทำให้โรงพยาบาลพระรามเก้า ได้ก่อตั้ง “สถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต” ขึ้นมา โดย “นพ.วิรุฬห์ มาวิจักขณ์” เพื่อรวบรวมทีมแพทย์และทีมสหสาขาวิชาชีพขึ้นมา ดูแลผู้ป่วยโรคไตโดยเฉพาะ แต่ที่น่าสนใจคือความพิเศษของสถาบันฯ ที่แตกต่างจากทั่วไป เพราะที่นี่เป็นที่แรกและที่เดียวที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก “JCI (Joint Commission International)” สถาบันรับรองมาตรฐานการรักษาจากสหรัฐอเมริกา
สถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต ของโรงพยาบาลพระรามเก้า ก่อตั้งมาแล้วกว่า 29 ปี ผ่าตัดปลูกถ่ายไตไปแล้วทั้งหมด 982 เคส อายุเฉลี่ยผู้รับการปลูกถ่ายอยู่ที่ประมาณ 55-65 ปี สถิติผู้ป่วยอายุน้อยที่สุดที่เข้ารับการปลูกถ่ายไตคือ 11 ปี และผู้ป่วยอายุมากที่สุด คือ 80 ปี จำนวน 2 คน
“จุดมุ่งหมายหลักของสถาบันฯ คือการคืนชีวิตใหม่ให้กับคนไข้ ผู้ป่วยแต่ละคนที่เข้ารักษากับสถาบันฯ จะได้รับการดูแลจากอายุรแพทย์โรคไตรวม 6 ท่าน และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขารวมสมองช่วยกันดูแล และจะได้รับการปลูกถ่ายไตจากทีมผ่าตัดผู้เชี่ยวชาญ ที่มีถึง 5 ทีม ซึ่งแพทย์แต่ละคนล้วนผ่านประสบการณ์การผ่าตัดในเคสที่ซับซ้อนมาแล้วทั้งสิ้น เช่นกรณีผู้ป่วยมีโรคร่วมหลายๆ อย่าง รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่ต้องอาศัยความชำนาญจริงๆ ในการดูแล
“นั่นก็เพื่อให้ผู้ป่วยโรคไต หลุดออกจากความทุกข์ทรมานกับการฟอกไต ให้กลับมามีชีวิตใหม่ ที่มีคุณภาพชีวิตดีและยืนยาวกว่าเดิม” พญ.ผ่องพรรณ ทิ้งท้าย