โดยทั่วไปธรรมชาติของเด็กต้องการความรัก และการยอมรับจากคุณพ่อคุณแม่ อยากได้คำชมว่าเป็นเด็กดี น่ารัก รู้จักเชื่อฟังผู้ใหญ่ แต่หากลูกเรามักจะดื้อ ต่อต้าน ไม่เชื่อฟัง นั่นคือผิดวิสัยเด็ก และมีสาเหตุที่เป็นเช่นนั้น
พญ.ดวงรัตน์ วังเกล็ดแก้ว กุมารแพทย์ที่ปรึกษาศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลนวเวช และเจ้าของเพจ หมอปุ๊ก Doctor For Kids ได้เล่าถึงเหตุผลที่ทำให้ลูกดื้อและไม่เชื่อฟัง พร้อมทั้งมีวิธีแก้มาฝากคุณพ่อคุณแม่ด้วย คุณหมอบอกว่าจากประสบการณ์ที่ได้ดูแลเด็กดื้อ ต่อต้านที่พ่อแม่พามาปรึกษา พบว่า 5 สาเหตุสำคัญที่ทำให้ลูกดื้อ และไม่เชื่อฟังพ่อแม่ มีดังนี้
อย่างที่บอกไปข้างต้นว่าโดยทั่วไปเด็กต้องการความรัก ความใส่ใจ คำพูดดีๆ จากจากพ่อแม่ แต่หากเด็กทำตัวดี เชื่อฟัง ว่านอนสอนง่ายมาเรื่อยๆ แล้วพ่อแม่กลับทำเฉย ไม่สนใจ เหมือนมองไม่เห็นการทำดีนั้น พอมาวันหนึ่ง ด้วยเหตุอะไรก็ตาม เด็กบังเอิญได้ทำตัวไม่ดี ดื้อ ไม่เชื่อฟัง อาละวาดโวยวายขึ้นมาสักครั้งสองครั้ง พ่อแม่รีบเข้ามาสนใจ ให้ความสำคัญเห็นเป็นเรื่องใหญ่ และบางทียังได้ของที่อยากได้ (ที่เวลาพูดขอดีๆ กลับไม่ได้) เพื่อเป็นการตัดรำคาญหรือติดสินบนให้หยุดดื้อ หยุดโวยวาย อาละวาด เอาแต่ใจ หากเป็นแบบนี้ เด็กจะเรียนรู้ที่จะทำตัวไม่ดีเวลาอยากได้ความสนใจหรือเวลาอยากได้อะไรจากผู้ใหญ่
วิธีแก้ พ่อแม่ให้ "ความสนใจทางบวก" เวลาลูกทำตัวดี
- ให้เป็นคำชม ยิ้มให้ลูก พยักหน้าแสดงความสนใจ แสดงท่ารับรู้ ลูบศีรษะ กอด ฯลฯ ทำเช่นนี้บ่อยๆ ทุกครั้งที่ลูกทำตัวดี
- การให้ความสนใจทางบวกกับลูกอย่างสม่ำเสมอ เป็นเสมือนการเติมพลังใจ สร้างแรงจูงใจในการทำตัวดีให้กับลูก เป็นการแสดงออกให้ลูกรู้ว่าคุณรับรู้คุณค่าในตัวเขา ตอบสนองความต้องการของลูกที่อยากได้การยอมรับ ความรัก ความสนใจจากพ่อแม่และผู้ใหญ่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นความต้องการพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนต้องการ
ข้อสอง ลูกไม่ได้รับการสอนว่าพฤติกรรมที่ดีคืออะไร
บางบ้านไม่สอนอะไรว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ไม่มีการกำหนดขอบเขตพฤติกรรมที่ควรและไม่ควรทำในครอบครัว
วิธีแก้ สั่งสอนลูก ชี้แนะให้รู้จักขอบเขตที่ชัดเจนของพฤติกรรมที่ทำได้และทำไม่ได้
ตัวอย่างในการสอนลูก เวลาเห็นลูกทำตัวไม่เหมาะสมในเรื่องใดก็ตาม ควรพูดเตือนทันที อย่าปล่อยผ่านไป โดยให้พูดบอก "สั้นๆ ง่ายๆ" ใช้น้ำเสียง สีหน้ากลาง ๆ ไม่ใช้อารมณ์ แต่ท่าทางเอาจริง ลองฝึกพูดกับหน้ากระจกดูก่อนก็ได้ว่าหน้าตาท่าทางเราดูคุกคามลูกเกินไปมั๊ย หรือน้ำเสียงเราอ่อน ขาดความเด็ดขาด ตัองบาลานซ์
- ให้พูดกับลูกสาววัย 4 ขวบ ที่กำลังแย่งของเล่นจากพี่ชายวัย 6 ขวบ ว่า "หนูไม่แย่งของจากมือพี่ หนูขอพี่แล้วรอให้พี่ส่งของให้ค่ะ"
- เมื่อลูกเอาเท้ายกขึ้นมาบนโต๊ะตอนกินอาหาร ให้พูดกับลูกว่า "โต๊ะไว้วางอาหาร ลูกเอาเท้าวางบนพื้นค่ะ"
ข้อสาม ลูกเห็นพฤติกรรมไม่เหมาะสมจากพ่อแม่ และเกิดการเลียนแบบ
วิธีแก้ เตือนตัวเองว่าลูกจำและเรียนรู้จากเรา เราต้องเป็นต้นแบบของพฤติกรรมที่เหมาะสมให้กับลูก
ข้อสี่ ลูกโกรธ เศร้า หรือกังวล
เวลาเด็กมีความรู้สึกลบๆ พวกเขามักจะระบายอารมณ์ออกมาเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ดื้อ ต่อต้าน ก้าวร้าว ทำร้ายคนอื่น ทำลายข้าวของ
วิธีแก้ ก่อนที่จะพูดตำหนิหรือไม่พอใจลูก ให้ลองพิจารณาว่าช่วงนี้ลูกมีอารมณ์และการแสดงออกด้านอื่นที่เปลี่ยนไปจากเดิมด้วยหรือไม่ เช่น เงียบลง ดูหงอยๆ แยกตัว ไม่ร่าเริง กินน้อย นอนยาก ร้องไห้ง่ายกว่าเดิม หงุดหงิดง่าย ขี้โมโหกว่าเดิม ถ้าพ่อแม่สังเกตเห็นอาการเหล่านี้ ให้ลองคุยกับลูกว่ามีเรื่องอะไรไม่สบายใจ ลองถามดูว่าที่โรงเรียนเป็นยังไง ทั้งเรื่องครู เรื่องเพื่อน เรื่องการเรียน ถามไถ่ชีวิตลูก จะได้รู้สาเหตุที่ทำให้ลูกมีอารมณ์และการแสดงออกที่ผิดไปจากเดิม อาจจะช่วยชี้แนะลูกถ้าช่วยได้
ข้อห้า พื้นอารมณ์ของลูก
เด็กบางคนเป็นเด็กที่มีพื้นอารมณ์อ่อนไหว หงุดหงิดง่าย ปรับตัวยาก มีความคิดและอารมณ์ค่อนไปทางลบ เด็กกลุ่มนี้มักจะแสดงท่าทีต่อต้าน ไม่ร่วมมือกับคนอื่นอยู่บ่อยๆ มีความคับข้องใจง่าย จะแสดงพฤติกรรมถดถอย ทำตัวไม่สมวัย
วิธีแก้ พ่อแม่ควรทำความเข้าใจในเรื่องพื้นอารมณ์ของเด็ก และตอบสนองลูกให้เหมาะกับพื้นอารมณ์ของเค้า จะช่วยลดความคับข้องใจของลูกลงไปได้ ช่วยให้ลูกปรับตัวกับสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น
เมื่อคุณพ่อคุณแม่ทราบถึง 5 สาเหตุสำคัญที่ทำให้ลูกมีพฤติกรรมดื้อ ต่อต้าน ไม่เชื่อฟังแล้ว ลองนำไปใช้สังเกตลูกดูว่าเป็นแบบนี้หรือไม่ หากพบว่าใช่ ควรรีบปรับพฤติกรรมตัวเอง เน้นที่ พ่อแม่ปรับพฤติกรรมของตัวเองที่กระทำต่อลูก จะพบว่าลูกร่วมมือกับพ่อแม่มากขึ้น ต่อต้านลดลง ให้ค่อยๆ ปรับตัวเองและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกเพิ่มขึ้นทุกวัน แต่หากลูกยังมีพฤติกรรมดื้อ ต่อต้านเช่นเดิม แนะนำว่าควรปรึกษากุมารแพทย์หรือจิตแพทย์เด็กเพื่อประเมินสภาวะอารมณ์ จิตใจ ความคิด และการปรับตัวของลูก เพื่อได้รับการดูแลช่วยเหลือให้ตรงสาเหตุต่อไป
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคและสุขภาพเด็ก สามารถขอรับคำปรึกษาจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่ศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลนวเวช โทร.02 483 9999 หรือ www.navavej.com