จากกลยุทธ์การบริหารประสิทธิภาพค่าใช้จ่ายทั้งองค์กร รวมทั้งกลยุทธ์การกระจายการลงทุนเพื่อสร้างความสมดุลเชิงธุรกิจ ท่ามกลางผลกระทบเชื้อไวรัสโควิด-19
แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น หรือ AWC ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทยที่มุ่งเน้นตอบสนองไลฟ์สไตล์แบบครบวงจร เปิดผลประกอบการไตรมาส 1/2563 มีกำไรสุทธิ 108.2 ล้านบาท ลดลง 55.6% จาก 243 ล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และมีรายได้รวม 2,512.9 ล้านบาท ลดลง 30.6% จาก 3,623.0 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 (ทั้งนี้หากไม่พิจารณามาตรฐานบัญชีการควบคุมเดียวกัน (Common Control) รายได้รวมไตรมาส 1/2562 จะเป็นจำนวน 3,031.5 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นรายได้ลดลง 17.1%) พร้อมเดินหน้าธุรกิจต่อเนื่องด้วยมาตรการควบคุมและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารค่าใช้จ่าย (Cost Efficiency Initiatives) อย่างเคร่งครัด ทำให้ค่าใช้จ่ายการบริหารส่วนกลางและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานรวมลดลง 37.1% และ 22.1% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ เพื่อการบริหารงานและการใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน ในอนาคต
นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวว่า “ไตรมาส 1/2563 เป็นช่วงเวลาที่ท้าทายของทุกภาคส่วน ด้วยผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ AWC มีกำไรสุทธิ 108.2 ล้านบาท ลดลง 55.6% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ที่มีแนวโน้มลดลงกว่า 80%(1) และมาตรการเข้มงวดจากทางภาครัฐในการปิดสถานประกอบการ ซึ่งรวมถึงโครงการศูนย์การค้า เพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ AWC ต้องประกาศมาตรการปิดให้บริการโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้าต่างๆ ชั่วคราว รวมถึงมาตรการอื่นๆ เพื่อดูแลช่วยเหลือผู้เช่า อย่างไรก็ตาม AWC ยังคงได้รับประโยชน์จากกลยุทธ์การลงทุน ที่หลากหลายและสมดุลเชิงธุรกิจ (Balanced and Diversified Portfolio) ที่ช่วยกระจายความเสี่ยง ซึ่งเห็นได้ชัดจากธุรกิจอาคารสำนักงาน (Office) ที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนกำไรจากการดำเนินงานของสินทรัพย์ดำเนินงาน(2) โดยในไตรมาส 1/2563 AWC ยังคงมีกำไรจากการดำเนินงานของสินทรัพย์ดำเนินงาน(2) อยู่ที่ 1,184.9 ล้านบาท ซึ่งแบ่งสัดส่วนเป็นธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality) 38.8% ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการประกอบกิจการการค้า (Retail) 21.8% และธุรกิจอาคารสำนักงาน (Office) 39.4%”
“นอกจากนี้ AWC ได้ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารค่าใช้จ่ายอย่างเคร่งครัด (Cost Efficiency Initiatives) ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 ทำให้ค่าใช้จ่ายการบริหารส่วนกลางในช่วงไตรมาส 1/2563 เท่ากับ 127.0 ล้านบาท ลดลง 37.1% จาก 202.0 ล้านบาท ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานรวมในช่วงไตรมาส 1/2563 เท่ากับ 1,364.0 ล้านบาท ลดลง 22.1% จาก 1,572.1 ล้านบาท ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ AWC มีอัตราส่วนอีบิทดาต่อรายได้ (EBITDA Margin) เท่ากับ 38.8% ลดลงเพียง 0.7% จากไตรมาสแรกของปีก่อนหน้า แม้จะมีรายได้ลดลงจากเหตุผลข้างต้น และมีอัตรากำไรสุทธิ 4.3% เทียบกับไตรมาสแรกของปีที่ก่อนที่มีอัตรากำไรสุทธิ 6.7%” นางวัลลภา กล่าวเสริม
สำหรับผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ในไตรมาส 1/2563 กลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality) มีรายได้จากสินทรัพย์ดำเนินงาน(2) อยู่ที่ 1,534.6 ล้านบาท ลดลง 36.2% จาก 2,404.0 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศปรับตัวลดลงตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม รวมทั้งการจัดประชุมสัมมนาและจัดแสดงสินค้าต่างๆ หยุดชะงักตามนโยบายของรัฐบาล
กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ (Retail & Commercial) มีรายได้จากสินทรัพย์ดำเนินงาน(2) อยู่ที่ 1,014.3 ล้านบาท ซึ่งลดลง 10.9% จาก 1,138.5 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากมาตรการลดหรือยกเว้นค่าเช่าชั่วคราว เพื่อช่วยเหลือดูแลผู้เช่าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการเข้มงวดจากทางภาครัฐในการปิดสถานประกอบการต่างๆ เพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดย AWC มีนโยบายที่ต้องการให้พันธมิตรผู้เช่าสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในภาวะ ที่ยากลำบาก และเป็นพันธมิตรต่อเนื่องร่วมกันไปในระยะยาว อย่างไรก็ตามกลุ่มอาคารสำนักงานยังคง สร้างกระแสเงินสดที่มั่นคงและต่อเนื่อง และช่วยรักษาระดับรายได้รวมของกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อการพาณิชย์ สะท้อนให้เห็นถึงประโยชน์จากกลยุทธ์หลักของ AWC ที่มุ่งเน้นการลงทุนที่หลากหลายและสมดุลเชิงธุรกิจ (Balanced and Diversified Portfolio) ได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ AWC ได้เข้าซื้อสินทรัพย์กลุ่ม 3 ณ วันที่ 1 มกราคม 2563 ด้วยมูลค่าลงทุนรวม 25,785.6 ล้านบาท(3) ประกอบด้วยโครงการอสังสหาริมทรัพย์จำนวน 12 โครงการ ตามสัญญาซื้อขายหุ้นสินทรัพย์กลุ่ม 3 ปี 2562 ที่เพิ่มจำนวนห้องพักในโรงแรมที่เปิดดำเนินการแล้วรวม 989 ห้องในทันที และจะเพิ่มห้องพักอีกมากกว่า 2,500 ห้องจากโครงการที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงหรือพัฒนา พร้อมทั้งศักยภาพในการพัฒนาโครงการค้าปลีกในอนาคต ทำให้ AWC มีสินทรัพย์รวม ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 มูลค่า 124,921.4 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 14.4% จาก 109,158.0 ล้านบาท เมื่อเทียบกับมูลค่าสินทรัพย์รวม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562
“ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่มีความแน่นอน AWC จะยังคงดำเนินมาตรการควบคุมและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวด ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงาน และเพิ่มประสิทธิผลให้สอดคล้องไปกับแผนกลยุทธ์หลักทางธุรกิจขององค์กร รวมทั้งการพัฒนากลยุทธ์การตลาดให้ตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับบริษัท พนักงาน นักลงทุน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง สู่เป้าหมายการเป็นกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ก้าวหน้าและเติบโตต่อเนื่องอย่างยั่งยืน และผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 นี้ไปด้วยกันได้อย่างดีที่สุด” นางวัลลภากล่าว
คลิกที่รูปเพื่อดูภาพขยาย
หมายเหตุ:
(1) อ้างอิงข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยงต่างชาติที่มาเยือนประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
(2) พอร์ททรัพย์สินทรัพย์ดำเนินงาน หมายถึง พอร์ททรัพย์สินที่ดำเนินงานและไม่รวม โรงแรมอิมพีเรียล แม่ปิง และโรงแรมอิมพีเรียล หัวหิน ที่หยุดดำเนินงานเพื่อปรับปรุงโรงแรม ช่วงกลางปี 2562 รวมถึงรายได้จากค่าบริหาร และดอกเบี้ยรับจากบริษัทกลุ่มทีซีซี
(3) AWC ได้เข้าซื้อสินทรัพย์กลุ่ม 3 ณ วันที่ 1 มกราคม 2563 ด้วยมูลค่าลงทุนรวม 26,229.5 ล้านบาท โดยภายหลังมีการปรับปรุงราคาทรัพย์สินกลุ่ม 3 เป็น 25,785.6 ล้านบาท ตามงบการเงินที่ได้รับตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต