- FPT รายงานผลประกอบการไตรมาส 2 ของปีงบประมาณ 2563 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 5,090 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 10.43 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยรายได้ประจำเติบโตร้อยละ 1.85 และกำไรจากการรับรู้รายการพิเศษการขายที่ดินและหน่วยทรัสต์ FTREIT กว่า 414 ล้านบาท ส่งผลให้ผลประกอบการโดยรวมปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น
- อสังหาริมทรัพย์อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรมได้รับผลกระทบในวงจำกัด จากรายได้ค่าเช่าสม่ำเสมอและสัญญาเช่าระยะยาว
- ฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของ FPT พร้อมด้วยปริมาณเงินสดจำนวนมาก และ พอร์ตการลงทุนที่สมดุล ครอบคลุมกลุ่มสินทรัพย์หลายประเภทที่สามารถสร้างกระแสเงินสดอย่างต่อเนื่อง
บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ “FPT” ผู้นำการให้บริการแพลตฟอร์มด้านอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรของประเทศไทย แถลงผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 ปีงบประมาณ 2563 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2563
นายโสภณ ราชรักษา ผู้อำนวยการใหญ่ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย เปิดเผยว่า “ผลประกอบการไตรมาส 2 ของปีงบประมาณ 2563 บริษัทฯมีรายได้รวม 5,090 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.43 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่ลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 7.60 หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาและเศรษฐกิจในประเทศ อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงสามารถสร้างผลการดำเนินงานที่ดีในไตรมาสนี้ โดยมีกำไรสุทธิรวมสูงถึง 851 ล้านบาท เติบโตกว่าร้อยละ 9.42 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จากรายการบันทึกกำไรขายที่ดินและเงินลงทุนมูลค่า 414 ล้านบาท ควบคู่กับการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหารลงได้ร้อยละ 6.75”
ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท FPT เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีมติอนุมัติให้ออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ตามสัดส่วนการถือหุ้น (Right Offering) จำนวนทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละ 15 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว ที่ราคาต่อหุ้น 10.60 บาท โดยนายโสภณชี้แจงว่า “บริษัทวางแผนนำเงินเพิ่มทุนที่ได้รับไปใช้ในการลงทุนโครงการต่าง ๆ และเสริมความพร้อมสำหรับโอกาสการลงทุนต่อไป” สำหรับระยะเวลาการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนกำหนดไว้ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2563
กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อุตสาหกรรม รายงานผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2 ปีงบประมาณ 2563 มีรายได้จำนวน 443 ล้านบาท ทรงตัวเมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานไตรมาสก่อนหน้า และช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้ว โดยมีการรับรู้รายได้จากการขายหน่วยทรัสต์ FTREIT และการขายที่ดินในพื้นที่อีอีซีให้กับกลุ่มไมเดีย ซึ่งเป็นบริษัทผลิตและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าสัญชาติจีนชั้นนำระดับโลก ทั้งนี้บริษัทฯ มียอดพื้นที่เช่าใหม่สะสม 52,000 ตารางเมตร ณ เดือนมีนาคม 2563 ชะลอตัวจากสัญญาเช่าระยะสั้นที่หมดอายุ และข้อจำกัดการทำการตลาดภายใต้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างไรก็ตาม บริษัทฯประเมินผลกระทบต่อลูกค้าหลัก ซึ่งเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิคส์คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32 ของผู้เช่ายังอยู่ในวงจำกัด สำหรับภาพรวมไตรมาสนี้ FPT สามารถรักษาอัตราพื้นที่เช่าได้ที่ร้อยละ 80 โดยพื้นที่โรงงานมีอัตราเช่าเพิ่มสูงถึงร้อยละ 76 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี โดยเพิ่มจากอัตราเช่าร้อยละ 73 ของช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้ว ทั้งนี้ กลุ่มลูกค้าในอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิคส์อัจฉริยะ ยาและเวชภัณฑ์ พลาสติก โลหะและเครื่องจักร ยังมีความต้องการเช่าพื้นที่เพื่อการอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง
กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย บันทึกรายได้ในไตรมาสที่ 2 ปีงบประมาณ 2563 จำนวน 3,557 ล้านบาท ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา แต่ลดลงในอัตราร้อยละ 19.08 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ตามสภาวะการชะลอตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย ซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV และมาตรการล็อคดาวน์จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า โดยโกลเด้นแลนด์มียอดพรีเซลล์โครงการมูลค่า 7,398 ล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2563 จากโครงการที่ดำเนินงานอยู่ทั้งสิ้น 61 โครงการ และมีแบ็คล็อครอการโอน 2,875 ล้านบาท ทั้งนี้ โกลเด้นแลนด์ได้ชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ ซึ่งบริษัทฯ คาดว่าจะเดินหน้ากิจกรรมด้านการขายและการตลาดภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย
กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ มีรายได้เติบโตอยู่ที่ 248 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.08 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า จากการเพิ่มอัตราค่าเช่าอาคารสำนักงานเกรด A ของสินทรัพย์ศักยภาพทำเลใจกลางเมือง ทั้งนี้ สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลต่อกลุ่มธุรกิจพื้นที่เช่ารีเทลในอาคารสามย่านมิตรทาวน์ ซึ่งมีจำนวนคนเดินห้างลดลงตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 กระทั่งภาครัฐได้ออกมาตรการยกระดับการป้องกันโรคระบาด อันนำไปสู่การปิดให้บริการศูนย์การค้าในเดือนเมษายน 2563 เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โกลเด้นแลนด์ได้ดำเนินการมอบความช่วยเหลือให้แก่ผู้เช่าของศูนย์การค้าภายใต้โครงการ “มิตรช่วยมิตร” ด้วยการยกเว้นและลดค่าเช่าของร้านค้าที่ถูกปิดภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สำหรับธุรกิจโรงแรมนั้น รายได้ลดลงอยู่ที่ 113 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 21.74 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และลดลงร้อยละ 26.32 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า จากผลกระทบมาตรการห้ามเดินทางของภาครัฐ
"บริษัทฯ ยังคงเฝ้าระวังและติดตามผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างใกล้ชิด พร้อมกันนี้ เราได้เตรียมพร้อมมาตรการด้านความปลอดภัยสำหรับลูกค้าและพนักงานของเรา อาทิ การคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิผู้เข้าใช้อาคารสถานที่ทุกโครงการ การพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคอย่างต่อเนื่อง และการให้บริการแอลกอฮอล์เจลฆ่าเชื้อตามบริเวณต่างๆ ตลอดจนการประกาศใช้นโยบายทำงานจากที่บ้าน ทั้งนี้ บริษัทฯ มั่นใจที่จะสามารถก้าวผ่านอุปสรรคที่เผชิญอยู่ พร้อมขยายศักยภาพเพื่อเปิดรับโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจ ผ่านแพลตฟอร์มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรที่ครอบคลุมสินทรัพย์หลากหลายประเภท” นายโสภณกล่าวสรุป