วัตสัน ประเทศไทย เผยผลสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของผู้บริโภคไทย ชี้! คนไทยใส่ใจสุขภาพต่ำกว่าค่าเฉลี่ยสากล เกินครึ่งออกกำลังกายน้อย หาความรู้เรื่องสุขภาพจาก ‘อินเทอร์เน็ต’ และ ‘โซเชียลมีเดีย’ สูงเป็นอันดับแรกของโลก สนใจเรื่อง ‘ลดน้ำหนัก/ควบคุมน้ำหนัก’ มากที่สุด
วัตสัน ประเทศไทย ผู้นำร้านเพื่อสุขภาพและความงามอันดับหนึ่งของประเทศไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรรมสุขภาพของผู้บริโภคไทย เพื่อสร้างความตระหนักในการดูสุขภาพของประชาชน เนื่องในวันอนามัยโลก 2560 (World Health Day 2017) ซึ่งตรงกับวันที่ 7 เมษายน ของทุกปี
ผลสำรวจนี้จัดทำขึ้นเพื่อศึกษา “แนวโน้มสุขภาพในประเทศไทย 2560” หรือ “Thailand Health & Well Being Trend 2017” โดยพบว่า มีเพียงร้อยละ 37 ของผู้ตอบแบบสอบถาม ที่ประเมินว่าตนเองมีความรู้ดีเกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 51 และมีมากถึงร้อย 98 ที่ทราบดีว่าการออกกำลังกายเป็นประจำทำให้มีสุขภาพดี แต่มีเพียงร้อยละ 48 เท่านั้นที่สามารถปฏิบัติได้จริง นอกจากนี้ร้อยละ 74 ของผู้ตอบแบบสอบถาม พิจารณาการรับประทานวิตามินเสริมเพื่อช่วยให้สุขภาพดี
ในด้านการหาข้อมูล พบว่า ‘อินเตอร์เน็ต’ และ ‘โซเชียลมีเดีย’ เป็นแหล่งข้อมูลหลักด้านสุขภาพและ สุขภาวะของคนไทย ซึ่งสูงที่สุดในโลก โดยค้นหาจากอินเตอร์เน็ต มากถึงร้อยละ 91 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่อยู่ที่ร้อยละ 63 ขณะที่โซเชียลมีเดียร้อยละ 58 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ร้อยละ 32
นิยามหลักของการมีสุขภาพดีของผู้ตอบแบบสอบถาม คือ ‘แข็งแรง/ได้สัดส่วน’, ‘ไม่เจ็บป่วย’ และ ‘มีอารมณ์ดี’ ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นคือคนไทย ประเมินให้การ ‘มีอารมณ์ดี’ คือนิยามหลักของสุขภาพที่ดี ร้อยละ 35 ซึ่งมากมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก ร้อยละ 23
หัวข้อด้านสุขภาพที่คนไทยสนใจและให้ความสำคัญเป็น 3 อันดับแรก ได้แก่ การลดน้ำหนัก/การควบคุมน้ำหนัก (ร้อยละ 49) อาหารเพื่อสุขภาพ (ร้อยละ 42) ปัญหาด้านผิวหนัง (ร้อยละ 40 ซึ่งเป็นคะแนนประเมินสูงที่สุดในโลก)
ผลิตภัณฑ์ที่คนไทยให้ความสำคัญ เพื่อสุขภาพที่ดี 3 อันดับแรก ได้แก่ วิตามิน (ร้อยละ 74) อาหารเสริมโปรตีน (ร้อยละ 27) และผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหาร (ร้อยละ 14)
นางสาวนวลพรรณ ชัยนาม ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด วัตสัน ประเทศไทย ให้ความคิดเห็นว่า “ผลสำรวจนี้ชี้ให้เห็นว่าคนไทยมีความเข้าใจการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ทั้งร่างกายและจิตใจ แม้จะยังไม่สามารถปฏิบัติได้อย่างจริงจัง เนื่องด้วยปัจจัยส่วนบุคคลต่างๆ แต่ก็นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่จะผลักดันส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะของคนไทยให้ดียิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต”
“สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องของการค้นคว้าข้อมูลสุขภาพจากโลกออนไลน์ ซึ่งต้องให้แน่ใจว่าเป็นข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เพราะบ่อยครั้งที่สื่อออนไลน์ถูกใช้เพื่อโน้มน้าวใจมากจนอาจบิดเบือนข้อเท็จจริงและทำให้เกิดความเข้าใจผิด การปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร เป็นทางออกที่ดีที่สุด เมื่อมีปัญหาสุขภาพ”
การสำรวจครั้งนี้จัดทำในช่วง 3 เดือน ระหว่าง พฤศจิกายน 2559 ถึง มกราคม 2560 ที่ผ่านมา พร้อมกัน 11 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ ยูเครน อังกฤษ เนเธอแลนด์ และฝรั่งเศส ในกลุ่มตัวอย่างอายุระหว่าง 15 – 60 ปี จำนวนทั้งหมด 10,589 คน โดยรวบรวมข้อมูลจากการประเมินด้วยตนเองทางออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์มสำหรับการสำรวจ WISE :ซึ่งย่อมาจาก Watsons Insights on Shoppers Experience หรือ ข้อมูลเชิงลึกของวัตสันเรื่องประสบการณ์ของผู้ซื้อสินค้า ซึ่งเป็นแผนกวิจัยของ A.S. Watsons Group ผู้นำร้านเพื่อนสุขภาพและความงามระดับสากลที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยการพูดคุยอย่างสม่ำเสมอกับคณะบุคคลที่ประกอบด้วยผู้บริโภคกว่า 110 ล้านคนใน 25 ประเทศ ทั้งในเอเชียและยุโรป มุ่งเน้นการพัฒนาข้อมูลเชิงลึกของลูกค้าเรื่องความงาม การดูแลตนเอง สุขภาพและสุขภาวะ เพื่อช่วยให้เข้าใจและตอบสนองลูกค้าในปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น