วันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2559

‘บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์’ ผู้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะรายใหญ่ที่สุดในไทย พร้อมขายหุ้น IPO ไม่เกิน 2,500 ล้านหุ้น ก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปีนี้ รับขยายโรงไฟฟ้าอีก 3 โรง ดันกำลังการผลิตติดตั้งเพิ่มเป็น 440 MW




บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง รวมถึงธุรกิจสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ (NGV) 

ชูแนวทาง “ขยะเป็นศูนย์” หรือ Zero Waste แปรสภาพขยะเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด หนุนธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) พร้อมเดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายในปีนี้ หลังสำนักงาน ก.ล.ต. นับหนึ่งแบบคำขออนุญาตขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) เพื่อขออนุญาตเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนเป็นการทั่วไป (IPO) จำนวนไม่เกิน 2,500 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท หวังระดมทุนรองรับการขยายโรงไฟฟ้าอีก 3 โรง เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งเป็น 440 MW จากปัจจุบัน 150 MW

นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานกรรมการ เปิดเผยว่า บริษัทฯ เป็นบริษัทในเครือของบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) มีความมุ่งมั่นในการดำเนินงานตามแนวทาง “ขยะเป็นศูนย์” หรือ Zero Waste เพื่อเป็นผู้นำในธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าโดยใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและมีประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตไฟฟ้า ช่วยลดสภาวะเรือนกระจก และควบคุมการเกิดไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) รวมถึงการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม 

ปัจจุบัน บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจหลัก 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกคือ ธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค ได้แก่ ธุรกิจโรงไฟฟ้า ที่มุ่งเน้นโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้งจากกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ของบมจ. ทีพีไอ โพลีน ซึ่ง ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2559 บริษัทฯ มีโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วจำนวน 4 โรง มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 150 MW ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ 2 โรง มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 80 MW แบ่งเป็นโรงละ 20 MW และ 60 MW ซึ่งถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะที่ใหญ่ ที่สุดในประเทศไทยตามข้อมูลของ AWR Lloyd โดยมี กฟผ. เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจำนวน 73 MW และได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ที่ 3.50 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 7 ปีนับจากวันที่เริ่มซื้อขายไฟฟ้า และมีโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง อีก 2 โรง มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 70 MW แบ่งเป็นโรงไฟฟ้ากำลังการผลิต 40 MW และ 30 MW โดยมี บมจ.ทีพีไอ โพลีน เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้า 

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีสถานประกอบการผลิตเชื้อเพลิง RDF ที่นำขยะชุมชนและขยะจากหลุมฝังกลบในพื้นที่ต่างๆ มาผ่านกระบวนการคัดแยกและแปรรูปให้เป็นเชื้อเพลิง RDF เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันมีความสามารถในการรับขยะชุมชนเข้าสู่กระบวนการผลิตได้ 4,000 ตันต่อวัน สามารถนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิง RDF ได้ 2,000 ตันต่อวัน

“เรามีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นผู้นำในธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า โดยใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและมีประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตไฟฟ้า ซึ่งเกิดจากการนำขยะชุมชนและขยะจากหลุมฝังกลบ มาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง RDF ที่มีค่าความร้อนสูง เพื่อนำไปใช้ในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยเรามีจุดยืนในการทำธุรกิจด้วยแนวคิด Clean Energy, Clean Up Country ที่จะช่วยลดปริมาณขยะในประเทศที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในแต่ละวันและยังสามารถช่วยลดภาวะเรือนกระจกที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย” นายประชัย กล่าว 

ส่วนธุรกิจหลักกลุ่มที่สองคือ ธุรกิจสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ (NGV) ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด รวม 12 แห่ง ประกอบด้วย สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง 8 แห่ง สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ (NGV) 3 แห่ง และสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ (NGV) อีก 1 แห่ง ภายใต้เครื่องหมายการค้า ‘ทีพีไอพีแอล’ (TPIPL) นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีรายได้จากการขายอินทรียวัตถุที่เหลือใช้จากสถานประกอบการผลิตเชื้อเพลิง RDF ให้แก่บริษัท ทีพีไอ โพลีน ชีวะอินทรีย์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยชีวภาพ โปรไบโอติกส์เพื่อการเลี้ยงสัตว์ และการกำจัดสิ่งปฏิกูลในน้ำอีกด้วย 

ด้านนายภากร เลี่ยวไพรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่าบริษัทฯ ถือเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะในประเทศไทย จึงมีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้พัฒนาเทคโนโลยีการคัดแยกและแปรรูปขยะขึ้นเอง สามารถแปรรูปขยะในประเทศไทยที่มีความชื้นสูงเป็นเชื้อเพลิง RDF ที่ให้ค่าความร้อนขั้นต่ำเฉลี่ย 3,500 กิโลแคลอรี่ต่อกิโลกรัม มากกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่ 1,700-1,800 กิโลแคลอรี่ต่อกิโลกรัม ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง RDF 

ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ อาทิ ผู้จัดการขยะชุมชน บริษัทจัดการขยะ จึงช่วยสร้างความมั่นคงในการจัดหาขยะ ตลอดจนได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ. โดยสามารถต่ออายุสัญญาอัตโนมัติได้อีกครั้งละ 5 ปี นับจากวันที่สิ้นสุดสัญญา จึงช่วยสร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้แก่บริษัทฯ 

นายภากรยังกล่าวอีกว่า จากความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บริษัทฯ จึงอยู่ระหว่างขยายการลงทุนในโรงไฟฟ้าอีก 3 โรง อันจะทำให้กำลังการผลิตติดตั้งเพิ่มขึ้นอีก 290 MW ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะขนาด 70 MW โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินและพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะขนาด 70 MW และโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินขนาด 150 MW คาดว่าจะทยอยแล้วเสร็จภายในปี 2560 ซึ่งเมื่อรวมกับโรงไฟฟ้าในปัจจุบัน จะมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้นเป็น 440 MW 

ทั้งนี้ หลังจากที่โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะขนาด 70 MW ติดตั้งแล้วเสร็จและดำเนินการเชิงพาณิชย์ ซึ่งคาดว่าอยู่ในช่วงไตรมาสแรก ปี 2560 บริษัทฯ มีแผนนำโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้งขนาด 30 MW ที่มีอยู่เดิมมารวมกัน เพื่อดำเนินการเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะขนาด 100 MW ที่จะรองรับการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ในอนาคต ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินและพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ และโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินนั้น จะจำหน่ายไฟฟ้าให้กับ บมจ.ทีพีไอ โพลีน 

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ลงทุนขยายสถานประกอบการผลิตเชื้อเพลิง RDF เพื่อรองรับการขยายธุรกิจโรงไฟฟ้า โดยจะขยายกำลังการผลิตให้สามารถรับขยะชุมชนเข้าสู่กระบวนการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 6,000 ตันต่อวัน จากเดิม 4,000 ตันต่อวัน และสามารถนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิง RDF ได้เพิ่มขึ้นเป็น 3,000 ตันต่อวัน จากเดิม 2,000 ตันต่อวัน ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ เป็นผู้ผลิตเชื้อเพลิง RDF ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยตามข้อมูลของ AWR Lloyd

ด้านผู้บริหารธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า หลังจากที่ บมจ. ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) และแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก ล่าสุด สำนักงาน ก.ล.ต. ได้นับ 1 แบบคำขอเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

ปัจจุบัน บมจ. ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ มีทุนจดทะเบียนจำนวน 8,400 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 8,400 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท โดยทุนที่ออกจำหน่ายและชำระแล้วมีจำนวน 5,900 ล้านบาท และจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 2,500 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 29.8 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน โดยการจำหน่ายหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้จะจัดสรรให้แก่ 1. ประชาชนทั่วไปเฉพาะกลุ่มซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเดิมของ บมจ. ทีพีไอ โพลีน ที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้น จำนวนไม่เกิน 125 ล้านหุ้น และ 2. ประชาชนทั่วไป จำนวนไม่เกิน 2,375 ล้านหุ้นและหุ้นในส่วนที่เหลือจากการเสนอขายตามข้อ 1. 

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่สำนักงาน ก.ล.ต. ได้อนุมัติแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) และแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว บริษัทฯ และที่ปรึกษาทางการเงินจะร่วมกันกำหนดวันและเวลาที่เหมาะสมกับ บมจ. ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ภายในปีนี้ โดยมีแผนนำเงินที่ได้จากการขายหุ้น IPO ในครั้งนี้ไปชำระหนี้คงค้างของบริษัทฯ ส่วนที่เหลือจะใช้ลงทุนในโครงการต่างๆ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานและเพื่อวัตถุประสงค์ทั่วไปอื่นๆ ของบริษัทฯ