วันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ยูนิเวอร์ซอล โรบอตส์ เผยตลาดหุ่นยนต์ทำงานร่วมกับมนุษย์โตไม่หยุด เชื่อครองแชมป์ตลาดโลก




สมาพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ หรือ ไอเอฟอาร์ (International Federation of Robotics (IFR) เผยแพร่รายงานสถานการณ์ตลาดผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์โลกประจำปี 2559 โดยคาดการณ์ว่า หุ่นยนต์ที่สามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ (collaborative robots หรือ cobots) ซึ่งมีขนาดเล็กกะทัดรัดและใช้งานง่าย จะกลายเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญในตลาดออโตเมชั่น รายงานระบุว่า ยอดขายหุ่นยนต์เพื่องานอุตสาหกรรมทั่วโลกต่อปี จะเติบโตอย่างน้อยเฉลี่ย 13 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ปี 2560 ถึง 2562 โดยหุ่นยนต์ประเภทที่ทำงานร่วมกับมนุษย์จะเป็นดาวเด่นเพราะสามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ได้อย่างปลอดภัย ราบรื่น ปราศจากข้อจำกัดและยังช่วยเพิ่มกำลังการผลิตและคุณภาพของผลิตภัณฑ์อีกด้วย

นายแดเนียล ฟริส ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพาณิชย์ของยูนิเวอร์ซอล โรบอตส์ กล่าวว่า “ในฐานะผู้นำตลาดผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์ที่ทำงานร่วมกับมนุษย์ ยูนิเวอร์ซอล โรบอตส์ เห็นด้วยอย่างยิ่งกับข้อมูลในรายงานดังกล่าว เนื่องจากบริษัทมีเป้าหมายที่จะพัฒนาหุ่นยนต์ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการขจัดความยุ่งยากซับซ้อนในอดีตเมื่อต้องใช้งานหุ่นยนต์หรือการพัฒนาหุ่นยนต์ให้มีราคาถูกลง”

“ปัจจุบัน หุ่นยนต์ทำงานร่วมกับมนุษย์ ของยูนิเวอร์ซอล โรบอตส์ ถูกนำไปใช้งานทั่วโลกแล้วกว่า 10,000 ตัว ซึ่งแสดงให้เห็นศักยภาพการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของหุ่นยนต์ประเภทนี้ที่กำลังเข้ามาพลิกโฉมเทคโนโลยีด้านออโตเมชั่น เราช่วยให้องค์กรขนาดเล็กและกลางเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันระดับโลกได้เนื่องจากหุ่นยนต์ของเรามีระยะเวลาการคืนทุนเร็วที่สุดในอุตสาหกรรม”

“สมาพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ (ไอเอฟอาร์) คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมที่จะนำหุ่นยนต์ที่สามารถทำงานร่วมกับมนุษย์มาใช้งานเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล ซึ่งล้วนเป็นภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญของภูมิภาคเอชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นตลาดเป้าหมายสำคัญของยูนิเวอร์ซอล โรบอตส์”

นายฟริส กล่าวว่า “ปัจจุบัน หุ่นยนต์ของเราถูกนำไปใช้งานในสายการผลิตยานยนต์เพิ่มมากขึ้น โดยทำงานควบคู่กับพนักงานในโรงงาน และช่วยผ่อนแรงในสายงานหยิบจับสิ่งของซ้ำๆ ที่ก่อให้เกิดความเมื่อยล้าและก่อปัญหากับสรีระ เรามีตัวอย่างกรณีศึกษาว่าหุ่นยนต์ที่ทำงานร่วมกับมนุษย์สามารถเพิ่มความรวดเร็วในกระบวนการฉีดขึ้นรูปถึง 4 เท่า ได้อย่างไร และหุ่นยนต์แขนกลตั้งโต๊ะรุ่น UR3 สามารถใช้ในการประกอบชิ้นส่วนเล็กๆ ที่มีน้ำหนักเบา อาทิ การหยิบจับแผงวงจร ได้อย่างไร”

สมาพันธ์ ไอเอฟอาร์ ยังคาดการณ์ว่า ตลาดหุ่นยนต์จะเติบโตต่อเนื่องในภูมิภาคเอเชีย โดยรายงานล่าสุดระบุว่า ปริมาณซัพพลายของหุ่นยนต์เติบโตขึ้นถึง 18 เปอร์เซ็นต์ ในปีนี้ ในขณะที่ มีการคาดการณ์ว่า การติดตั้งหุ่นยนต์จะเพิ่มขึ้น 15 เปอร์เซ็นต์ โดยประเทศจีนจะเป็นตลาดหลักที่ผลักดันให้ตลาดหุ่นยนต์ของโลกเติบโต และคาดว่า จะมีปริมาณการติดตั้งหุ่นยนต์เพื่อใช้งานในประเทศจีนเป็นสัดส่วนถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2562

“เอเชียเป็นตลาดสำคัญของเรา เราเปิดบริษัทสาขาที่เซี่ยงไฮ้เมื่อปี 2556 และแต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายในภูมิภาคต่างๆ ที่ลูกค้าใช้งานหุ่นยนต์ของเราอยู่ เพื่อเพิ่มคุณภาพของผลิตภัณฑ์และทดแทนการใช้แรงงานคนในการทำงานที่ต้องทำซ้ำๆ ซึ่งเป็นปัญหาด้านแรงงานประเภทหนึ่งที่หลายๆโรงงานประสบอยู่”

นายฟริส ยังกล่าวว่า ความต้องการสินค้าประเภทอุปโภคบริโภคทั่วโลกผลักดันให้โรงงานอุตสาหกรรมต้องผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรมและมีคุณภาพสูงให้ได้อย่างรวดเร็ว สม่ำเสมอและยั่งยืน

“เมื่อไม่นานมานี้ ยูนิเวอร์ซอล โรบอตส์ ได้เปิดตัวโชว์รูมออนไลน์เพื่อนำเสนออุปกรณ์ที่ใช้ต่อเข้ากับข้อมือหุ่นยนต์สำหรับงานประเภทต่างๆ รวมทั้ง ซอฟต์แวร์ อุปกรณ์ต่อพ่วงและอุปกรณ์เสริมจากกลุ่มนักพัฒนาจากภายนอกซึ่งพัฒนาอุปกรณ์ให้เข้ากับระบบนิเวศของยูนิเวอร์ซอล โรบอตส์ และทำงานเข้ากันได้อย่างดีเยี่ยมกับหุ่นยนต์ของเรา เพื่อตอบสนองดีมานด์ที่สูงขึ้นในโซลูชั่นหุ่นยนต์ทำงานร่วมกับมนุษย์ โชว์รูมออนไลน์นี้ช่วยให้ นักวางระบบ ผู้แทนจำหน่ายและลูกค้าของบริษัทมีความเข้าใจในการทำงานของหุ่นยนต์เป็นอย่างดีและมีความพร้อมในการใช้งานหุ่นยนต์ได้ทันทีที่ติดตั้งหุ่นยนต์ตัวต่อไปแล้วเสร็จ”นายฟริส กล่าว

นอกจากนี้ ศูนย์การเรียนรู้ของยูนิเวอร์ซอล โรบอตส์ (UR Academy) แห่งใหม่ ยังช่วยส่งเสริมตลาดของ ยูนิเวอร์ซอล โรบอตส์ โดยศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าวเปิดสอนผ่านระบบอี-เลิร์นนิ่งเกี่ยวกับโปรแกรมพื้นฐานของหุ่นยนต์ ได้แก่ การต่ออุปกรณ์เข้ากับข้อมือหุ่นยนต์ การเชื่อมต่อระบบ I/Os เพื่อสื่อสารกับอุปกรณ์ภายนอกและการติดตั้งโซนเพื่อความปลอดภัย ซึ่งบริษัทฯ คาดหวังว่าการริเริ่มศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนยุค อินดัสตรี 4.0

นายฟริส กล่าวว่า “โมดูลการสอนที่ให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติจริงและเป็นการเรียนแบบอินเตอร์แอคทีฟ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายและผู้เรียนไม่จำเป็นต้องมีไลเซนส์เพื่อสมัครเรียนนั้น นับเป็นประวัติการณ์ใหม่ ศูนย์การเรียนรู้ของเราเป็นเครื่องมือที่สำคัญซึ่งช่วยให้เราส่งผ่านความรู้เพื่อให้ตลาดได้รับรู้ว่าเทคโนโลยีสามารถรองรับความท้าทายทางธุรกิจได้อย่างไร ในขณะที่ภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้กำลังจะกลายเป็นศูนย์กลางด้านการผลิตของโลก ดังนั้นการให้ความรู้กับผู้ใช้งานหุ่นยนต์และโปรแกรมเมอร์เสียแต่ตอนนี้จะช่วยเชื่อมโยงช่องว่างต่างๆ และถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง”