วันอังคารที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2568

รับมือ PM 2.5 อย่างมีประสิทธิภาพ: เคล็ดลับเพื่อความปลอดภัยในบ้าน อาคารสำนักงาน และอาคารพาณิชย์




ตั้งแต่ต้นปี 2568 ปัญหาฝุ่น PM 2.5 มีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่กรุงเทพฯ และหลายจังหวัด โดยเฉพาะช่วงตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าฝุ่น PM 2.5 ในหลายพื้นที่ทะลุเกณฑ์มาตรฐานสู่ระดับ “สีส้ม” ซึ่งเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขเผยว่า ประชากรถึง 38 ล้านคน กำลังอาศัยในพื้นที่ที่มีค่า PM 2.5 เกินมาตรฐาน (37.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) โดยในจำนวนนี้มีถึง 15 ล้านคน ที่เป็นกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และเด็กเล็ก ซึ่งได้รับผลกระทบจนค่าเฉลี่ยอายุขัยของคนไทยลดลงถึง 1.78 ปี

เพื่อรับมือกับฝุ่น PM 2.5 อย่างมีประสิทธิภาพ พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ในฐานะผู้บริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร ขอแนะนำแนวทางป้องกันและดูแลพื้นที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน และอาคารพาณิชย์ เพื่อช่วยลดผลกระทบจาก PM 2.5 และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้อยู่อาศัยและผู้ใช้งานดังต่อไปนี้

แนวทางดูแลที่อยู่อาศัย

1. ทำความสะอาดบริเวณพื้นที่ส่วนกลางที่อาจมีฝุ่นละอองเข้าถึงได้ง่าย โดยทำการปิดช่องลม หน้าต่างที่ไม่มีความจำเป็น ทำความสะอาดเน้นจุดเฉพาะที่สะสมฝุ่น เช่น พรมเช็ดเท้าและพรมปูพื้น ทำความสะอาดเป็นประจำสม่ำเสมอ และพ่นละอองน้ำสู่อากาศ ฉีดล้างถนนส่วนกลาง และรดน้ำต้นไม้บริเวณโครงการ

2. ปรับปรุงภูมิทัศน์โดยมีการเลือกต้นไม้ที่มีลักษณะใบคล้ายใบสน เพื่อลดการสะสมฝุ่น ดูแลพื้นที่สวนปลูกหญ้าคลุมพื้นดินแทนการเทปูน นอกจากช่วยในการดักจับฝุ่นแล้ว ยังช่วยเพิ่มความชื้นในอากาศ รวมทั้งมีการดูแลจุดพิเศษอย่างสระว่ายน้ำที่มักจะอยู่กลางแจ้ง และเป็นจุดที่ฝุ่นมักจะมีโอกาสเจือปนได้ง่าย

3. ตรวจสอบคุณภาพน้ำในสระอย่างสม่ำเสมอ วัดค่าคลอรีน และค่า pH ให้ได้มาตรฐาน ทำความสะอาดรางน้ำล้น และ บริเวณโดยรอบเพื่อไม่ให้เกิดการอุดตันของท่อระบายน้ำ ช้อนใบไม้และสิ่งสกปรก ดูดตะกอนสิ่งสกปรก หรือ เศษต่างๆ ที่อยู่ก้นสระ เพื่อให้สระว่ายน้ำสะอาด สวยงาม และพร้อมใช้งานอยู่เสมอ

4. ลดการปล่อยมลพิษออกสู่ชุมชน ผ่านการการดูแลเครื่องจักรต่าง ๆ ในอาคารให้ทำงานได้ตามปกติ

5. ทีมนิติบุคคลแนะนำวิธีดูแลสุขภาพท่ามกลางฝุ่น PM 2.5 แก่ลูกบ้าน ผ่านช่องทางการสื่อสารที่เข้าถึงลูกบ้านอย่างทั่วถึง โดยสำหรับพลัสฯ เอง มีการแจ้งข้อมูลการดูแลตนเองจาก PM 2.5 และเช็คค่าฝุ่นก่อนออกจากบ้านได้อย่างสะดวกรวดเร็วผ่าน Home App

อาคารสำนักงานและอาคารพาณิชย์

1. การติดตั้งฟิลเตอร์กรองฝุ่น PM 2.5 ในระบบปรับอากาศ ควรเลือกใช้ฟิลเตอร์ที่มีประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็ก คือฟิลเตอร์ระดับ MERV 13 ขึ้นไป หรือสามารถใช้วิธีเพิ่มความถี่ในการล้างหรือทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศให้มีรอบความถี่ที่มากขึ้นในช่วงที่มีฝุ่น PM 2.5 สูง เช่น หากเคยล้างเดือนละ 1 ครั้ง ควรปรับเป็นทุก 2 สัปดาห์ เพราะระบบปรับอากาศมีการดึงอากาศจากภายนอกเข้ามาหมุนเวียน การกรองอากาศให้สะอาดไม่เพียงช่วยลดปริมาณฝุ่นในอาคาร แต่ยังช่วยปกป้องสุขภาพของผู้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ โดยเฉพาะในจุดทางเข้าอาคารหลัก หรือล็อบบี้ เพื่อดักฝุ่นที่ติดตัวผู้ที่เข้ามาในอาคาร โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่อากาศเย็น ร่างกายจะเกิดไฟฟ้าสถิตได้ง่าย ทำให้ฝุ่นละอองมีโอกาสติดตัวเข้ามามากขึ้น การมีเครื่องฟอกอากาศในจุดเหล่านี้จะช่วยลดการปนเปื้อนของฝุ่น PM 2.5 และรักษาคุณภาพอากาศภายในอาคารให้สะอาดและปลอดภัยยิ่งขึ้น

3. ปิดหน้าต่าง หรือช่องระบายอากาศภายในอาคารในช่วง PM 2.5 เกินมาตรฐาน เพื่อป้องกันฝุ่นเข้ามาในอาคาร

4. ลดกิจกรรมในอาคารที่ทำให้เกิดฝุ่นฟุ้งกระจาย ได้แก่ การซ่อมหรือปรับปรุงอาคาร การใช้อุปกรณ์ทำความสะอาดของแม่บ้าน เช่น ใช้เครื่องดูดฝุ่นแทนไม้กวาด

5. ส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 การรณรงค์ให้พนักงานและผู้ใช้อาคารเลือกใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทนการใช้ยานพาหนะส่วนตัว เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยลดการสันดาปของเครื่องยนต์ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดฝุ่น PM 2.5

ท่ามกลางความท้าทายจากมลพิษที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การใส่ใจในรายละเอียดเหล่านี้จะนำไปสู่ความยั่งยืนในด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ดีในระยะยาวได้ อีกทั้ง ในฐานะผู้บริหารจัดการที่อยู่อาศัยและอาคาร การตื่นตัวและเตรียมแผนรับมืออย่างเป็นระบบถือเป็นบทบาทสำคัญในการสร้างความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้อยู่อาศัยหรือผู้ใช้งานพื้นที่ การให้ความใส่ใจในเรื่องเหล่านี้ไม่เพียงช่วยลดผลกระทบจากมลพิษ แต่ยังสร้างความมั่นใจและความอุ่นใจให้กับผู้อยู่อาศัยและผู้ใช้งานพื้นที่อีกด้วย