มทร.ล้านนา คาดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ทวีความรุนแรงพุ่งตั้งแต่ต้นปี 2568 เหตุชาวบ้าน เกษตรกรเผาพื้นที่การเกษตรเร็ว เตรียมสร้างความรู้ ความเข้าใจ แจ้งนศ.-บุคลากรมหาวิทยาลัย รับมือดูแลตัวเอง สุขภาพ พร้อมเปิด Green Room พื้นที่ปลอดฝุ่น ปลอดภัย เผยส่งนักวิจัยทำงานร่วมกับมช.ติดตั้ง DustBoy นวัตกรรมสู้ฝุ่น
รศ.ดร.อุเทน คำน่าน รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.)ล้านนา เปิดเผยว่าสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ ไม่ว่าจะเป็นลำพูน เชียงใหม่ ลำปาง คาดว่าจะมีความรุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากปีนี้ชาวบ้าน เกษตรกรมีการเผาพื้นที่ทางการเกษตรเร็วกว่าเดิม และจะทำให้ประชาชน นักท่องเที่ยวเผชิญฝุ่น PM2.5 วิกฤตหนักตั้งแต่เดือนมกราคม2568 ซึ่งหากเทียบกับปีที่ผ่านมาแล้ว ปัญหาฝุ่น PM2.5 จะวิกฤตหนักเริ่มประมาณเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป
“มทร.ล้านนา ได้มีการเตรียมพร้อมโดยเน้นการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และแจ้งให้นักศึกษา บุคลากรของมหาวิทยาลัยดูแลตัวเอง ป้องกันฝุ่น PM2.5 พร้อมทั้งจะมีการแจกหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นผลงานที่ทาง รศ.ดร.พานิช อินต๊ะ นักวิจัยที่เน้นการวิจัยพื้นฐานและงานวิจัยประยุกต์ทางด้านเทคโนโลยีการวัดและการควบคุมอนุภาคละอองลอยในอากาศ ซึ่งได้มีการพัฒนาการตรวจสอบคุณภาพของหน้ากากรวมถึงมีการจัดทำ Green Room บริเวณห้องสมุดให้นักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยได้เข้าไปอยู่ หากมีปริมาณฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับสีส้ม หรือสีแดง อีกทั้งได้ประชาสัมพันธ์ให้งดกิจกรรมกลางแจ้ง หรือกิจกรรมที่ต้องไปสำรวจภายนอก ให้นักศึกษาได้อยู่ในพื้นที่ปลอดฝุ่น ปลอดภัย” รศ.ดร.อุเทน กล่าวและว่า ทั้งนี้ มทร.ล้านนาได้ส่งนักวิจัย ร่วมทำงานกับทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการจัดตั้ง DustBoy ซึ่งเป็นนวัตกรรมสู้ฝุ่น PM2.5 เพื่อเตือนปริมาณฝุ่นละอองเมืองเชียงใหม่ ผ่านระบบออนไลน์และ ไลน์แชทบ็อท มีเครื่องวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศด้วยระบบเซนเซอร์ที่ตรวจวัดคุณภาพอากาศและการเตือนภัยมลพิษทางอากาศ รายงานสถานการณ์ฝุ่นแบบ Real Time ซึ่ง DustBoy ถือเป็นงานวิจัยของมช.ที่มีติดตั้งตามจุดต่างๆ อยู่แล้ว และนักวิจัยของมทร.ล้านนา จะเข้าไปช่วยขยายการติดตั้งไปในอำเภอ และจังหวัดอื่นๆ มากขึ้น
รศ.ดร.อุเทน กล่าวต่อไปว่า โดยส่วนตัวคาดว่าสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะเชียงใหม่ ในปีนี้ ไม่น่าจะดีขึ้นกว่าเดิม เพราะตอนนี้ยังไม่พ้นเดือนมกราคม ผู้คนก็กำลังเผชิญปัญหามลพิษทางอากาศ ฝุ่น PM2.5 แล้ว คุณภาพอากาศแย่ลง ยิ่งมีการเผาสะสมมากขึ้น ปัญหาก็ยิ่งมากขึ้น ซึ่งปัญหาฝุ่นควันมีความซับซ้อนมากกว่ามิติที่ทุกคนเห็น เพราะนอกจากการเผาแล้ว ปัจจัยที่ทำให้เกิดฝุ่นนั้นมีมากมาย ทั้งชั้นบรรยากาศ ความชื่นของสภาพอากาศ การเผาไหม้ อากาศแห้ง หรือการเกิดไฟป่า ที่จะสร้างความเสียหายในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม อยากให้ทุกคนดูแลป้องกันตัวเอง และภาครัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรลงมาทำงานร่วมกับภาคการศึกษา และภาคประชาชนให้มากขึ้น ที่สำคัญควรมีพื้นที่ตรงกลางหรือศูนย์ที่ให้ประชาชนไปอาศัยได้หากปริมาณฝุ่น PM2.5 มีสีแดง ควรจัดพื้นที่ปลอดภัย ห้องปลอดฝุ่นให้แก่ประชาชน