‘บมจ. เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล’ หรือ HENG หนึ่งในผู้ดำเนินธุรกิจให้บริการสินเชื่อรายใหญ่ของประเทศไทย ภายใต้แบรนด์ ‘เฮงลิสซิ่ง’ ประเมินแนวโน้มความสามารถชำระหนี้ของลูกหนี้ครึ่งปีหลังดีขึ้น หลังรัฐเร่งเปิดลงทะเบียนรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย และเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณ หนุนเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น พร้อมเพิ่มระดับความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อใหม่เพื่อควบคุมคุณภาพหนี้ที่ดี หลังเร่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้จากเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างเต็มที่เพื่อก้าวข้ามผ่านวิกฤตไปพร้อมกัน แม้ส่งผลกระทบต่อผลงานครึ่งปีแรก
นายวิชัย ศุภสาธิตกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ HENG หนึ่งในผู้ดำเนินธุรกิจให้บริการสินเชื่อรายใหญ่ของประเทศไทยภายใต้แบรนด์ ‘เฮงลิสซิ่ง’ เปิดเผยว่า จากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มอำนาจการซื้อสินค้าให้แก่ประชาชนผ่านการอัดฉีดเงินดิจิทัลจำนวน 10,000 บาท ที่ได้เริ่มลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา และเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน จะช่วยส่งเสริมความสามารถการชำระหนี้ที่ดีขึ้นแก่ลูกหนี้ของ HENG ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs จากการมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจช่วยปลุกกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคดีขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้เพิ่มระดับความเข้มข้นในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อใหม่ให้รัดกุมยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมคุณภาพหนี้ โดยโฟกัสกลุ่มลูกค้าภาคเกษตรกร ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีประวัติการผ่อนชำระหนี้ที่ดีผ่านผลิตภัณฑ์สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ
ขณะเดียวกัน HENG จะมุ่งบริหารจัดการด้านค่าใช้จ่ายการขายและการตลาด (SG&A) ให้มีประสิทธิภาพ โดยปรับลดขนาดสาขาเพื่อลดค่าใช้จ่าย เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บหนี้ พร้อมให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบปัญหาไม่สามารถผ่อนชำระได้ตามกำหนด เพื่อประคับประคองให้ทุกฝ่ายสามารถผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน ซึ่งเชื่อมั่นว่าด้วยแนวทางการดำเนินงานดังกล่าว จะทำให้ HENG สามารถเอาชนะความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตไม่เต็มศักยภาพได้
ส่วนผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรกของปีนี้ (มกราคม-มิถุนายน) มีแรงกดดันจากปัจจัยลบต่อการดำเนินธุรกิจของ HENG ทำให้บริษัทฯ ปรับกลยุทธ์การดำเนินงาน มุ่งโฟกัสคุณภาพพอร์ตลูกหนี้ให้มีคุณภาพที่ดี ตลอดจนให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มลูกหนี้ที่มีความเปราะบาง จากผลกระทบเศรษฐกิจและมีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ไปแล้วรวมกันกว่า 30,000 ราย ซึ่งถูกจัดอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ เพื่อปรับโครงสร้างการผ่อนชำระหนี้ให้เหมาะสมกับความสามารถของลูกหนี้ รวมถึงมีผลขาดทุนด้านเครดิตจากลูกหนี้บางส่วนในกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อ ทำให้มีรายได้รวม 743 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 6 ล้านบาท
“เราประเมินว่าหากเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังฟื้นตัวจากการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ จะทำให้ลูกหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ สามารถฟื้นตัวและกลับสู่กลุ่มลูกหนี้ที่มีคุณภาพอีกครั้ง รวมถึงบริษัทฯ ได้ใช้แนวทางการบริหารจัดการที่มีความยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทำให้ภาพรวมทั้งปีสามารถทำผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจได้” นายวิชัย กล่าว