เมื่อความยั่งยืน (Sustainability) เป็นเป้าหมายสำคัญที่ธุรกิจขนาดใหญ่ทั่วโลกมุ่งหวังให้เกิดขึ้น แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่มาพร้อมกับโลกที่ไร้สมดุล เพราะเมื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทำให้โลกเชื่อมต่อกันมากขึ้น ส่งผลกระทบทั้งทางบวกและลบ ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนภาวะโลกไร้สมดุล มี 4 ปัจจัยได้แก่ 1) Globalization โลกาภิวัตน์ทำให้การดำเนินธุรกิจ การขนส่ง และการสื่อสารเปลี่ยนไป 2) Demographic Shift การเปลี่ยนแปลงเชิงประชากรศาสตร์ เช่น อัตราการเกิดต่ำ สังคมสูงวัย 3) Customer Behavior พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง ทำให้การแข่งขันด้านการตลาดรุนแรงขึ้น และ 4) Pollutions & Climate Change มลภาวะและการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ เช่น โรคที่เกิดจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง โรคทางเดินหายใจ และความเครียด
finbiz by ttb จึงขอเสนอการใช้แนวทาง Lean และ Green สำหรับธุรกิจเพื่อรับมือกับความเสี่ยง ในการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน
จากความเสี่ยงข้างต้น ปัจจุบันบริษัทชั้นนำทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับความยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่มีทั้งสิ้น 17 หมวด สะท้อน 3 เสาหลักของมิติความยั่งยืน คือ มิติด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยแนวทางที่ธุรกิจสามารถนำมาใช้มีดังนี้
- การบริหารความเสี่ยงองค์กร วางแผนผังความเสี่ยงเพื่อจัดการรับมือกับสถานการณ์ความเสี่ยงทั้งภายนอกและภายในองค์กร
- การใช้แนวคิด ESG นำแนวคิด ESG (Environmental, Social, Governance) มาปรับใช้เพื่อพัฒนาองค์กรและธุรกิจอย่างยั่งยืน
- การประเมินความยั่งยืน ธุรกิจสามารถประเมินผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนขององค์กรในระดับสากลได้จากการจัดอันดับของบริษัทระดับโลก เช่น S&P Global, MSCI, DJSI
การนำกลยุทธ์ ESG มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ จะส่งผลให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพดีขึ้น ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพองค์กรและราคาในตลาดหลักทรัพย์
สำหรับการดำเนินกลยุทธ์ Lean และ Green เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ธุรกิจขนาดใหญ่ควรกำหนดวิสัยทัศน์และพันธกิจที่ชัดเจน และวางกลยุทธ์ดังนี้
- การเก็บข้อมูลและปรับปรุงกระบวนการ สร้างทีมเก็บข้อมูลและนำกิจกรรมที่เคยทำอย่างไม่เป็นชิ้นเป็นอันมารวมกัน
- การบริหารจัดการทุนมนุษย์ (Human Capital) บริหารจัดการให้ทุกคนในองค์กรคิดและทำในทิศทางเดียวกัน
- การลดต้นทุนและสร้างรายได้ ทุกกิจกรรมต้องสามารถลดต้นทุน หรือสร้างรายได้ที่เติบโต
- การเข้าร่วมโครงการ Green ตั้งเป้าหมายให้ส่วนใหญ่ของธุรกิจเข้าร่วมโครงการ Green ทั้งของภาครัฐและเอกชนเพื่อสร้างมาตรฐานและประเมินผลการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งมีกลุ่มที่จะแลกเปลี่ยนความคิดและแนวทางในการปรับตัวสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
- การวางแผนให้ครอบคลุมไปถึงซัพพลายเชน ออกแบบกระบวนการร่วมกันตั้งแต่แรกเพื่อให้กาดำเนินธุรกิจเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
แนวทางเหล่านี้ได้จากการศึกษาการดำเนินงานของเครือโรงพยาบาลขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งใช้ Lean และ Green เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนองค์กรและธุรกิจเฮลท์แคร์สู่ความยั่งยืน โดยบริหารจัดการความเสี่ยงและใช้แนวคิด ESG เพื่อสร้างความยั่งยืนในทุกด้าน ตั้งแต่การบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ การลดต้นทุน การเข้าร่วมโครงการ Green Healthcare และการวางแผนซัพพลายเชน ทำให้เป็นตัวอย่างที่ดีในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืนตามมาตรฐานสากล รวมไปถึงธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในองค์กรได้
ที่มา : จากหลักสูตร “LEAN for Sustainable Growth by ttb” รุ่นที่ 19 สำหรับอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ (Healthcare)