วันพุธที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2566

‘SAFE’ เตรียมขาย IPO ไม่เกิน 94 ล้านหุ้น หลัง ก.ล.ต.นับหนึ่งไฟลิ่ง เพิ่มศักยภาพศูนย์การแพทย์เพื่อการมีบุตรครบวงจร ก้าวสู่ผู้นำการรักษาผู้มีบุตรยาก




บมจ. เซฟ เฟอร์ทิลิตี้ กรุ๊ป หรือ SAFE เตรียมเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 94 ล้านหุ้น หลังสำนักงาน ก.ล.ต. นับหนึ่งไฟลิ่ง เพิ่มศักยภาพศูนย์การแพทย์เพื่อการมีบุตรครบวงจร “เซฟ เฟอร์ทิลิตี้ เซ็นเตอร์” ต่อยอดจุดแข็งด้านการรักษาผู้มีบุตรยากและความชำนาญด้านเพาะเลี้ยงตัวอ่อน ก้าวสู่ผู้นำการรักษาผู้มีบุตรยาก วินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อนและเวลเนสในภูมิภาคเอเชีย

นพ.วิวัฒน์ กว้างคณานุรักษ์ แพทย์ผู้มีประสบการณ์ด้านการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซฟ เฟอร์ทิลิตี้ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ SAFE เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทฯ เป็นผู้ให้บริการศูนย์การแพทย์เพื่อการมีบุตรภายใต้ชื่อ “ศูนย์การแพทย์เพื่อการมีบุตร เซฟ เฟอร์ทิลิตี้ เซ็นเตอร์” ที่มีบริการแบบครบวงจรโดยมีทีมแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ผู้ชำนาญการด้านเพาะเลี้ยงตัวอ่อน ที่มีประสบการณ์และความชำนาญด้านการรักษาผู้มีบุตรยาก และเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์และห้องปฏิบัติการทางด้านพันธุศาสตร์ในประเทศไทย เพื่อก้าวสู่ผู้นำด้านการรักษาผู้มีบุตรยาก ด้านวินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อนและเวลเนสในภูมิภาคเอเชีย ปัจจุบันมีศูนย์การแพทย์เพื่อให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากรวม 5 สาขา ได้แก่ สาขาอัมรินทร์ พลาซ่า รามอินทรา ขอนแก่น ภูเก็ต และศรีราชา โดยมีจุดแข็งในการแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ในอุตสาหกรรม ดังนี้

1) บริษัทฯ ประกอบธุรกิจให้บริการเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์เพื่อรักษาภาวะมีบุตรยาก ซึ่งคาดการณ์อัตราเติบโตของมูลค่าตลาดของโลกเฉลี่ยต่อปีที่ประมาณร้อยละ 13.8 จากปัจจัยด้านอัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลง และอายุเฉลี่ยของผู้หญิงตั้งครรภ์ที่เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการตั้งครรภ์ ส่งผลให้การตั้งครรภ์ต้องอาศัยเทคโนโลยีในการเจริญพันธุ์เข้ามาช่วยเติมเต็มความฝันในการมีบุตร ทำให้ตลาดการให้บริการเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์เติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการขยายตัวของตลาดท่องเที่ยวสำหรับผู้มีบุตรยากทั่วโลกก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่เพิ่มการเติบโตในอุตสาหกรรมนี้เช่นกัน

2) ตั้งอยู่ในประเทศไทยซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญสำหรับผู้มีบุตรยากทั่วโลก (Fertility Tourism) สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต โดยคาดการณ์ตลาดท่องเที่ยวสำหรับผู้มีบุตรยากทั่วโลกจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1.8 แสนล้านบาทในปี 2569 เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 15.2 ต่อปี ประกอบกับปัจจัยด้านอัตราค่ารักษาผู้มีบุตรยากของประเทศไทยมีราคาที่ต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา แต่มีมาตรฐานการรรักษาเทียบเท่าสากล ช่วยผลักดันให้กลุ่มบริษัทฯ ได้มีโอกาสเข้าถึงลูกค้าชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น

3) เป็นศูนย์การแพทย์เพื่อการมีบุตรที่ให้บริการแบบ Integrated Full Service มีการให้บริการที่ครบถ้วนและมีประสิทธิภาพตั้งแต่การวางแผนการมีบุตร การรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี ICSI และ IUI การเลี้ยงตัวอ่อนด้วยเทคโนโลยีตู้เลี้ยงตัวอ่อนแบบพิเศษ และการแช่แข็งและการฝากไข่ อสุจิและตัวอ่อน เพื่อโอกาสการมีบุตรในอนาคต และให้บริการห้องปฏิบัติการเลี้ยงตัวอ่อนและห้องปฏิบัติการทางด้านพันธุศาสตร์ที่มีทีมงานนักวิทยาศาสตร์ตรวจสอบคัดกรองวิเคราะห์โครโมโซมและรังไข่ที่มีประสบการณ์กว่า 10 ปี จากบริษัท เน็ก เจนเนอร์เรชั่น จีโนมิค จำกัด หรือ “NGG” ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่มาช่วยส่งเสริมธุรกิจรักษาผู้มีบุตรยาก และ NGG ยังเป็นผู้นำด้านเทคโนโลโลยีด้านการรักษาผู้มีบุตรยากโดยให้บริการห้องปฏิบัติการเลี้ยงตัวอ่อนและห้องปฏิบัติการทางด้านพันธุศาสตร์ให้กับโรงพยาบาล คลินิกสูตินรีเวช ศูนย์การแพทย์เพื่อการมีบุตร ห้องปฏิบัติการ และบุคลากรทางการแพทย์ต่าง ๆ ทั้งในต่างประเทศและในประเทศ อีกทั้งได้ทำสัญญาให้บริการทางห้องปฏิบัติการเจริญพันธุ์ในศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากในโรงพยาบาลกรุงเทพอุดร เป็นผู้จัดหา จัดเตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ เวชภัณฑ์ ที่จำเป็นต้องใช้ในห้องปฏิบัติการและนักวิทยาศาสตร์ซึ่งมีความรู้ มีความชำนาญการทางการมีบุตรยาก นอกจากนี้ ยังให้บริการด้านผิวหนังและความงามโดย บริษัท เซฟ เวลเนส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ภายใต้แบรนด์ “เดอะฟาวเทน เวลเนส เซ็นเตอร์”

4) มีทีมแพทย์และบุคลากรที่มีความชำนาญการและประสบการณ์เฉลี่ยมากกว่า 15 ปี ในการรักษาและการคัดเลือกเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย โดยนับจากปี 2561 ถึงไตรมาส 2/2566 มีสถิติในการเก็บไข่กว่า 7,236 รอบ (OPU Cycle) หรือมากกว่า 1,000 รอบต่อปี และในช่วงปี 2563 ถึงไตรมาส 2/2566 อัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกช่วงอายุ ไม่ว่าจะมีการเพิ่มบริการตรวจพันธุกรรมตัวอ่อน (PGT) หรือไม่ก็ตาม ซึ่งอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์เฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 40 ถึง 75 โดยอัตราความสำเร็จดังกล่าว คำนวณจากจำนวนคนไข้ที่ตั้งครรภ์ต่อจำนวนคนไข้ที่ใส่ตัวอ่อนทั้งหมด

5) เป็นผู้นำด้านการให้บริการศูนย์การแพทย์เพื่อการมีบุตรครบวงจรที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการให้บริการด้านการเจริญพันธุ์ระดับสากล บริษัทให้ความสำคัญในด้านการควบคุมคุณภาพที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับสากล โดยมีการพัฒนาและควบคุมคุณภาพการให้บริการและคุณภาพของห้องปฏิบัติการเลี้ยงตัวอ่อนและห้องปฏิบัติการทางด้านพันธุศาสตร์อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันบริษัทได้การรับรองมาตรฐานการบริหารจัดการที่มีคุณภาพ ISO9001:2015 ในด้านการควบคุมคุณภาพห้องปฏิบัติการเจริญพันธุ์ (Fertility Lab) จากองค์กรสถาบันมาตรฐานอังกฤษ (ประเทศไทย) (British Standard Institute Thailand : BSI Thailand) ได้รับการตรวจประเมินคุณภาพทางห้องปฏิบัติการโดยองค์กรภายนอก (External Quality Assessment : EQA) จากสถาบัน UK NEQAS ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับในยุโรปและประเทศอังกฤษ อีกทั้งยังได้รับการรับรองมาตรฐานคลินิกเด็กหลอดแก้วจากสถาบัน RTAC ประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เป็นแห่งแรกของประเทศไทย

6) เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีด้านการรักษาผู้มีบุตรยากและด้านวินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อน มีการนำเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมาให้บริการแก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เช่น ในปี 2555 กลุ่มบริษัทได้นำตู้เลี้ยงตัวอ่อนรุ่นใหม่ (Embryoscope) มาใช้เป็นที่แรกในไทยเพื่อใช้ในการติดตามพัฒนาการของตัวอ่อนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในปี 2557 มีการนำเทคโนโลยีคัดกรองโครโมโซมตัวอ่อนทั้ง 24 โครโมโซมด้วยเทคนิค Illumina NGS (PGT-A) มาใช้แห่งแรกในประเทศไทย และยังได้มีการนำเข้าเทคโนโลยีการตรวจคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซมทารกในครรภ์ (NIPT) และในปี 2562 ได้มีการนำเทคโนโลยีฟื้นฟูรังไข่ Reju O เข้ามาเพื่อใช้เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพและอัตราความสำเร็จ เป็นต้น

7) ให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากแก่ชาวต่างชาติ พร้อมผู้ดูแลส่วนบุคคลที่สื่อสารได้หลายภาษา (Multi-language Personal Assistant) ให้บริการตลอดกระบวนการรักษา โดยให้การรักษามาแล้วกว่า 3,032 OPU cycles หรือมากกว่า 2,483 ราย อาทิ จีน อินเดีย พม่า เวียดนาม สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฯลฯ ทำให้เป็นที่รู้จักของลูกค้าในหลายประเทศ

8) มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง และมีผลกำไรอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายได้จากการให้บริการในปี 2563-2565 เท่ากับ 525.48 ล้านบาท 559.73 ล้านบาท 726.61 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนงวด 6 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2566 มีรายได้รวม 406.57 เพิ่มขึ้น 8.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 42.16 ล้านบาท 78.23 ล้านบาท 161.73 ล้านบาท ส่วนในงวด 6 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2566 เท่ากับ 87.43 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิร้อยละ 21.52 ของรายได้จากการให้บริการ

นางดาริน กาญจนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออพท์เอเชีย แคปิตอล จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า ภายหลังจาก บมจ.เซฟ เฟอร์ทิลิตี้ กรุ๊ป ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 93,846,800 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 30.88 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญครั้งนี้ ล่าสุด สำนักงาน ก.ล.ต. ได้เริ่มนับหนึ่งไฟลิ่งแล้ว โดยการเสนอขายหุ้น IPO ดังกล่าว แบ่งเป็น 1. หุ้นสามัญที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเดิม จำนวนไม่เกิน 69,899,000 หุ้น 2. หุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 23,947,800 หุ้น ทั้งนี้ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ จะส่งผลให้บริษัทฯ มีทุนชำระแล้ว 303,947,800 บาท คิดเป็นจำนวน 303,947,800 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท จากทุนจดทะเบียนที่เรียกชำระแล้ว 280,000,000 บาท โดยมีแผนนำเงินที่ได้จากการระดมทุนเพื่อใช้เป็นเงินลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องและสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจในอนาคต ลงทุนขยายสาขา และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ