มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ร่วมสร้างโมเดลเมืองท่องเที่ยวระดับโลก ปักธงศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน ขับเคลื่อนสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อสร้างการท่องเที่ยวมูลค่าสูง โดยจะนำเอารูปแบบการบริหารจัดการและนวัตกรรมใหม่ๆ ภูมิปัญญาไทย ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลักดันให้จังหวัดภูเก็ตและพื้นที่ฝั่งอันดามันก้าวสู่เมืองสุขภาพโลกหรือ Medical Hup การเป็นเมืองอัจฉริยะ การท่องเที่ยวเชิงกีฬา มุ่งสู่พื้นที่เป้าหมายของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกหรือ World Class Destination
รศ. ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีวิทยาเขตภูเก็ต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของรัฐบาลชุดใหม่ ที่กำหนดกรอบการพัฒนาการท่องเที่ยวภาคใต้ ผ่านแนวทางการสร้างเมืองท่องเที่ยวระดับโลกเวอร์ชั่นสมบูรณ์ในจังหวัดภูเก็ต และฝั่งอันดามันนั้น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในจังหวัดภูเก็ต ร่วมวางแผนขับเคลื่อนการท่องเที่ยวให้จังหวัดภูเก็ตและพื้นที่กลุ่มจังหวัดอันดามัน เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ตอบโจทย์การท่องเที่ยวมูลค่าสูง โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ก.ย. ที่ผ่านมาได้นำเสนอแผนอย่างเป็นรูปธรรม ภายหลังนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในช่วงที่มีการลงพื้นที่ภาคใต้ เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา
สำหรับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและอันดามันนั้นมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการท่องเที่ยวมูลค่าสูง ผ่านการดำเนินงานโครงการจัดตั้งศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน โดยจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการผลักดันการท่องเที่ยวมูลค่าสูงให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านการสานต่อภูมิปัญญาของคนไทย สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและอาหาร พร้อมผลักดันให้จังหวัดภูเก็ตและพื้นที่อันดามันเป็นเมืองการท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sport Tourism) และก้าวสู่เมดิคัลฮับ (Medical Hub) ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness) ของประเทศไทยและของภูมิภาค ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตและพื้นที่อันดามันมีรายได้ที่หลากหลาย ลดการพึ่งพารายได้หลักจากการท่องเที่ยวแบบเดิมๆ เพียงอย่างเดียวเหมือนในอดีตที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันจะมุ่งสนับสนุนให้จังหวัดภูเก็ตก้าวไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะหรือ Smart City โดย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตภูเก็ต ได้นำระบบบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่หรือ Big Data ทั้งของทางภาครัฐและภาคเอกชน มาวิเคราะห์เพื่อวางแผนและตัดสินใจในเชิงการบริหารจัดการเมืองให้มีประสิทธิภาพ พร้อมกับการสนับสนุนความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศตลอดจนวางโครงสร้างพื้นฐาน ดิจิทัล (Digital Infrastructure) ให้มีความเหมาะสมกับเมือง เช่น ระบบจราจร การจัดการระบบบริหารแพลตฟอร์มต่างๆ การจัดการบริหารขยะและคุณภาพของอากาศ และการดูแลรักษาผู้ป่วยทางไกลหรือ Telemedicine
รศ. ดร.พันธ์ ทองชุมนุม กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมกลุ่มชุมชนให้มีรายได้ที่มั่งคงและสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนผักลิ้นห่าน ที่พบว่าชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 3,000 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน โดยการนำเอาผักพื้นเมืองที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนที่มีอยู่เดิมมาสร้างมูลค่าเพิ่ม นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมให้ชุมชนมีการเลี้ยงปลาช่อนทะเล ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมมาสู่การพัฒนาและใช้เทคโนโลยี ทำให้ชุมชนมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ยังไปมีส่วนในการส่งเสริมด้านการตลาดโดยการจัดกิจกรรมระหว่างผู้ซื้อกับผู้บริโภคได้มาพบกัน
“มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต พร้อมนำองค์ความรู้ของบุคลากรที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านการบริหารจัดการ การท่องเที่ยว วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ ตลอดจนงานวิจัยและนวัตกรรมที่มหาวิทยาลัยเชี่ยวชาญ มาร่วมสร้างโมเดลเมืองท่องเที่ยวระดับโลกเวอร์ชันสมบูรณ์ เพื่อให้จังหวัดภูเก็ตและพื้นที่กลุ่มจังหวัดอันดามัน เป็นพื้นที่เป้าหมายในการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกหรือ World Class Destination ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูงมาสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย และที่สำคัญเป็นส่วนหนึ่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน” รศ. ดร.พันธ์ ทองชุมนุม กล่าว