กลุ่มดุสิตธานี เปิดเผยผลประกอบการไตรมาสที่ 2 (เมษายนถึงมิถุนายน) ปี 2566 บริษัทฯ มีผลขาดทุนสุทธิ 186 ล้านบาท ลดลง 27.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 258 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ซึ่งเป็นกำไรจากการดำเนินงาน 139 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 157.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่นเดียวกันงวด 6 เดือน (มกราคมถึงมิถุนายน) ที่ EBITDA อยู่ที่ 493 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึง 88.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เผยภาพรวมผลประกอบการมีแนวโน้มดีขึ้น หลังจากธุรกิจโรงแรมได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวอย่างชัดเจนของการท่องเที่ยวและการเดินทางทั่วโลก และยังมีแนวโน้มดีต่อเนื่องจากในช่วงครึ่งปีหลัง สอดคล้องกับเป้าหมายรายได้รวมปีนี้เติบโต 30-35%
นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานของกลุ่มดุสิตธานี ในไตรมาสที่ 2 และงวด 6 เดือนของปีนี้ ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวที่รวดเร็วและชัดเจนของการท่องเที่ยวและการเดินทางทั่วโลก ทำให้ผลขาดทุนสุทธิปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน แต่อ่อนตัวลงจากกำไรสุทธิ 9 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ที่ผ่านมา เนื่องจากการลดลงของธุรกิจโรงแรม อันเนื่องจากปัจจัยทางฤดูกาล (low season) ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานที่สะท้อนผ่าน EBITDA ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในไตรมาสที่ 2 ที่เพิ่มขึ้น 157.4% จากช่วงเดียวของปี 2565 และงวด 6 เดือนที่เพิ่มขึ้น 88.9% โดยสาเหตุหลักมาจากการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรม และจากการเติบโตของธุรกิจอาหารตามแผนกลยุทธ์ด้านการขยายการเติบโตและการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ
“ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ รายได้จากธุรกิจโรงแรมเติบโต 31.5% จากรายได้เฉลี่ยต่อห้องที่เพิ่มขึ้น 24.9% ซึ่งเป็นผลจากอัตราการเข้าพักที่เพิ่มขึ้น และเป็นผลสำเร็จจากการปรับเพิ่มอัตราค่าห้องเฉลี่ย ขณะที่ธุรกิจอาหารมีรายได้เพิ่มขึ้น 65.7% จากการฟื้นตัวของธุรกิจการให้บริการจัดการอาหารแก่โรงเรียนนานาชาติ หลังจากโรงเรียนกลับมาดำเนินการเรียนการสอนตามปกติ (On-site) และจากการลงทุนในธุรกิจผลิตเบเกอรี่และแฟรนไชส์ร้านขนมอบ ที่เราลงทุนไปตั้งแต่ปลายไตรมาส 2 ของปี 2565” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดุสิตธานี กล่าว
ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ กลุ่มดุสิตธานีเปิดโรงแรมเพิ่มเติมอีก 3 แห่งในรูปแบบของการรับจ้างบริหาร ได้แก่ โรงแรมดุสิตดีทู สามย่าน กรุงเทพฯ จำนวน 179 ห้อง โรงแรมอาศัย กรุงเทพฯ สาทร จำนวน 106 ห้อง และโรงแรม อาศัย เกียวโต ชิโจ ที่ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 114 ห้อง ทำให้บริษัทฯ มีโรงแรมภายใต้การบริหารจัดการรวมเป็น 52 แห่ง สำหรับธุรกิจบริหารจัดการและให้เช่าวิลล่าหรูภายใต้แบรนด์ Elite Havens ยังคงปรับพอร์ตโฟลิโอเพื่อเน้นคุณภาพและเพิ่มอัตราผลตอบแทน โดย ณ ไตรมาส 2 ปี 2566 บริษัทฯ มีโรงแรมและวิลล่าภายใต้การบริหารจัดการรวม 282 แห่ง ห้องพัก 12,080 ห้อง ใน 18 ประเทศ
นอกจากนี้ ล่าสุด กลุ่มดุสิตธานียังได้เดินหน้าสู่ความยั่งยืนด้วยการเปิดตัวโครงการ “ทรี ออฟ ไลฟ์” (Tree of Life) ที่ประกอบด้วย เกณฑ์ 31 ข้อที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติและเป้าหมายเฉพาะของธุรกิจ โดยหน่วยงานที่สามารถปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด จะได้รับใบไม้เป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จ ซึ่งแบ่งเป็น 4 ระดับ ครอบคลุมทั้ง ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความยั่งยืนในระดับปฏิบัติการให้ได้มากที่สุด โดยจะเริ่มจากกลุ่มโรงแรมและรีสอร์ททั่วโลกก่อน จากนั้นจะขยายผลไปยังหน่วยธุรกิจอื่นๆ ภายใต้กลุ่มดุสิตต่อไป
สำหรับแนวโน้มธุรกิจในครึ่งหลังของปี 2566 บริษัทฯ ยังมีมุมมองบวกต่อการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรม แม้ว่า ยังมีปัจจัยท้าทายอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แต่ก็ยังเชื่อว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี โดยเฉพาะในไตรมาส 4 ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว (High season) ทำให้ธุรกิจโรงแรมยังเติบโตได้ดี และรายได้จะกลับมาสูงกว่าปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะที่ธุรกิจอาหารยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากการเพิ่มจำนวนลูกค้าใหม่ของธุรกิจให้บริการจัดการอาหารแก่โรงเรียนนานาชาติ และการขยายสาขาของธุรกิจแฟรนไชส์ร้านขนมอบ ในส่วนของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์นั้น การก่อสร้างของโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์คได้คืบหน้าตามแผนที่วางไว้ โดยในเดือนกรกฎาคมมียอดขายประมาณ 65% ของพื้นที่ขาย จากเป้าหมายการขายในปีนี้ที่ 70-75% ทำให้บริษัทฯ ยังคงเป้าหมายอัตราการเติบโตของรายได้รวมจากธุรกิจปัจจุบันไว้ที่ประมาณ 30-35% จากปี 2565 และคาดว่าอัตรา EBITDA ปี 2566 จะมีค่าประมาณ 15-18% ของรายได้รวม