วันศุกร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2566

กองทุน ววน. มุ่งพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไทย สร้างรายได้ พลิกฟื้นการท่องเที่ยวไทยสู่การท่องเที่ยวคุณภาพ




สกสว. บพข. จับมือผู้ประกอบการ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ลงนาม MOU ขับเคลื่อนและพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ด้วยงานวิจัยท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มุ่งสร้างศักยภาพผู้ประกอบการไทยสู่มาตรฐานในระดับสากล หนุนเพิ่มรายได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2566, ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. ในฐานะผู้แทนผู้อำนวยการ สกสว. ร่วมกับ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สมาพันธ์สมาคมสปาแอนด์เวลเนสไทย สมาคมสปาไทย และ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เข้าร่วมในพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ด้านอุตสาหกรรมบริการสปาไทย ด้วยงานวิจัยการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์” ณ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

ศ. ดร.วิภาดา คุณาวิกติกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิทยาศาสตร์สุขภาพและรักษาการคณบดี คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวถึงการลงนามบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ ว่า เป็นการจัดทำขึ้นเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพด้านอุตสาหกรรมบริการสปาไทย ด้วยงานวิจัยการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อการพัฒนากรอบแนวคิดการวิจัยให้สอดคล้องกับความต้องการด้านอุตสากรรมการท่องเที่ยวของประเทศ รวมถึงสนับสนุนด้านการพัฒนาระบบการจัดการงานวิจัย และสร้างความสามารถในการแข่งขันในอุตสากรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการบริการสปาอย่างเป็นระบบ และนำผลจากการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเกิดจากการความร่วมมือระหว่าง ผู้ประกอบการ สมาคม สมาพันธ์ ชมรมและนักวิชาการภายใต้การสนับสนุนจากแหล่งทุน ภายใต้ธีม Working together to foster wellness for All

ด้าน รศ. ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวถึงความสำคัญในการลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ ว่า มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้เกิดการสนับสนุนการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเที่ยวสุขภาพ ซึ่ง Wellness economy จะประกอบไปด้วยหลายภาคส่วน อันดับแรก คือ การท่องเที่ยว เป็นการเชื่อมโยงร่วมกับสุขภาพ รวมทั้งในด้านของกีฬา ความบันเทิง การพักผ่อนหย่อนใจ อาหาร ซึ่งประเทศไทยมีความโดดเด่น เพราะทั้งหมดนี้ล้วนมาจากภูมิปัญญาของคนไทยทั้งสิ้น ฉะนั้น การพัฒนาเพื่อก้าวไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ จึงมีความสำคัญอย่างมาก และด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะทำให้สามารถพัฒนาไปสู่การเป็น เป็น Service base economy หรือ การมุ่งสู่การเป็นภาคบริการ ที่เข้ามาช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย นั่นเอง พร้อมทั้งตั้งเป้าไปสู่ระดับ Innovation economy ในอนาคตอีกด้วย

ขณะที่ ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช กล่าวว่า สกสว. ตระหนักถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) จึงได้บรรจุแผน “การพัฒนาและยกระดับการท่องเที่ยวโดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เน้นคุณค่าสร้างความยั่งยืนและสร้างรายได้ของประเทศ” ให้เป็นแผนงานสำคัญของแผนด้าน ววน. มุ่งเน้นให้เกิดการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวรวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวคุณภาพเพิ่มสูงขึ้น ใช้ผลงานวิจัยองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจจากท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็นหนึ่ง ในผลสัมฤทธิ์สำคัญที่ถูกระบุไว้ในแผนด้าน ววน.

“ทั้งนี้ สกสว. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของภาคีเครือข่ายความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการบริการสปาด้วย ววน. เพื่อให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างมีประสิทธิผล สามารถยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการบริการสปา และที่สำคัญ คือ การสร้างรายได้ ช่วยพลิกฟื้นการท่องเที่ยวไทยสู่การท่องเที่ยวคุณภาพและยั่งยืน” ผศ.สุภาวดี กล่าวทิ้งท้าย

รศ. ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการ บพข. กล่าวเสริมว่า บพข. ไม่ได้มีหน้าที่เพียงสนับสนุนทุนวิจัยเท่านั้น แต่ให้ทุนอย่างมีจุดมุ่งหมาย ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้แผนการสนับสนุนทุนวิจัยเปลี่ยนไป โดยหันมาให้ความสำคัญด้านการวิจัยท่องเที่ยวมูลค่าสูง และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมากขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเติบโตสูงขึ้น โดยเชื่อว่า เมื่อภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกัน ทำให้อุตสาหกรรมเกิดขึ้นไปในทิศทางเดียวกัน จะสามารถช่วยให้การประกอบการด้านนี้มีมูลค่าสูงขึ้น และช่วยเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวได้อย่างแน่นอน

ด้านผู้ประกอบการ คุณสุนัย วชิรวราการ นายกสมาคมสปาไทย เปิดเผยว่า พันธกิจของสมาคมมุ่งเน้นพัฒนาสปาไทยที่สามารถแข่งขันถึงระดับโลก โดยเน้นความสร้างสรรค์และความยั่งยืน ได้มีการผสมผสานทั้ง 4 เรื่องเข้ากับความเป็นไทย คือ 1.เทคโนโลยี 2.สมุนไพร 3.โหราศาสตร์ และ 4.การดูแลสุขภาพจากภายใน เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน โดยขอเป็นส่วนหนึ่งของผู้ประกอบการในการเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการไทย ให้สามารถแข่งขันในระดับโลกได้

คุณชวนัสต์ สินธุเขียว ประธานสมาพันธ์สมาคมสปาแอนด์เวลเนสไทย กล่าวเสริมว่า ด้วยงานวิจัยและองค์ความรู้จากนักวิจัยต่าง ๆ ทำให้คนเข้าใจเรื่องของ Wellness มากขึ้น และจากโรคระบาด โควิด-19 ทำให้เกิดการตระหนักถึง Wellness tourism มากขึ้น และเกิดเป็นความร่วมมือบูรณาการให้เกิดโปรแกรมการท่องเที่ยวใหม่ ๆ และในอีก 3 ปีข้างหน้านี้ จะมีการจัดงาน Expo Osaka Kansai โดยสิ่งที่ประเทศไทยจะนำไปเสนอได้นั้น ก็คือ Soft power ภายใต้สปาไทย การแพทย์แผนไทย และสมุนไพรไทย นั่นเอง