กรุงเทพมหานครเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการน้ำ เพื่อรองรับสถานการณ์ฝนในปี 2566 ทั้งการขุดลอกคูคลองล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ การบำรุงรักษาสถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ และอุโมงค์ระบายน้ำ การซ่อมบำรุงเครื่องสูบน้ำ การพัฒนาระบบพยากรณ์และการตรวจกลุ่มฝน การติดตั้งเซนเซอร์วัดระดับน้ำท่วมในผิวถนนเพื่อเตือนภัยล่วงหน้า ฯลฯ ซึ่งขณะนี้ (29 พ.ค.66) มีความคืบหน้าไปแล้วหลายด้าน
เริ่มจากการขุดลอกคูคลอง จัดเก็บผักตบชวาวัชพืช หรือสิ่งกีดขวางทางระบายน้ำในคลองต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ สำนักการระบายน้ำ (สนน.) ได้รับงบประมาณขุดลอกคลองในปีงบประมาณ 2566 จำนวน 9 คลอง ความยาว 50,834 เมตร ดำเนินการแล้ว 60.13% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย.66 ขณะที่สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ได้รับงบประมาณขุดลอกคลอง 173 คลอง ความยาว 151,870 เมตร ดำเนินการแล้ว 73.15% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย.นี้เช่นกัน
ส่วนการเปิดทางน้ำไหลในคลองที่มีวัชพืชหนาแน่นและเป็นอุปสรรคกีดขวางทางระบายน้ำ สนน.ได้เปิดทางน้ำไหล 62 คลอง ความยาว 191,603 เมตร ซึ่งจะดำเนินการ 4 รอบ/ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดทางน้ำไหลรอบที่ 3 และดำเนินการได้ครบแล้ว ส่วน 50 สำนักงานเขตได้เปิดทางน้ำไหล 1,342 คลอง ความยาว 1,326,058 เมตร จะดำเนินการ 1 รอบ/ปี ปัจจุบันดำเนินการได้ 74.04%
สำหรับการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำตามแผนในปีงบประมาณ 2566 จำนวน 3,758.4 กม. แล้วเสร็จ 2,410.5 กม. คิดเป็น 64.14% อยู่ระหว่างดำเนินการ 1,347.9 กม. คิดเป็น 35.86% โดยแผนงานของ สนน. จำนวน 947.2 กม. ซึ่งใช้แรงงานของหน่วยงาน 45.1 กม. แล้วเสร็จ 41.5 กม. คิดเป็น 92.01% และจ้างเหมากรมราชทัณฑ์ 902.1 กม. แล้วเสร็จ 587.86 กม. คิดเป็น 65.16% ส่วนแผนล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำของ 50 สำนักงานเขต จำนวน 2,811.2 กม.ใช้แรงงานของหน่วยงาน 958.1 กม.แล้วเสร็จ 844.5 กม. คิดเป็น 88.13% และจ้างเหมากรมราชทัณฑ์ 1,853.1 กม. แล้วเสร็จ 947.8 กม. คิดเป็น 51.15% อย่างไรก็ตาม เพื่อเร่งรัดและเตรียมความพร้อมรับฤดูฝน กทม.ได้จัดจ้างเอกชนล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำเพิ่มเติมใน 13 เขต คาดว่าจะเร่งรัดให้แล้วเสร็จได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้
ด้านการบำรุงรักษาสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำประจำปี 2566 จำนวน 430 แห่ง ประกอบด้วย สถานีสูบน้ำ 188 แห่ง และประตูระบายน้ำ 242 แห่ง ได้ตรวจเช็กระบบไฟฟ้า เครื่องจักร เครื่องสูบน้ำ ระบบน้ำมันหล่อลื่น การทำความสะอาด ทาสี เครื่องมืออุปกรณ์ แล้วเสร็จ 409 แห่ง เหลือ 21 แห่ง คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย.66 รวมทั้งบำรุงรักษาอุโมงค์ระบายน้ำแล้วเสร็จ 3 แห่ง โดยเก็บขยะและตะกอนตกค้างได้ประมาณ 55 ตัน พร้อมทั้งตรวจสอบความเสียหาย การทรุดตัวขององค์ประกอบอุโมงค์ ซ่อมแซมและหาแนวทางการแก้ไขระบบและอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อให้พร้อมใช้งาน
ขณะเดียวกันได้ซ่อมบำรุงเครื่องสูบน้ำและบ่อสูบน้ำทั้งหมดเรียบร้อยแล้วและปรับปรุงสถานีสูบน้ำคลองเตยที่ได้รับมอบจากกรมชลประทาน ซึ่งเริ่มใช้งานตั้งแต่ปี 2532 ปัจจุบันได้เปลี่ยนเครื่องสูบน้ำใหม่ 10 เครื่อง ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 2 เครื่อง พร้อมทั้งเปลี่ยนเครื่องเก็บขยะอัตโนมัติใหม่ 5 เครื่อง และติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง 3 เครื่อง รวมถึงใช้เทคโนโลยีระบบ SCADA สั่งการทำงานเครื่องสูบน้ำและเครื่องเก็บขยะอัตโนมัติ เพื่อลดกำลังจำนวนบุคลากรที่ใช้ในการปฏิบัติงาน
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำ โดยพัฒนาระบบพยากรณ์และการตรวจกลุ่มฝน AI-Nowcasting สามารถพยากรณ์ฝนล่วงหน้าได้ 3 ชั่วโมง ติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดสภาพอากาศและกล้องเพื่อดูสภาพอากาศและกลุ่มเมฆ 6 แห่ง เพื่อการนำเข้าข้อมูลและสามารถตรวจวัดฝนได้แม่นยำขึ้น รวมถึงพัฒนาระบบตรวจวัดน้ำท่วมบนถนน โดยติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดน้ำท่วมบนถนนและอุโมงค์ทางลอดรวม 108 แห่ง และจะพัฒนาระบบตรวจวัดน้ำท่วมบนถนนเพิ่มอีก 140 แห่ง ซึ่งจะติดตามพื้นที่ทั้ง 50 เขตในจุดเสี่ยงน้ำท่วมต่าง ๆ
ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์ฝนแบบเรียลไทม์ ผ่านทางผ่านเว็บไซต์ http://dds.bangkok.go.th/, www.prbangkok.com, Facebook:@BKK.BEST, สำนักงานประชาสัมพันธ์ Twitter:@BKK_BEST, สำนักงานประชาสัมพันธ์ และแจ้งเหตุปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ที่ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม โทร.0 2248 5115 หรือแจ้งผ่านระบบ Traffy Fondue และสายด่วน กทม.1555 ตลอด 24 ชั่วโมง
ข้อมูลจาก
1. ข้อมูล : สำนักการระบายน้ำ กทม.
2. http://innews.news/news.php?n=39410
3. https://pr-bangkok.com/?p=116869
4. https://siamrath.co.th/n/445859
5. https://www.thaipr.net/general/3336479