วันศุกร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2566

ถอดบทเรียน 3 ผู้บริหารไทย ที่ “กล้าขบถ ขนบเดิม” ต่อจิ๊กซอว์ความรู้สู่การปรับใช้จริง จากหลักสูตร Leading in a Disruptive World จาก SEAC




ความท้าทายของผู้นำยุคนี้ ไม่ใช่แค่การนำพาองค์กรให้พร้อมก้าวไปให้ทันความเปลี่ยนแปลงของโลกใบเดิมที่ไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไป แต่ในยุคที่แลนด์สเคปในโลกธุรกิจเปลี่ยนแปลงแบบติดสปีด แถมยังต้องรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ผู้นำที่แข็งแกร่งจึงต้องมองเห็นโอกาส และความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้า เพื่อกำหนดทิศทางให้องค์กรเดินไปข้างหน้าได้โดยไม่หลงทาง และสามารถพิชิตเป้าหมายที่ตั้งไว้ ต่อให้ระหว่างทางจะพบเจอกับอุปสรรคก็ตาม

คำถาม คือ เราจะเป็นผู้นำแบบนั้นได้อย่างไร?

เพื่อหาคำตอบดังกล่าว SEAC ผู้นำด้านการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและองค์กรเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต จึงได้จัดงาน “Breaking The Mold กล้าขบถ ขนบเดิม” งานเสวนาแลกเปลี่ยนข้อคิดที่ผู้บริหารได้จากโครงการ Leading in a Disruptive World หรือ LDW รุ่นที่ 5 ซึ่ง SEAC ร่วมกับ The Stanford Center for Professional Development มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ออกแบบหลักสูตรระดับเวิลด์คลาส เพื่อตอบโจทย์สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 เพื่อช่วยให้ผู้บริหารระดับสูง และเจ้าของธุรกิจนำองค์ความรู้ไปปรับใช้ได้จริง และนำพาองค์กรของตนสู่ความสำเร็จ โดยในงานนี้ได้รับเกียรติจากผู้บริหารและเจ้าของธุรกิจ มาเป็นตัวแทนบรรยายแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเคล็ดวิชาที่ได้ เพื่อนำไปต่อยอดสู่การสร้างนวัตกรรมในองค์กรของแต่ละท่าน ซึ่งมีทั้งธุรกิจครอบครัว องค์กรยักษ์ใหญ่ ตลอดจนมหาวิทยาลัยของไทย

‘อยากดีที่สุดในทุกเรื่อง’ ต้องหวนกลับมาดูทรัพยากร และเป้าหมายใหญ่

การตั้งเป้าหมายที่จะเป็น No.1 คือหมุดหมายใหญ่ที่ทุกองค์กรฝันจะไปให้ถึง หลายบริษัทพยายามทุกวิถีทาง ทำหลายอย่างพร้อมกัน ทั้งเป้าหมายเก่า และคิดค้นกลยุทธ์ใหม่ ๆ เข้ามาเสริมทัพ เพื่อพาองค์กรทะยานไปข้างหน้า จนกลายเป็นว่าองค์กรกำลังลุยทุกจุด แต่คุณศันสนา สุขะนันท์ รองกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย สายงานทรัพยากรบุคคล ก็ได้เปลี่ยนความคิดหลังจากเข้าร่วม LDW Project ครั้งที่ 5

“สิ่งที่คิดว่าจะนำมาต่อยอด คือ บางครั้งองค์กรลืมกลับมาดูว่าทรัพยากร (Resource) ซึ่งอาจจะหมายถึง เวลา คน และเงินทุน เพียงพอหรือตอบโจทย์เป้าหมายใหญ่ขององค์กรหรือไม่ แน่นอนว่าเรามาพร้อมความตั้งใจที่จะเป็นที่หนึ่งในทุกเรื่อง ก่อนหน้านี้ ฝั่ง HR เองเราก็อยากพัฒนาบุคลากรให้รองรับความต้องการดังกล่าว จึงผุดไอเดียใหม่ๆ กลยุทธ์งามๆ แตกแยกย่อยออกมาซ้อนทับกันเยอะจนพนักงานรับไม่ไหว และยังเสียทรัพยากรโดยไม่จำเป็นอีกด้วยในฐานะผู้บริหาร ต้องกลับมาใช้เวลามองภาพรวมใหญ่ขึ้น ว่าจะจัดสรรอย่างไร ทำไปเพื่ออะไร เป้าหมายต้องชัด ขณะเดียวกันเราต้องคิดถึงผู้นำองค์กรในอนาคต ที่พร้อมจะมานำองค์กร ไม่ว่าจะเจอการเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตาม เราต้องสร้าง Future Leader ที่คิดเป็น คิดต่อ และเกิดการ Apply

ทุกบทเรียนที่ได้เรียนเหมือนการต่อจุดที่สามารถเชื่อมโยงกันเป็นภาพใหญ่ เพื่อนำไปปรับใช้ในโลกการทำงานจริง เพราะในบทเรียนของ LDW ค่อนข้างครอบคลุม หลักสูตรมีการปูพื้นฐาน ตั้งแต่แนวคิดไปจนถึงเทคนิคในการนำแต่ละความรู้ไปปรับใช้รวมไปถึงมายด์เซ็ท นอกจากนี้ ทาง SEAC ยังช่วย unpack เพื่อ connect the dot ทำให้ผู้เรียนได้ตกผลึกว่า จะนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดอย่างไร สามารถนำมาร้อยเรียงเข้ากับสิ่งที่เป็นอยู่ได้ทันที ข้อคิดที่ได้คือ เราต้องหวนกลับมานึกถึงจุดที่เราเป็น สิ่งที่เรามี ดูว่าสิ่งที่กำลังทำนั้นทำไปทำไม จุดมุ่งหมาย อยู่ตรงไหน ซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุงการทำงานที่เฉียบคมมากขึ้นในท้ายที่สุด”

AI มาแน่ แต่ไม่ได้มาแทนในทุกเรื่อง

กระแสข่าว AI แย่งงานมนุษย์เป็นที่พูดถึงในช่วงหลายปีมานี้ และทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อมีการเปิดตัว ChatGPT บริการแชทบอทออนไลน์ที่ตอบได้ (เกือบ) ทุกคำถาม ช่วยวางแผนได้ทุกเรื่อง ทำคนไม่น้อยแตกตื่นกับยุค Digital Disruption ที่จะพรากสิ่งที่มนุษย์เคยทำไปเป็นของหุ่นยนต์ไร้ชีวิต ทว่าคุณเรืองชาย สุพรรณพงศ์ ประธานบริหารสายงานปฎิบัติการองค์กร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด ซึ่งมีโอกาสเข้าร่วมโครงการมาแล้ว 2 รุ่น กลับบอกว่าอาจไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป หลังกลับจากคลาสของ LDW รุ่นที่ 5 นี้

“ในช่วงหลายปีก่อน Digital Disruption ทำให้บริษัทผมดำเนินงานไปพร้อมกับความกลัว เราต้องไม่ช้า ต้องไม่ล้ำหน้าน้อยกว่าคนอื่น ต้อง Scale Up และเข้าถึงคนได้มาก เราสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ใช้เทคโนโลยีพัฒนาสิ่งที่เหนือกว่า ผ่านการใช้กำลังคนเพียงหยิบมือที่ทำพร้อมกันหลายหน้าที่ จนถึงจุดหนึ่งที่พนักงาน Burn out ไปต่อไม่ไหว

ในคลาสเรียน LDW ที่สแตนฟอร์ดครั้งนี้ ผมประหลาดใจมากที่ไม่มีใครพูดถึงแนวทางเก่าๆ แบบที่ผมเคยคิด นอกจากนั้น Professor ทุกคนพูดถึงเรื่อง AI กับ ChatGPT แต่ไม่มีใครพูดเรื่อง Blockchain เลย ทั้งที่ก่อนหน้านี้เรามองว่ามันเป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก AI คือสิ่งที่เมื่อองค์กรใดก็ตามนำมาใช้ควบคู่กับการพัฒนากลยุทธ์ได้อย่างสอดคล้องจะสามารถสร้างความแตกต่างได้อย่างดี แต่ AI มีจุดอ่อนตรงที่ไม่มีทักษะ 0-1 คือการนำ Data มาแยกย่อย จัดเรียง และคาดการณ์ด้วยอารมณ์ได้เหมือนมนุษย์ ฉะนั้นเส้นทางที่องค์กรต้องเดินหน้าไปคือการสร้างคนให้มีทักษะ 0-1 รวมถึงเรียนรู้ว่า AI ที่เปิดให้ใช้ในปัจจุบัน มี Tools อะไรที่นำมาประยุกต์กับการทำงานของเราได้บ้าง และส่งเสริมให้คนในองค์กรใช้งานให้เป็น ซึ่งการทำแบบนี้นอกจากจะประหยัดเวลา ยังเพิ่ม Capability ให้องค์กรได้อีกด้วย”

กล้าคิดนอกกรอบ สู่การ Reframe องค์กรที่เหนือกว่า

หลักสูตร LDW คาดหวังให้ผู้เข้าร่วมนำองค์ความรู้ที่ได้ไปปรับใช้เพื่อ Reframing หรือ ปรับโครงสร้างองค์กรให้ดีที่สุดสำหรับตนเอง ซึ่ง ผศ.นพ.บุญชัย หวังศุภดิลก รองคณบดีฝ่ายเวชสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ก็ได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า “อย่าติดกับดักในภาพเดิม คุณต้อง Reframe ตัวเองให้ได้ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ก็เป็นโรงพยาบาลหนึ่งที่มีจุดมุ่งหมายในการทำเพื่อสังคม เช่นเดียวกับสถาบันการแพทย์อื่นๆ แต่ในโลกยุคใหม่ เราอยากให้คนมองโรงพยาบาลในมุมใหม่ที่ก็มีความเป็นธุรกิจเช่นกัน โรงพยาบาลสงขลานครินทร์มีแผนที่จะทำธุรกิจเกี่ยวกับ Medical Tourism นั่นเป็นเหตุผลที่ผม และอาจารย์แพทย์อีกหลายๆ ท่านเข้าร่วมกับ LDW เพื่อเรียนรู้เรื่องธุรกิจ นำกลยุทธ์ที่ได้ไปปรับใช้ให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง เรามองว่าผู้บริหารโรงพยาบาลในอนาคตอาจไม่จำเป็นต้องเป็นหมออย่างเดียว แต่จะดีกว่าไหม หากเป็นคนที่มีลักษณะของผู้ประกอบการมากกว่า กล้าที่จะนำโมเดลธุรกิจขององค์กรอื่นๆ มาปรับใช้ เหมือนอย่างคีย์เวิร์ดหนึ่งที่ Professor ได้บอกว่า “การรีเฟรมองค์กร ไม่มีกรอบตายตัว” ในอนาคตโรงพยาบาลอาจจะเด่นทั้งด้านการรักษา และมีบริการที่ดีเลิศระดับเดียวกับโรงแรมห้าดาวเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ตนเองก็เป็นไปได้ สำคัญคือ หากเราเป็นทางลัดใดก็ตามที่มันจะช่วยนำพาเราไปยังโอกาสการเติบโตที่เหมาะสมก็เป็นสิ่งที่น่าลอง”

นอกจากนั้น คุณอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งซีแอค ก็ได้กล่าวถึงหัวใจสำคัญของการเรียนรู้และการจัดงานเสวนาครั้งนี้ในฐานะผู้นำไว้ด้วยว่า “ในขณะที่เรากำลังก้าวเข้าสู่ Knowledge Economy ความรู้สามารถหาได้จากหลายแหล่ง ทั้งอินเทอร์เน็ต หนังสือ ทั้งฟรี และไม่ฟรี แต่ซีแอคเชื่อว่า ไม่มีแหล่งความรู้ใดที่จะให้คุณค่าไปได้ดีกว่า “มนุษย์” ด้วยกันเอง เพราะการได้ฟังประสบการณ์ รวมถึงรับอาหารสมองจากปากของคนที่ผ่านการลงสนามมาด้วยตนเอง เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ และนำมาย่อยให้เราฟัง จะได้มุมมองที่ลึกซึ้งถึงแก่น

ในฐานะผู้บริหารและเจ้าของธุรกิจ เรามีหน้าที่ในการนำเรื่องยากๆ มาย่อยเป็นเรื่องง่ายๆ เพื่อส่งต่อไปยังพนักงาน เรียนรู้ที่จะ Improvise รับมือทุกตัวแปรที่ผ่านเข้ามาเป็นตัวอย่างให้กับบุคลากร หรือก็คือการปรับเปลี่ยนที่เริ่มจาก Top to Down เป็นหนทางสู่การเปลี่ยนแปลงองค์กรที่ยั่งยืน และซีแอคเชื่อว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการทำธุรกิจ หรือการเรียนรู้ในยุคใหม่นี้ คือ การเรียนรู้ที่นำไปสู่การปรับใช้ได้จริง เพื่อสร้างความสำเร็จและผลลัพธ์ที่แตกต่าง พร้อมรับมือกับทุกความเปลี่ยนแปลงในโลกยุคหลังโควิด-19”

สำหรับผู้บริหารที่สนใจเตรียมความพร้อมรับมือและต่อยอดโอกาสทางธุรกิจไปกับโปรแกรม Leading in a Disruptive World รุ่นที่ 6 สามารถติดต่อและสอบถามรายละเอียดได้ที่เพจ https://www.facebook.com/seasiacenter และเว็บไซต์ https://seasiacenter.com

* ดูอัลบั้มภาพได้ ที่นี่