วันพุธที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

งานแถลงข่าวเปิดตัวศูนย์นวัตกรรมการวิจัยและพัฒนาโกโก้ไทยเพื่อความยั่งยืน (ISTC) “ถึงเวลาโกโก้ไทยไประดับโกโก้โลก”




หลายปีที่ผ่านมาเกษตรกรไทยหันมาสนใจปลูกโกโก้กันมากขึ้น เพราะโก้โก้เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง มีตลาดนำเข้าขนาดใหญ่มูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และโกโก้ไทยมีรสชาติดีเป็นที่ต้องการของบริษัทผู้ผลิต อย่างไรก็ตาม ไทยยังผลิตโกโก้ได้น้อยและต้องนำเข้าเป็นส่วนใหญ่ เพราะเกษตรกรไทยเไม่มีความรู้ในการเพาะปลูกมากนัก พันธุ์ยังไม่เหมาะสมกับพื้นที่ ผลผลิตที่ได้ไม่มีคุณภาพ มีการขายกล้าพันธุ์แต่หาตลาดไม่ได้ ไม่มีคนรับซื้อ ผลผลิตจึงล้นตลาดและราคาตกต่ำ

เพราะความรู้ในการเพาะปลูกและการพัฒนาพันธุ์ให้เมล็ดขนาดใหญ่ เป็นหัวใจสำคัญในการสร้างให้โกโก้ไทยมีคุณภาพดี มีมาตรฐาน กลายเป็นที่ต้องการ และขายได้ราคาดี กาดโกโก้ บริษัทคนไทยของคุณปณิธิและคุณณัฐญา ชุณหสวัสดิกุล (คุณต้นและคุณต้า) สองสามีภรรยานักกฎหมายที่ผันตนเองมาทำงานกับเกษตรกรปลูกโกโก้ด้วยใจรักจึงเริ่มต้นขึ้น คุณต้นและคุณต้าหลงรักโกโก้และอยากทำจริงจัง อยากรู้จริง จึงเข้ารับการอบรมเรียนรู้ และสอบผ่านการเป็นผู้คัดเกรดตามมาตรฐาน Fine Cacao and Chocolate Institute (FCCI) ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นคนไทยคนแรกที่สอบได้มาตรฐานดังกล่าว กาดโกโก้จึงเข้าสู่ธุรกิจโกโก้ช็อกโกแลตด้วยความมุ่งมั่นที่จะยกระดับมาตรฐานการผลิต ด้วยการให้ความรู้ที่ถูกต้องกับเกษตรกร พัฒนาเมล็ดพันธุ์ให้มีคุณภาพดี มีขนาดใหญ่และเหมาะสมตรงตามความต้องการของตลาดโลก

หลังการทำงานกับเกษตรกรมาระยะหนึ่ง คุณต้นและคุณต้าตระหนักดีว่า “หากช่วยให้เกษตรกรมีความรู้ในการเพาะปลูก ปลูกได้เมล็ดพันธุ์คุณภาพดี จะทำให้เกษตรกรขายได้ราคาดี เพราะผู้รับซื้อต้องการ” คุณต้นยังแลกเปลี่ยนกับเราด้วยว่า “ช่วยให้เกษตรขายได้ราคาดีแล้วบริษัทได้อะไร กาดโกโก้ก็ได้เหมือนกันเพราะวัตถุดิบคุณภาพดีทำให้เราสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดี ได้มาตรฐานระดับโลก” อีกมุมมองที่สำคัญที่คุณต้นบอกกับเรา คือ “ผมเชื่อเว่า หากเกษตรกรปลูกและขายเมล็ดโกโก้คุณภาพดี เกษตรกรจะสามารถพลิกชีวิตตัวเองได้อย่างแน่นอน เพราะเมล็ดโกโก้ที่ได้มาตรฐานจะขายได้ราคาที่สูงขึ้น”

ด้วยวิสัยทัศน์ ให้ความรู้ที่ถูกต้องกับเกษตรกร พัฒนาเมล็ดพันธุ์ให้มีคุณภาพดี กาดโกโก้จึงร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเป็นผู้ก่อตั้งศูนย์นวัตกรรมการวิจัยและพัฒนาโกโก้ไทยเพื่อความยั่งยืน (ISTC) เป็นเป็นศูนย์กลางให้ความรู้กับเกษตรกรในการเพาะปลูกโกโก้ และมุ่งพัฒนาเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพเพื่อส่งต่อให้ผู้ผลิตนำไปผลิตเป็นสินค้าคุณภาพดีระดับโลก บทบาทร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการก่อตั้ง ISTC นี้นับเป็นก้าวแรกของกาดโกโก้ที่จะเริ่มเส้นทางการก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง และเป็นระดับโลกมากขึ้น เพราะกาดโกโก้จะแน่ใจว่า วัตถุดิบในทั้งสายการผลิตจะเป็นวัตถุดิบที่มีคุณภาพมาตรฐาน เมื่อผ่านองค์ความรู้และความชำนาญของกาดโกโก้ในการแปรรูป ผลิตภัณฑ์ของกาดโกโก้จึงเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพดี มาตรฐานโลก คุณต้นย้ำกับเราด้วยว่า “เมื่อกาดโกโก้ทำงานกับ ISTC แล้วทำให้เรามั่นใจอย่างมากว่า ณ ตอนนี้ เราพร้อมแล้วที่จะก้าวไปสู่ระดับโลกในฐานะช็อกโกแลตไทยในฐานะช็อกโกแลตยอดนิยมระดับโลก”

กาดโกโก้จะไม่หยุดเพียงเท่านี้ คุณต้นบอกเราว่า “การร่วมมือกับศูนย์ ISTC ไม่ใช่ขั้นตอนสุดท้ายแต่เป็นก้าวแรกของวิสัยทัศน์ของกาดโกโก้ที่จะนำพาบริษัทไปสู่ความยั่งยืนระดับโลกตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” เพราะ “โกโก้เป็นพืชที่เหมาะกับความยั่งยืนอย่างมากเพราะเป็นพืชที่สามารถใช้ได้จนหมดสอดคล้องกับหลักการ zero waste นอกจากนี้ โกโก้เป็นไม้ยืนต้น ในอนาคตกาดโกโก้พร้อมผลักดันให้ต้นโกโก้เป็นพืชที่สามารถปลูกเป็นป่าเพื่อขอรับ carbon credit ได้ และช็อกโกแลตของกาดโกโก้จะรักษาไว้ซึ่งความยั่งยืนตลอดขั้นตอนการผลิต โดยกาดโกโก้จะทำงานใกล้ชิดกับเกษตรกรทำให้ โกโก้ของกาดโกโก้จะไม่มาจากพื้นที่ที่ถูกถางป่า (deforestation) อย่างเด็ดขาด เพื่อสอดคล้องกับมาตรฐานของ European Green Deal และในอนาคตผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของกาดโกโก้จะยืนคู่กับการรักษาธรรมชาติโดยมีฉลากคาร์บอนที่ชัดเจน”

เส้นทางข้างหน้ายังอีกยาวไกล เราเริ่มจาก รัก (รักในโกโก้) ทำให้เรา เรียนรู้ (สอบมาตรฐาน FCCI) ไปสู่ร่วมมือ (กับเกษตรกรและ ISTC) เพื่อ พลิกชีวิต (พี่น้องเกษตร) และ พา ช็อกโกแลตไทยไปสู่ระดับโลก พร้อมกับความยั่งยืน หรือ เรียกง่ายๆ คือ จาก รัก สู่ รักษ์ (โลก) นั่นเอง