วันอังคารที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

พาเปิด 4 เส้นทาง ESG “ไปรษณีย์ไทย ตลาดหลักทรัพย์ กบข. กรมคุ้มครองสิทธิฯ” ชูแนวคิดความยั่งยืน มุ่งสร้างคุณค่าและการเติบโตสู่องค์กร


ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจากปัจจัยหลายๆ อย่าง อาทิ การเติบโตของเทคโนโลยี สถานการณ์โควิด - 19 ตลอดจนวิกฤตการณ์ภาวะโลกร้อน ที่เป็นตัวแปรสำคัญ ที่ทำให้วิถีชีวิตของคนทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไปทั้งในด้านความคิดและทัศนคติในการดำเนินชีวิต เช่นเดียวกับภาคธุรกิจที่ต่างต้องปรับตัวเพื่อให้องค์กรของตนเองอยู่รอด ผ่านแนวคิดในการดำเนินธุรกิจที่ต้องหันมาคำนึงถึงหลักสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social and Governance) หรือที่เรียกกันว่า ESG ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นหนึ่งในเทรนด์ที่ผู้ประกอบการทั่วโลกให้ความสนใจ และนำมาปรับใช้เพื่อขยาย ขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมช่วยสร้างคุณค่าและการเติบโตให้กับองค์กรในระยะยาวได้

ในขณะเดียวกัน บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ผู้ให้บริการสื่อสารและขนส่งแห่งชาติที่อยู่เคียงข้างคนไทยมากว่า 140 ปี สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการดำเนินงานที่ถูกปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย และความเป็นไปของโลกอยู่เสมอ มากไปกว่านั้นด้วยความตั้งใจที่จะสร้างเครือข่ายการเติบโตที่ยั่งยืน เพื่อคนไทย ไปรษณีย์ไทยจึงได้จับมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ร่วมเสวนา ESG Day: Networking for Sustainable Growth แชร์มุมมอง การดำเนินธุรกิจให้เติบโตควบคู่ความยั่งยืนทั้ง 3 มิติ พร้อมดึงเครือข่ายองค์กรชั้นนำทั้งภาครัฐและเอกชน กว่า 50 หน่วยงานร่วมงาน เพื่อเตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนแนวคิด ESG ในประเทศไทย

• 140 ปีแห่งความยั่งยืน ไปรษณีย์ไทยฉายภาพการดำเนินงานที่ขับเคลื่อนด้วยหลัก ESG

ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เผยมุมมองเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจด้วยหลัก ESG ซึ่งเป็นเคล็ดลับที่สร้างองค์กรให้ยั่งยืนมากว่า 140 ปี ว่า “ไปรษณีย์ไทย เรามอง ESG เป็นหลักพื้นฐานของการดำเนินธุรกิจ โดยหน้าที่หลักของไปรษณีย์ไทยคือเป็นผู้ส่งสาร ของคนไทยทุกคนและทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียม ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการดูแลบุคลากรให้มีความเชื่อมั่นและ มีทัศนคติที่ดีต่อองค์กร รวมทั้งนโยบาย การบริหารจัดการ และการให้บริการของเราให้ความสำคัญกับประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก เพราะเราเชื่อว่าปัจจัยเหล่านี้จะสามารถสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรได้"

“ในบทบาทของการเป็นผู้นำด้านโลจิสติกส์ และเป็นผู้เปิดเส้นทางต่างๆ ให้กับคนไทย ไปรษณีย์ไทย จึงได้มีการจัดกิจกรรม ESG Day : Networking for Sustainable Growth ขึ้น เพื่อให้องค์กรธุรกิจเครือข่ายได้มีโอกาสชี้นำแนวทางการทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล - ความยั่งยืน โดยในส่วนของไปรษณีย์ไทยเรามีนโยบาย “กรีนโลจิสติกส์” ที่เป็นการสร้างประสิทธิภาพการขนส่งควบคู่ไปกับการสร้างด้านสิ่งแวดล้อมที่ดี ให้ความสำคัญตั้งแต่การสร้างความตระหนักรู้ของคนในองค์กร การยกระดับส่วนงานต่างๆ ให้สอดรับกับสถานการณ์ทางด้านสิ่งแวดล้อม การพัฒนานวัตกรรมและเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการให้บริการภาคธุรกิจ - ประชาชน อีกทั้งยังมุ่งมั่นนำเทคโนโลยีในด้านการสื่อสารและขนส่งเพื่อสนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy Model ) ของรัฐบาล”

ดร. ดนันท์ฯ อธิบายให้เห็นภาพโดยยกตัวอย่างช่วงสถานการณ์โรคระบาดที่ส่งผลกระทบต่อ ภาคธุรกิจต่างๆ รวมไปถึงในภาคการส่งออก ไปรษณีย์ไทยจึงใช้จุดแข็งขององค์กรมาช่วยแก้ปัญหานี้ "ช่วงนั้น พี่น้องเกษตรกรต่างก็ประสบปัญหาปริมาณผลผลิตล้นตลาด เนื่องจากประเทศคู่ค้าต่างลดปริมาณการนำเข้าผลผลิตทางการเกษตรและลดการเดินทางมาท่องเที่ยวและอุดหนุนผลไม้ในไทย ไปรษณีย์ไทยจึงได้ออกมาตรการช่วยกระจายสินค้าสู่ผู้บริโภคทั่วประเทศผ่านโครงการต่างๆ ซึ่งหากมองในแง่ของการทำธุรกิจ โลจิสติกส์ก็ถือว่าเราเองก็สามารถสร้างความถี่ในการใช้บริการขนส่งของเราได้เช่นกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า หากองค์กรทำประโยชน์ให้กับสังคมไม่ว่ารูปแบบไหน ผลดีก็จะกลับสู่องค์กรของเราอย่างแน่นอน”

• ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ชูเครื่องมือสนับสนุนที่จะทำให้ ESG ไม่ใช่เรื่องยาก

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ปัจจุบันนักลงทุนทั่วโลกต่างให้ความสนใจกับองค์กรที่มีแผนการดำเนินงาน ESG โดยนักลงทุนจะนำข้อมูลเหล่านี้มาเป็นเครื่องมือสำหรับการประเมินผลการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของผู้ประกอบการเพื่อการตัดสินใจก่อนลงทุนกับธุรกิจนั้นๆ ด้วยเหตุนี้ ตลท.จึงมุ่งเน้นภารกิจเพิ่มคุณค่าตลาดทุนพร้อมกับการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย เพื่อดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ด้วยเครื่องมือสนับสนุนที่หลากหลาย เช่น หลักสูตรอบรม คู่มือ แนวปฏิบัติ การประเมินผลการดำเนินงานด้าน ESG การให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจในมิติต่างๆ พร้อมกับสร้างแพลตฟอร์มอำนวยความสะดวกในการทำ ESG ผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการ Care the Bear, Care the Wild และ Care the Whale เพื่อช่วยให้บริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยสามารถดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนได้ง่ายยิ่งขึ้น ทั้งในเรื่องการวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร การบริหารการจัดการขยะและของเสียขององค์กร รวมถึงช่วยจัดหาพื้นที่ในการเข้าไปช่วยฟื้นฟูป่าไม้ในประเทศไทยที่ ตลท. มีเครือข่ายในการจัดการให้ มีการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบและวัดผลออกมาเป็นรายงานประจำปีอย่างชัดเจนเพื่อให้องค์กรนั้นนำไปเปิดเผยต่อนักลงทุนได้

• สร้างความยั่งยืนผ่านการลงทุนกับ ESG

ดร.ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เผยมุมมองในฐานะนักลงทุนว่า “กบข. ให้ความสำคัญกับหลักการ ESG เป็นอย่างมาก โดยคำนึงอยู่เสมอว่าการลงทุนของเราอาจสร้างผลกระทบต่อสังคมได้ทุกเมื่อหากไม่ได้ตรวจสอบ เราจึงนำหลัก ESG มาใช้เป็นกรอบในการพิจารณาก่อนการลงทุนอยู่เสมอเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาในอนาคต และในอีกแง่ ESG ยังสามารถสร้างโอกาสและเพิ่มการเติบโตให้กับการลงทุนในอนาคตอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น หากบริษัทที่เราเข้าไปลงทุนเห็นโอกาสว่าตลาดยานยนต์ EV กำลังโต และหันมาปรับสายการผลิตให้เป็น EV ก็จะส่งผลให้เงินที่เราเข้าไปลงทุนนั้นเติบโตไปด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ในฐานะที่เป็นนักลงทุนเรายังมีศักยภาพมากพอที่จะช่วยผลักดันและส่งเสริมองค์กรต่าง ๆ ให้หันมาดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG ได้เช่นกัน”

• ESG ในเลนส์ของทรัพยากรมนุษย์

การทำงานของภาครัฐ ซึ่งเกี่ยวข้องกับประโยชน์ของประชาชนโดยตรง จึงไม่สามารถละทิ้งหลัก ESG ได้เลย นายธีรยุทธ แก้วสิงห์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า “หน่วยงานภาครัฐมีระเบียบการทำงานที่สอดคล้องกับการทำ ESG อยู่แล้ว หากไม่ปฏิบัติตามจะถือว่าบกพร่องในการทำงาน โดยภาครัฐมี 3 เสาหลักที่ต้องยึดเป็นแนวทางปฏิบัติงาน เสาที่ 1 คือ Protect หรือการคุ้มครองประชาชนไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในการประกอบกิจการ โดยต้องมีการออกนโยบายมากำกับการดำเนินงานไม่ให้คนในองค์กรถูกละเมิด เสาที่ 2 คือ Respect โดยการประกอบกิจการต่าง ๆ ต้องคำนึงถึงเรื่องของสิทธิมนุษยชน ต้องเคารพและแสดงความรับผิดชอบ จนนำไปสู่เสาที่ 3 คือ Remedy หากเกิดการละเมิด รัฐจะเข้ามาช่วยเหลือและเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยภาครัฐได้เชื่อมโยงแนวทางดังกล่าวสู่แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights: NAP) ซึ่งต้องการขับเคลื่อนทั้ง 4 มิติ ได้แก่ 1. ด้านแรงงาน เน้นการคุ้มครองสิทธิของแรงงานทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน 2. ด้านชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมความเสมอภาคและโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรและการบริการของภาครัฐอย่างเท่าเทียม 3. ด้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างกลไกการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และด้านสุดท้าย คือด้านการลงทุนระหว่างประเทศและบรรษัทข้ามชาติ เพื่อให้มีกลไกตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนนอกอาณาเขต เกิดการปกป้อง คุ้มครอง เยียวยาเช่นเดียวกับประชาชนในประเทศ”

ด้วยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายใหญ่ ล้วนส่งเสริมให้ ESG ในประเทศไทยกำลังมุ่งไปสู่มาตรฐานที่เป็นสากลยิ่งขึ้น เนื่องจากต้องอาศัยทั้งภาคกำกับ การออกนโยบาย มาตรการ ตลอดจนการลงมือปฏิบัติเพื่อสร้างร่วมกันสร้างให้และพัฒนาเศรษฐกิจไทย ให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน




* ดูอัลบั้มภาพได้ ที่นี่