วันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

SAPPE คว้ารางวัลจาก UN Women 2022 Thailand WEPs Awards ตอกย้ำการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงความเสมอภาคระหว่างเพศตลอดห่วงโซ่อุปทาน




นางสาวปิยจิต รักอริยะพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) หรือ SAPPE รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ในสาขาการตลาดที่คำนึงถึงมิติทางเพศ (Gender-Responsive Marketplace) จาก UN Women 2022 Thailand WEPs Awards ซึ่งเป็นงานประกาศรางวัลหนึ่งเดียวในไทยและเอเชียแปซิฟิก โดยองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ร่วมกับสหภาพยุโรป (EU) เพื่อเฟ้นหาธุรกิจต้นแบบที่ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และการส่งเสริมศักยภาพสตรี ตอกย้ำการดำเนินธุรกิจของ SAPPE ที่คำนึงถึงความเสมอภาคระหว่างเพศตลอดห่วงโซ่อุปทาน ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

นางสาวปิยจิต เปิดเผยว่า SAPPE มีปณิธานในการดำเนินธุรกิจคือ “เราจะทำให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้น ผ่านจิตวิญญาณที่สร้างสรรค์ของเรา” การรับรางวัล UN Women 2022 Thailand WEPs Awards ในสาขาการตลาดที่คำนึงถึงมิติทางเพศในครั้งนี้ นอกจากเป็นความภาคภูมิใจอย่างสูงสุดของพวกเราแล้ว ยังนับเป็นการการันตีว่าการดำเนินธุรกิจของเราได้ให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Value chain) อย่างเป็นรูปธรรม

SAPPE เป็นเจ้าของแบรนด์เครื่องดื่มนวัตกรรมและเป็นต้นกำเนิดของ Functional drink ในไทย สินค้าที่คุ้นเคยอย่างเซ็ปเป้ บิวติ ดริ้งค์ (Sappe Beauti Drink) นับเป็นแบรนด์แรกๆ ที่สื่อสารอย่างชัดเจนในการดูแลตัวเอง ครอบคลุมทุกความต้องการ เพื่อให้ผู้บริโภคมีสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น ดื่มแล้วเห็นผล ที่สำคัญหาซื้อได้ง่าย ราคาเอื้อมถึง หรือแบรนด์โมกุ โมกุ (Mogu Mogu) น้ำผลไม้ผสมวุ้นมะพร้าวชิ้นโต ที่เราส่งออกจำหน่ายใน 98 ประเทศ เพื่อให้คนทั่วโลกได้มีโอกาสดื่มเครื่องดื่มคุณภาพแบรนด์คนไทย จากผลผลิตของเกษตรกรไทย ปัจจุบัน SAPPE มี 12 แบรนด์สินค้า 5 categories และเรามุ่งมั่นตั้งใจคิดค้นพัฒนาเพื่อผู้บริโภค และจะส่งมอบไปยังลูกค้าให้กว้างมากที่สุด เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกพื้นที่ทั่วโลก มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นผ่านสินค้าของเรา

“นอกจากการผลิตสินค้าคุณภาพ การทำการตลาดที่สื่อสารอย่างจริงใจ และส่งมอบให้ถึงมือทุกคนอย่างเท่าเทียมแล้ว SAPPE ยังสนับสนุนเรื่องความเสมอภาคทางเพศในองค์กร ตั้งแต่การรับพนักงาน การจ้างงาน การพัฒนาศักยภาพ การโปรโมท ไปจนถึงความเป็นอยู่ในองค์กร ให้พนักงานที่มีความหลากหลายทางเพศและความคิด ได้ปลอดปล่อยศักยภาพ นำความแตกต่างมาร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ และมีความสุขกับการได้เป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ในด้านการจัดซื้อจัดจ้างเราคัดเลือกโดยให้ความสำคัญกับคุณภาพเป็นหลัก และร่วมพัฒนาซัพพลายเออร์ตลอดจนคู่ค้าทางธุรกิจของเราให้เติบโตควบคู่ไปด้วยกัน ด้านชุมชนและสังคม เราให้ความร่วมมือ สนับสนุนและช่วยเหลือทุกกลุ่มอย่างมีธรรมาภิบาลทั้งในยามปกติและในช่วงวิกฤติต่างๆ นอกจากนี้ เรายังเปิดเผยการดำเนินงานขององค์กรผ่านรายงานประจำปี เว็บไซต์บริษัท การนำเสนอผ่านสื่อมวลชน รวมทั้งสื่อ Social media ต่างๆ อย่างโปร่งใส เพื่อให้นักลงทุน ผู้ถือหุ้น และสาธารณชนทั่วไปได้รับทราบข้อมูลของบริษัทอย่างทั่วถึง” นางสาวปิยจิต กล่าว

รางวัล WEPs Awards ริเริ่มโดยสำนักงาน UN Women ภายใต้โครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรปชื่อ WeEmpowerAsia ซึ่งเพิ่งปิดตัวไปในต้นปีที่ผ่านมา ปัจจุบัน UN Women ยังมุ่งหน้าผลักดันเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศในภาคธุรกิจผ่านการจัดงานมอบรางวัล WEPs Awards โดยได้รับเกียรติร่วมจัดงานกับกระทรวงการต่างประเทศและการค้า (DFAT) ของประเทศออสเตรเลีย สหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพสากล สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย โดยจะมอบรางวัล WEPs Awards ให้แก่บริษัทและผู้นำองค์กรเอกชนที่อยู่เบื้องหลังความคิดริเริ่มผลักดันแนวปฏิบัติที่ส่งเสริมและเพิ่มขีดความสามารถของศักยภาพสตรีและความเท่าเทียมทางเพศ ผนวกกับความพยายามที่จะส่งเสริมการมีส่วนร่วมและบทบาทของสตรีในภาคธุรกิจของประเทศไทย ภายใต้หลักการเสริมสร้างศักยภาพสตรี (WEPs) 7 หลักการ ปัจจุบันมีบริษัทกว่า 7,000 แห่งจากทั่วโลกที่ได้ลงนามแสดงเจตจำนงค์และความมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจตามหลักการดังกล่าว และมีบริษัทกว่า 1,800 แห่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยบริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) ก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่ร่วมลงนาม

สำหรับรางวัลในสาขาการตลาดที่คำนึงถึงมิติทางเพศนี้ เป็นการยกย่องบริษัทที่คำนึงถึงความเสมอภาคระหว่างเพศผ่านห่วงโซ่อุปาทาน (supply chain) ของตนเอง ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การกำจัดของเสียจากธุรกิจ รวมถึงการยกย่องคู่ค้า การกระจายสินค้าที่คำนึงถึงความเสมอภาคระหว่างเพศ การขายและการประชาสัมพันธ์สินค้าที่คำนึงถึงความเสมอภาคระหว่างเพศ รวมถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการหญิงผ่านการพัฒนาศักยภาพ และการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาด การดำเนินโครงการหรือนโยบายจัดซื้อจัดจ้าง ที่ให้โอกาสกับผู้ประกอบการหญิงหรือบริษัทที่คำนึงถึงความเสมอภาคระหว่างเพศ นอกจากนี้ ยังรวมถึงการดำเนินการหรือโครงการซึ่งส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และเสริมศักยภาพผู้หญิงผ่านการโฆษณา กิจกรรมการขาย และกิจกรรมทางการตลาดอีกด้วย