วันพุธที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

CGTN: เซี่ยงไฮ้ชูนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นกำลังหลักขับเคลื่อนการพัฒนา


ปักกิ่ง - พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์ - เซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าของจีน ได้ดึงดูดนักวิทยาศาสตร์แถวหน้าของโลกให้มาร่วมงานสำคัญประจำปี นั่นคือ การประชุมเวิลด์ ลอเรียทส์ ฟอรัม (World Laureates Forum หรือ WLF) ซึ่งตอกย้ำว่าเซี่ยงไฮ้ชูนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพสูง

เวิลด์ ลอเรียทส์ ฟอรัม เป็นหนึ่งในการประชุมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีงานใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่เซี่ยงไฮ้นับตั้งแต่ปี 2561 โดยการประชุมครั้งที่ 5 ได้เปิดฉากขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาในหัวข้อ “วิทยาศาสตร์ก้าวหน้า สร้างอนาคตสดใส” (Science forward: Create a bright future)

นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำมากกว่า 60 คน จากกว่า 20 ประเทศและดินแดน ซึ่งรวมถึงผู้ได้รับรางวัลโนเบล 27 คน ได้เข้าร่วมงานสองวันทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์

นักวิทยาศาสตร์สองคนคว้ารางวัล WLA Prize

ในพิธีเปิดการประชุมเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาได้มีการมอบรางวัลเวิลด์ ลอเรียทส์ แอสโซซิเอชัน (World Laureates Association (WLA) Prize) ซึ่งเป็นรางวัลวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติที่ก่อตั้งขึ้นในเซี่ยงไฮ้เมื่อปี 2564 ให้แก่นักวิทยาศาสตร์สองคน

รางวัลสาขาชีววิทยาศาสตร์หรือการแพทย์ ประจำปี 2565 มอบให้แก่คุณเดิร์ก เกอร์ลิก (Dirk Görlich) นักชีวเคมีชาวเยอรมัน จากการค้นพบที่สำคัญซึ่งช่วยให้เข้าใจกลไกและการคัดเลือกโปรตีนที่ส่งผ่านระหว่างไซโตพลาสซึมกับนิวเคลียส และรางวัลสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์หรือคณิตศาสตร์ ประจำปี 2565 มอบให้แก่คุณไมเคิล ไอ. จอร์แดน (Michael I. Jordan) นักวิจัยชาวอเมริกัน จากคุณูปการในการวางรากฐานด้านแมชชีนเลิร์นนิงและการประยุกต์ใช้

นอกจากเหรียญรางวัลและประกาศนียบัตรแล้ว แต่ละท่านยังได้รับเงินรางวัล 10 ล้านหยวน (ราว 1.39 ล้านดอลลาร์)

รางวัล WLA Prize ริเริ่มโดยเวิลด์ ลอเรียทส์ แอสโซซิเอชัน และดำเนินการมอบรางวัลโดยมูลนิธิ WLA Foundation โดยมีเป้าหมายเพื่อเชิดชูและสนับสนุนนักวิจัยทั่วโลกที่สร้างคุณูปการทางวิทยาศาสตร์ โดยรายชื่อผู้ได้รับรางวัล WLA Prize ครั้งแรกได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อมวลมนุษยชาติ

เวิลด์ ลอเรียทส์ แอสโซซิเอชัน ก่อตั้งขึ้นด้วยวิสัยทัศน์ “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อโชคชะตาร่วมกันของมวลมนุษยชาติ” โดยมีภารกิจสำคัญสามประการในการส่งเสริมวิทยาศาสตร์พื้นฐาน สนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศ และผลักดันการพัฒนานักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ คุณโรเจอร์ คอร์นเบิร์ก (Roger Kornberg) ประธานของเวิลด์ ลอเรียทส์ แอสโซซิเอชัน และผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีในปี 2549 กล่าว

เขากล่าวว่า ท่ามกลางโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง วิทยาศาสตร์สามารถช่วยผู้คนรับมือกับความท้าทายและแก้ปัญหาได้อย่างสมบูรณ์ในอนาคต และการประชุมนี้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้สื่อสารกับผู้เชี่ยวชาญชั้นนำระดับโลก

ในช่วงหลายปีมานี้ การประชุมเวิลด์ ลอเรียทส์ ฟอรัม ได้กลายเป็นช่องทางสำคัญในการเชื่อมโยงนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำจากทั่วโลกกับเวทีเสวนาระดับสูงที่มีความสำคัญสำหรับชุมชนวิทยาศาสตร์ทั่วโลก

คุณว่าน กัง (Wan Gang) ประธานสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีน (CAST) กล่าวว่า จีนแสดงให้เห็นว่า จีนให้ความสำคัญกับการขยายการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างประเทศ ในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20

“ชุมชนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนจะยึดมั่นในคุณค่าร่วมกันของมวลมนุษยชาติ และปฏิบัติตามแนวคิดวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อความดี” เขากล่าว

เซี่ยงไฮ้ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับโลก

คุณเฉิน จี่หนิง (Chen Jining) เลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำนครเซี่ยงไฮ้ กล่าวในพิธีเปิดการประชุมว่า เซี่ยงไฮ้มีพัฒนาการอย่างมากในด้านความแข็งแกร่งทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตลอด 8 ปีที่ผ่านมา โดยนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ในเดือนกันยายน 2564 เซี่ยงไฮ้ได้ประกาศแผนพัฒนาห้าปี ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2564-2568) เพื่อสร้างตัวเองให้กลายเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีอิทธิพลในระดับโลก

แผนดังกล่าวระบุว่า เซี่ยงไฮ้จะเพิ่มการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา หรือสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาต่อจีดีพีเป็น 4.5% ภายในปี 2568 ในจำนวนนี้ สัดส่วนของเงินทุนเพื่อการวิจัยขั้นพื้นฐานจะสูงถึง 12%

นอกจากนี้ เซี่ยงไฮ้ยังตั้งเป้าที่จะเพิ่มมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงกลยุทธ์เป็น 20% ของจีดีพีภายในปี 2568 ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายโดยรวมของประเทศ 3 จุดเปอร์เซ็นต์

ภายในปี 2568 เซี่ยงไฮ้ตั้งเป้าว่าจะมีบริษัทไฮเทคมากกว่า 26,000 แห่ง รวมถึงศูนย์วิจัยและพัฒนาที่ได้รับทุนสนับสนุนจากต่างชาติ 560 แห่ง

“ความร่วมมือและการเปิดกว้างเป็นเทรนด์ที่ไม่มีใครหยุดยั้งได้" คุณเฉินกล่าว พร้อมเสริมว่าเซี่ยงไฮ้จะเดินหน้าสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมที่มีคุณภาพดีขึ้น รวมถึงให้บริการที่สะดวกสบายแก่นักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลก และสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจระดับเฟิร์สคลาสต่อไป