ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ที่ผ่านมา กองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) จัดกิจกรรมการถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะกระบวนการแปรรูปมะม่วงผงอบแห้งและมะม่วงพิวเร ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจการผลิตผลไม้ไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (DIPROM Fruit Creation) ให้แก่กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่มะม่วง วิสาหกิจชุมชน OTOP ผู้ประกอบการ SMEs ในพื้นที่ โดยได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการเข้าร่วมกิจกรรม 37 กิจการ อาทิ บริษัท สยามฟรุ๊ตการ์เด้น จำกัด บริษัท ฟู้ดอินโนวิส จำกัด บริษัท มุกมณีพรีเมี่ยมฟรุต จำกัด วิสาหกิจชุมชนสุดยอดเกษตรอินทรีย์ วิสาหกิจชุมชนคนรักเกษตร กลุ่มแม่บ้านหนองหญ้าปล้องแปรรูปผลไม้และน้ำสมุนไพรตามฤดูกาล เป็นต้น ณ อาคารโรงเรียนการอาหารนานาชาติเพชรบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี จ.เพชรบุรี
ทั้งนี้การอบรมเชิงทฤษฎีเป็นการบรรยาย หลักการแปรรูปขั้นต้น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์จากมะม่วง และการอบรมเชิงปฏิบัติการที่ทุกคนได้ฝึกกระบวนการแปรรูปตั้งแต่เริ่มต้นจนสำเร็จออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ 2 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ มะม่วงผงอบแห้ง และมะม่วงพิวเร ผู้เข้าอบรมสามารถนำความรู้กลับไปประยุกต์กับกิจการของตนเพื่อลดการสูญเสียของผลผลิตมะม่วง เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน สร้างโอกาสทางการตลาดใหม่ และเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ให้แก่กิจการตนเองไม่น้อยกว่าร้อยละ 10
อนึ่ง โครงการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจการผลิตผลไม้ไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (DIPROM Fruit Creation) มีวัตถุประสงค์ เพื่อยกระดับสินค้าเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) วิสาหกิจชุมชน OTOP ที่เกี่ยวข้องกับผลไม้ และเพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดความสูญเสียอาหาร (Food loss & Food waste) ในปี 2565 นอกจากมะม่วงแล้วยังดำเนินการพัฒนา อะโวคาโด และฝรั่ง อีกด้วย โดยมีเป้าหมายจัดให้มีกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะกระบวนการแปรรูปผลไม้รวม 14 จังหวัดครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ มีผู้เข้าร่วมอบรมไม่น้อยกว่า 705 คน แบ่งเป็น 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตร เพิ่มศักยภาพการแข่งขันผู้ประกอบการเป้าหมายด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มผลไม้ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการแปรรูปอาหาร เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัตถุดิบแปรรูปเบื้องต้น (intermediate products) ให้มีอายุเก็บรักษานานขึ้น สามารถนำไปใช้เป็นส่วนผสมในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ธุรกิจบริการอาหารและเครื่องดื่มได้ เช่น การทำเป็นผง (fruit powder) การทำเป็นเนื้อผลไม้เข้มข้น (puree) และการแช่แข็ง (frozen) โดยการอบรมในลักษณะเดียวกันนี้มีเป้าหมายจัดอบรมให้ครบ 9 รุ่น มีผู้เข้าอบรมรวม ไม่น้อยกว่า 405 คน ซึ่งได้ดำเนินการอบรมไปแล้วที่ จ.ตาก เชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก นครสวรรค์ และเพชรบุรี โดยลำดับต่อไปจะจัดที่ จ.ขอนแก่น ราชบุรี และนครปฐม
สำหรับหลักสูตรที่ 2 กิจกรรมเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ ด้วยเมนูผลไม้เพื่อสุขภาพ ซึ่งเน้นการนำวัตถุดิบแปรรูปเบื้องต้น (intermediate products) จากหลักสูตรที่ 1 มาประยุกต์เป็นเมนูอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเชื่อมโยงให้เกิดการต่อยอดจากสินค้าที่โรงงานแปรรูปผลิตเข้าสู่ธุรกิจบริการอาหาร ซึ่งจะช่วยให้มีวัตถุดิบที่มีคุณภาพสม่ำเสมอ สามารถควบคุมคุณภาพและรสชาติของเมนูที่ให้บริการได้ โดยมีเป้าหมายการจัดอบรม 6 รุ่น ผู้เข้าอบรมรวม ไม่น้อยกว่า 300 คน มีแผนการจัดอบรมที่ จ.กรุงเทพมหานคร ชลบุรี สมุทรสงคราม เพชรบูรณ์ และภูเก็ต ระหว่างวันที่ 9 – 23 พ.ย. 2565
นอกจากนี้จะได้มีการคัดเลือกผู้เข้าอบรมจำนวน 15 กิจการ เข้าร่วมอีกหนึ่งกิจกรรมที่สำคัญ คือการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจะเข้าให้คำแนะนำกระบวนการแปรรูป การควบคุมคุณภาพสินค้า รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดต้นทุน โดยจะมีการสนับสนุนการออกแบบหรือจัดทำฉลากพร้อมบรรจุภัณฑ์ต้นแบบ นำสินค้าส่งตรวจวิเคราะห์ด้านความปลอดภัยอาหาร พร้อมให้คำแนะนำการเตรียมความพร้อมเพื่อยื่นขออนุญาตเลข อย. ผลิตภัณฑ์ คาดจะช่วยเพิ่มรายได้ให้ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 10