วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

จีนทุ่มทุนสร้างคลองผิงลู่ มุ่งกระชับความสัมพันธ์จีน-อาเซียนให้แน่นแฟ้นกว่าเดิม


หนานหนิง, จีน - ซินหัว-เอเชียเน็ท/อินโฟเควสท์ - ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีนี้ การค้าระหว่างจีนกับอาเซียนมีมูลค่าถึง 4.7 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้น 15.2% และคิดเป็น 15.1% ของยอดการค้าต่างประเทศทั้งหมดของจีน การส่งออกไปอาเซียนเพิ่มขึ้น 22% เป็น 2.73 ล้านล้านหยวน ส่วนการนำเข้าจากอาเซียนเพิ่มขึ้น 6.9% เป็น 1.97 ล้านล้านหยวน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าจีนและอาเซียนต่างเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกันและกัน

การมีผลบังคับใช้ของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP) ทำให้ความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างจีนกับอาเซียนเพิ่มโอกาสมากขึ้นเรื่อย ๆ และไม่ต้องสงสัยเลยว่าการค้าระหว่างจีนกับอาเซียนจะยังคงขยายตัวต่อไปอย่างรวดเร็วในอนาคต ยิ่งไปกว่านั้นจีนกำลังทุ่มเทความพยายามอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการพัฒนาดังกล่าวนี้ ด้วยการขุดคลองผิงลู่ (Pinglu Canal) ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ซึ่งอยู่ติดกับกลุ่มอาเซียน ด้วยความตั้งใจที่จะเร่งการขนส่งสินค้าระหว่างจีนกับอาเซียน

การขุดคลองผิงลู่ ซึ่งตามแผนมีความยาวรวมประมาณ 135 กิโลเมตร และคาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวมกว่า 7.2 หมื่นล้านหยวน ได้เริ่มขึ้นแล้วเมื่อเดือนสิงหาคมปีนี้ โดยมีกำหนดจะเปิดให้เดินเรือได้ใน 4 ปี และได้รับการออกแบบให้รองรับเรือขนาด 5,000 ตันได้ โดยบริษัท ผิงลู่ คาแนล กรุ๊ป จำกัด (Pinglu Canal Group Co., Ltd) ระบุว่า คลองผิงลู่จะมีต้นทางจากอำเภอเหิงโจวของเมืองหนานหนิง และเข้าสู่อ่าวเป่ยปูผ่านทางแม่น้ำฉินเจียงในเขตหลิงซานของเมืองฉินโจว

อู่ เผิง (Wu Peng) ผู้เชี่ยวชาญในการวางแผนและออกแบบโครงการคลองผิงลู่ กล่าวว่า “คลองผิงลู่จะเป็นคลองบุกเบิกในประวัติศาสตร์ของการขุดคลองในประเทศจีน เนื่องจากเป็นคลองที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาคลองประเภทเดียวกัน โดยเรือภายในประเทศจะแล่นตรงออกทะเลได้ และเมื่อขุดแล้วเสร็จ ก็จะกลายเป็นคลองที่พลุกพล่านมาก ซึ่งจะขึ้นชื่อทั้งในเรื่องการขนส่งสินค้าจำนวนมาก เรือขนาดใหญ่ และเรือจำนวนมาก”

ในอดีตนั้น สินค้าจากพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนจะออกทะเลโดยทางน้ำได้ จะต้องผ่านแม่น้ำแยงซีหรือแม่น้ำซีเจียง เพราะไม่มีแม่น้ำที่ไหลลงใต้สู่ทะเลโดยตรง ปากแม่น้ำแยงซีตั้งอยู่ทางตะวันออกของจีน ห่างจากเทศบาลนครฉงชิ่งซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศราว 2,000 กิโลเมตร ขณะที่ปากแม่น้ำซีเจียงอยู่ในกว่างโจวทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งช่องทางออกทะเลทั้งสองช่องทางนี้ใช้เวลาในการเดินทางนานมาก

“คลองผิงลู่จะเปิดช่องทางใหม่ให้กับแม่น้ำซีเจียงเพื่อออกสู่ทะเลในระยะทางที่สั้นที่สุด โดยเมื่อผ่านคลองผิงลู่ การเดินทางโดยทางบกของสินค้าจากภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้สู่ทะเล จะสั้นลงกว่า 560 กิโลเมตร เมื่อเทียบกับการเดินทางผ่านกว่างโจว” เฉิน หงฉี (Chen Hongqi) เลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ด้านกรมการขนส่งของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง กล่าวว่า เมื่อขุดคลองเสร็จ ภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้และตะวันตกเฉียงเหนือของจีนจะมีเส้นทางที่สั้นที่สุด ประหยัดที่สุด และสะดวกที่สุดในการออกสู่ทะเล

จากการวิเคราะห์ของบุคคลในวงการ คลองผิงลู่จะเปิดเส้นทางสู่ทะเลเส้นใหม่ คือ ซีเจียง โกลเดน วอเตอร์เวย์ (Xijiang Golden Waterway) สร้างวงเวียนช่องทางน้ำระหว่างแม่น้ำกับทะเลที่จะเชื่อมต่อกับบริเวณอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าของกว่างซีและภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนกับกลุ่มประเทศอาเซียนและ RCEP ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง และบูรณาการกว่างซีและภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนเข้ากับการสร้างชุมชนที่จะให้ผลประโยชน์กับจีน-อาเซียนได้ดียิ่งขึ้น

เมื่อโครงการแล้วเสร็จ คลองใหม่จะไม่เพียงแต่อำนวยความสะดวกให้การค้าระหว่างจีน-อาเซียนเท่านั้น แต่ยังจะสร้างโอกาสมหาศาลให้กับกว่างซีซึ่งเป็นที่ตั้งของคลองเส้นนี้อีกด้วย ปัจจุบันพื้นที่ริมคลองเริ่มใช้ปัจจัยการผลิต และอุตสาหกรรมใกล้ท่าเรือรอบโครงการและท่าเรือชายฝั่งมากขึ้น และหลังจากที่คลองเดินเรือได้ อุตสาหกรรมสนับสนุนที่มีตลอดเส้นทางเหล่านี้ก็จะมีความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างมาก

หนานหนิงซึ่งเป็นเมืองเอกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง และเป็นจุดเริ่มต้นของคลองผิงลู่ กำลังวางแผนสร้างเมืองใหม่หนานหนิงตะวันออก (Nanning East New Town) โดยริเริ่มที่จะบูรณาการเข้าสู่แถบเศรษฐกิจคลองผิงลู่ บ่มเพาะกลุ่มอุตสาหกรรมใกล้ท่าเรือที่ได้เปรียบ และสร้างฐานการผลิตยานยนต์พลังงานใหม่และชิ้นส่วนอะไหล่อย่างแข็งขันเพื่อรองรับตลาดอาเซียน ด้วยวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเมืองใหม่หนานหนิงตะวันออกให้เป็น “นิคมอุตสาหกรรมต้นแบบเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเล”

“เมื่อขุดแล้วเสร็จ คลองจะนำมาซึ่งโอกาสอันยิ่งใหญ่สู่กว่างซี และส่งเสริมการก่อตัวของโครงสร้างที่เปิดกว้างรอบด้าน โดยมีลักษณะที่เชื่อมโยงถึงกันทั้งในประเทศและต่างประเทศ การเชื่อมโยงระหว่างแผ่นดินกับทะเล และความสอดคล้องระหว่างตะวันออกกับตะวันตก โครงการนี้จะเปลี่ยนรูปแบบอุตสาหกรรม โครงสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของกว่างซีอย่างลึกซึ้ง และขับเคลื่อนกว่างซีให้เร่งการเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นท่าเรือเกตเวย์ระหว่างประเทศและท่าเรือศูนย์กลางระหว่างประเทศแห่งอ่าวเป่ยปู” โอวหยาง ปิน (Ouyang Bin) สมาชิกคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ด้านกรมการขนส่งของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง กล่าว

ที่มา: บริษัท ผิงลู่ คาแนล กรุ๊ป จำกัด