คุณเคยคิดไหมครับว่าบ้านที่ลงตัวกับคนไทยสมัยนี้มันจะเป็นอย่างไร ? ขอเชิญพบกับ
IDEA Concept บ้านหลังใหม่ของสัมมากร
บ้านที่สร้างจากข้อมูลพฤติกรรมการอยู่อาศัยของคนไทย พวกเขาเข้าใจดีว่าตลอด 50
ปีที่ผ่านที่อยู่อาศัยแบบเดิมมันไม่ตอบโจทย์ เพราะ
ด้วยกระแสของการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่างในยุคปัจจุบัน
ทำให้การแข่งขันในโลกธุรกิจนั้นมีความต้องการทั้งในเชิงคุณภาพและความรวดเร็วเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว
คนต้องทำงานอย่างหนักเพื่อแข่งขันกับเวลา
นอกจากนั้นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่บรรจุอยู่ในอุปกรณ์สมาร์ทดีไวซ์ต่างๆ
ทำให้ผู้คนพร้อมที่จะทำงานได้ทุกที่ ทุกเวลา
และถูกตามตัวหรือตามงานได้ง่ายขึ้นไปอีก
สิ่งที่ตามมาจากการต้องทำงานหนักมากขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันในเวลาที่จำกัด
ก็คือจำนวนเวลาบนหน้าปัดนาฬิกาที่ใช้ร่วมกับครอบครัวถูกลดลงจนแทบไม่เหลือ
ต่างคนต่างต้องทำงานเพื่อหาเงินให้ทันค่าครองชีพ สร้างความมั่นคงให้ครอบครัว
เมื่อคนในวัยทำงานอย่างพ่อแม่ไม่มีเวลาให้กับสถาบันพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในสังคมอย่างครอบครัว
สมาชิกที่เหลือจึงต้องแสวงหาความสุข
และสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับคนภายนอกผ่านสื่อสังคมออนไลน์และเหล่าแอพพลิเคชั่นที่ตบเท้าเข้ามาแย่งพื้นที่และเวลาของเรา
เราจึงได้เห็นความสัมพันธ์ภายในครอบครัวของคนในยุคสมัยนี้ที่ระยะห่างระหว่างสมาชิกถูกถ่างให้กว้างขึ้นอย่างมีนัยยะ
แต่ละคนต่างต้องการเวลาส่วนตัวมากขึ้น รวมถึงระบบการขนส่งที่ถูก disrupt
จนเกิดเป็นยุคที่แอพพลิเคชั่นต่าง ๆ
ทำให้เราสะดวกจนไม่ต้องคำนึงถึงคนในครอบครัวในการจัดการเรื่องอาหารแบบคนสมัยก่อนอีกต่อไป
แต่ละคนสามารถเลือกทานอาหารในแบบที่ชอบและเวลาที่ใช่ได้ด้วยตัวเอง
จากความเปลี่ยนแปลงที่ว่ากลายเป็นที่มาของ ‘The Broken Home’
โครงการบ้านพักอาศัยที่ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิด
‘บ้านที่เหมาะกับพฤติกรรมคนในปัจจุบัน’ ที่ IF และชูใจ
ร่วมกันรับหน้าที่ออกแบบพื้นที่อันแสนคุ้นเคยแห่งนี้ให้สามารถสร้างประโยชน์สูงสุด
และตอบรับกับวิถีชีวิตของคนในปัจจุบันที่เรียนรู้ที่จะค้นหาว่าอะไรคือสิ่งที่ใช่และไม่ใช่สำหรับบ้านของพวกเขา
The Broken Home ถูกออกแบบให้เป็นบ้านในฟอร์มมินิมอลทรงกล่องที่เรียบง่าย
มีการจัดองค์ประกอบภายในให้สอดคล้องไปกับรูปแบบการใช้ชีวิตของของสมาชิกในบ้าน
โดยความพิเศษของบ้านหลังนี้ก็คือการยกไลฟ์สไตล์และรูปแบบความสัมพันธ์ของครอบครัวคนไทยในยุค
Digital Disruption มาเป็นตัวนำในการออกแบบ
(1)จากสถิติที่คนไทยในปัจจุบันใช้เวลาไปกับครอบครัวเพียง 3 ชั่วโมง ซึ่งคิดเป็น
12% ของเวลาทั้งหมด
ทำให้ครอบครัวจากที่มีความสัมพันธ์แบบใกล้ชิดสู่การขีดเส้นความเป็นส่วนตัวที่ชัดเจนขึ้นในปัจจุบัน
และส่งผลต่อความต้องการของเจ้าของบ้านที่เปลี่ยนไป
การจัดระเบียบพื้นที่ภายในบ้านจึงมีการลดสัดส่วนพื้นที่ส่วนกลางที่สมาชิกมักใช้ทำกิจกรรมร่วมกันจาก
40% ของบ้านทั่วๆ ไป มาเป็น 12% เพื่อรองรับการใช้งานร่วมกันเท่าที่จำเป็น
ขณะเดียวกัน (2)ยังมีการพบ #เบื่อพ่อแม่ ถูกทวีตกว่า 18,000 ครั้งบนทวิตเตอร์
และมีแนวโน้มมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งความจริงดังกล่าวได้นำไปสู่การลดขนาดและฟังก์ชั่นใช้งานของ family hall
จากเดิมที่จะเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่และใช้ในการพบปะพูดคุย
ไปสู่พื้นที่ขนาดเล็กลงและถูกหน้าที่ลงให้กลายเป็นเพียงแค่ทางเชื่อมเพื่อเข้าสู่พื้นที่ส่วนตัวโดยไม่ต้องเห็นหน้ากันได้
นอกจากนี้ (3)ด้วยค่านิยมของคนไทยที่หันมาสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่มากขึ้น
ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 120 ล้านออเดอร์
ห้องครัวของที่นี่จึงถูกออกแบบให้มีขนาดกะทัดรัด
พร้อมอุปกรณ์ช่วยอุ่นอาหารแบบง่ายๆ
อย่างไมโครเวฟเพื่อใช้ในการอุ่นอาหารของใครของมัน
รวมถึงการสร้างช่องทางสำหรับใช้ในการรับส่งพัสดุและอาหารจากหน้าบ้านเข้ามายังพื้นที่ภายในสำหรับสนับสนุนการสั่งซื้อของทางออนไลน์และการสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ที่เพิ่มมากขึ้น
ในส่วนโต๊ะทานอาหารก็สามารถดึงฉากกั้นได้จากเพดาน
ซึ่งจะช่วยสร้างความเป็นส่วนตัวขณะรับประทานและตอบรับกับพฤติกรรม
(4)การใช้มือถือของคนไทยที่มากเป็นอันดับ 3 ของโลก
โดยโต๊ะทานข้าวที่สามารถแบ่งออกเป็นคอกๆ
ดังกล่าวยังจะช่วยให้แสงและเสียงจากมือถือไม่ไปรบกวนกันและกันหากมีการใช้เครื่องมือสื่อสารหรือสมาร์ทดีไวซ์ต่างๆ
พร้อมกัน ซึ่งมีการติดตั้งที่วางและที่ชาร์จเพื่อความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นด้วย
เมื่อพื้นที่ส่วนกลางลดลง พื้นที่ส่วนตัวจึงมากขึ้นตามไปด้วย
การออกแบบรายละเอียดที่ให้ความเป็นส่วนตัวในทุกรายละเอียดของการใช้ชีวิตสำหรับสมาชิกแต่ละคนจึงเป็นโจทย์สำคัญของบ้านหลังนี้
เลย์เอาท์และลำดับการเข้าถึงพื้นที่ได้ถูกปรับเปลี่ยนใหม่ให้สวนทางกับผังบ้านทั่วไป
ที่เมื่อเข้ามาสู่ตัวบ้านสมาชิกจะสามารถเข้าสู่ห้องของส่วนตัวผ่านบันไดของแต่ละคนได้ทันที
มีการแยกทางเข้าระหว่างห้องของผู้อยู่อาศัยแต่ละคนอย่างชัดเจนตามแกนทั้งสี่ของลักษณะแปลนบ้านแบบ
X-Shape และเมื่อเวลาที่ต้องการใช้เวลาร่วมกับครอบครัวหรือใช้พื้นที่ส่วนกลาง
สมาชิกก็สามารถเปิดประตูจากด้านในห้องส่วนตัวออกมาพื้นที่ตรงกลางของบ้านได้
ในส่วนของห้องคุณพ่อ
ถูกออกแบบให้สามารถรองรับ(5)พฤติกรรมของคนไทยที่ทำงานหนักทำงานหนักอันดับ 1
ของเอเชีย ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 10 ชั่วโมง / วัน โดยภายในจะมีความสะดวกสบาย
ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งสกายไลท์ให้สามารถรับแสงธรรมชาติได้ การนำ LED
มาใช้เพื่อให้มีคุณภาพแสงอย่างเพียงพอและสามารถปรับแสงสว่างให้เหมาะสมกับการทำงานได้ตลอดทั้งวัน
รวมถึงการออกแบบพื้นที่ทำงานจะที่ช่วยสร้างเวิร์คโฟลว์ที่ดีและสามารถตอบสนองการทำงานแบบไร้รอยต่อได้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม
ขณะที่ห้องคุณแม่จะถูกดีไซน์สำหรับใช้ทำกิจกรรมและงานอดิเรกแบบที่ชอบ
เป็นต้นว่าการออกกำลังกายภายในบ้าน หรือการมีมุมสำหรับสัตว์เลี้ยง
หนึ่งในสมาชิกคนสำคัญของครอบครัว
สำหรับห้องของลูกๆ
เป็นการออกแบบให้สามารถใช้ชีวิตและทำกิจกรรมส่วนตัวได้ตามต้องการอย่างแท้จริง
ไม่ว่าจะเป็นการใช้ผนังซ่อนเฟอร์นิเจอร์ที่องค์ประกอบจำเป็นอย่างโต๊ะ ตู้
เตียงจะถูกดึงออกมาใช้เมื่อต้องการ
ซึ่งช่วยเพิ่มพื้นที่ให้ทุกตารางเมตรถูกใช้อย่างคุ้มค่าและเป็นพื้นที่แบบอเนกประสงค์สำหรับใช้ทำกิจกรรมได้หลากหลาย
หรือการออกแบบให้มีการซ่อนไฟตามผนัง
อันเป็นดีเทลสำคัญที่จะช่วยเพิ่มอรรถรสและความเป็นมืออาชีพให้กิจกรรมยอดฮิตอย่างการปรากฏตัวบน
live streaming ในสื่อโซเชียลมีเดียให้มีมากยิ่งขึ้น เป็นต้น
The broken home จึงเป็นความพยายามของทีมชูใจและ IF ในการตีความ ‘บ้าน’
ด้วยมุมมองที่ต่างไปจากเดิม
บ้านที่สะท้อนบริบทของคนในปัจจุบันที่มีความสัมพันธ์แบบ Living together but
apart (อยู่ด้วยกันแบบต่างคนต่างอยู่) ซึ่งเกิดจากความตั้งใจของ ‘สัมมากร’
แบรนด์บ้านจัดสรรแห่งแรกของไทยที่เห็นความเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตของคนไทยมาเป็นเวลากว่า
50 ปี และต้องการที่จะสร้างบทสนทนาให้สังคมหันมามองพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปเหล่านี้
รวมไปถึงกระตุ้นให้คนหันกลับมาลองตั้งคำถาม
ตลอดจนคิดถึงความสุขและคุณค่าในอีกด้านของชีวิต
เพราะสัมมากรนั้นเชื่อว่า “ชีวิต(บ้าน)ที่มีความสุข
ไม่ใช่แค่บ้านที่คนมาอยู่ร่วมกัน
แต่คือบ้านที่คนในบ้านมีความสัมพันธ์ระหว่างกันที่ดี” นั่นเอง
คลิกเพื่อรับชมวีดีโอ และ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ข้อมูลอ้างอิง
(1) อ้างอิงจากการสำรวจการใช้เวลาของประชากรไทยโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ
(www.bangkokbiznews.com/news/749603)(2) อ้างอิงจากบทความ 'คนยุคใหม่ใช้กว่า 9 ชั่วโมงออนไลน์ ดูทีวี 4 ชั่วโมง นอนไป 7 ชั่วโมง อีก 4 ชั่วโมงเป็นเวลาส่วนตัว แล้วเวลาของคนในครอบครัวหายไปไหน' โดย THE STANDARD (www.thestandard.co/thai-life-generation-gap)(3) อ้างอิงจากการประเมิน โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Food-Delivery-FB-24-08-21.aspx)(4) อ้างอิงจากการสำรวจ โดย เอเจนซีทางด้านโซเชียลมีเดีย We are social (www.bangkokbiznews.com/lifestyle/867408)(5) อ้างอิงจากการศึกษา โดย บริษัท G F K MARKETING SERVICES (THAILAND) LTD. (https://www.naewna.com/local/166758)