วันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2564

STIPI มจธ. นำร่องผุดโมเดล “Train คนด้านนโยบายวิทย์-นวัตกรรม-เทคโนโลยี” สู่การพัฒนาสมรรถนะทรัพยากรมนุษย์




มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

การดำเนินนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและตอบโจทย์ของการพัฒนาทั้งในระดับประเทศ และระดับพื้นที่นั้น ผู้บริหารหรือผู้กำหนดนโยบายของหน่วยงานในระดับต่างๆ จำเป็นต้องมีทักษะหรือความเข้าใจในประเด็นด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของหน่วยงานตนเองอย่างเพียงพอต่อการตัดสินใจ

ผศ. ดร.สันติ เจริญพรพัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STIPI) กล่าวว่า จากโจทย์และปัจจัยดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ณ ขณะนั้น จึงได้ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดตั้ง สถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STIPI) ขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2561

“จุดประสงค์ของการจัดตั้งสถาบัน STIPI คือ การทำงานวิจัยเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุนการกำหนดนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศ และอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญมากคือการพัฒนากำลังคนที่มีทักษะและความรู้ด้านนโยบาย เนื่องจากองค์กรเฉพาะทางที่ทำหน้าที่จัดอบรมในหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรด้านนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมนั้นมีไม่มากนัก และด้วยโจทย์ที่ว่า จะทำอย่างไรให้บุคลากรเหล่านั้นมีความรู้ ความเข้าใจและสามารถดำเนินงานด้านนโยบายได้อย่างเหมาะสมต่อไป จึงกลายเป็นที่มาของการพัฒนากำลังคนแบบเฉพาะเจาะจงด้านนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม” ผศ. ดร.สันติ กล่าว

ทั้งนี้นอกเหนือจากการพัฒนากำลังคนด้านนโยบายแล้ว STIPI มีการทำงานวิจัยใน 4 ประเภทหลัก ประกอบด้วย 1.การวิจัยนโยบายของภาคอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมพลังงาน 2.การวิจัยออกแบบระบบวิจัยและนวัตกรรม (System Design) และ 3.การติดตามประเมินผล 4. การวิจัยนโยบายอุดมศึกษา เพื่อติดตามและนำไปสู่โจทย์ในการออกแบบทิศทางหรือการเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาขับเคลื่อนประเทศในด้านนั้นๆ ต่อไป

“การทำงานวิจัยเชิงนโยบายเพื่อศึกษาว่า ส่วนไหนมีปัญหาอย่างไร ควรส่งเสริมด้านไหน การนำมาตรการจากภาครัฐและเอกชน หรือหน่วยงานจากภาคีเครือข่ายที่เข้ามาร่วมมือสนับสนุนการทำงานต่อไป เช่น ด้านพลังงานของประเทศในอนาคตจะเป็นไปในทิศทางใด การเพิ่มขีดความสามารถในด้านพลังงาน ในภาคอุตสาหกรรมอาหารควรมีนโยบายหรือมาตรการอะไรในการส่งเสริมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาด้านอาหาร หรือการผลิตอาหารที่ปลอดภัย (Food Safety) ไม่ให้มีการปนเปื้อนของสารพิษและเชื้อโรค เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นการออกแบบกระบวนการ ออกแบบโครงสร้าง จากนั้นจะนำไปสู่การติดตามประเมินผลว่าสามารถดำเนินการได้ตามภารกิจ ตามเจตนารมณ์ที่วางไว้หรือไม่ ซึ่งเป็นโจทย์ส่วนหนึ่งที่สถาบันฯดำเนินการมาตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา” ผศ. ดร.สันติ กล่าวเสริม

ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว STIPI มีหลักสูตรฝึกอบรม การบริหารและพัฒนาบุคลากรด้านนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งเป็นหลักสูตรระยะสั้น โดยมีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขามาเป็นวิทยากร ทั้งนี้หลักสูตรการฝึกอบรมดังกล่าวเป็นการยกระดับบุคลากรทางด้านนโยบายให้กับประเทศ

“การพัฒนาทรัพยากรบุคคลถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ โดยทางสถาบันฯ จะฝึกอบรมให้แก่บุคลากรที่อยู่ในแวดวงนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จำนวนปีละ 50 คน ที่ผ่านมาเป็นหลักสูตร 20 สัปดาห์ ซึ่งเป็นหลักสูตรระยะสั้นที่ค่อนข้างเข้มข้น เพราะหลังจากอบรมไปแล้ว ทางสถาบันฯ จะให้ผู้เข้าอบรมออกแบบและพัฒนนาโจทย์ที่จะนำไปสู่ข้อเสนอด้านนโยบายที่สามารถนำไปใช้งานได้จริงในหน้างานที่ตนเองรับผิดชอบ ซึ่งขณะนี้ทางสถาบันมีผู้เข้าร่วมฝึกอบรมจากหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ทั้งจากภาครัฐ และภาคเอกชน”

ผศ. ดร.สันติ กล่าวทิ้งท้ายว่า การจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะที่จำเป็นให้ตรงกับความสนใจและความต้องการของบุคลากรทางด้านนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมนั้นถือว่าเป็นการสนับสนุนการพัฒนาระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศที่สามารถนำไปสู่กรอบหรือแนวคิดในการปฏิรูปประเทศในด้านดังกล่าวได้อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งตั้งเป้าว่า STIPI จะเป็นหนึ่งในสถาบันที่มีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมคุณภาพสูงได้อย่างยั่งยืน