สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) เผยความคืบหน้าการกำหนดมาตรฐานระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า “Credit Term” สำหรับผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งล่าสุดได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา และจะมีผลบังคับใช้เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2564 โดยสาระสำคัญของประกาศดังกล่าว ครอบคลุมทั้ง ระยะเวลาในการให้สินเชื่อการค้า การนับระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า การชำระสินเชื่อการค้า และ พฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายเป็นลักษณะการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ทั้งนี้ การออกประกาศแนวทางดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจ SMEs แล้ว พร้อมสร้างกลไกช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้ประกอบธุรกิจ SMEs และผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ อันนำไปสู่การสร้างความสมดุลในการดำเนินธุรกิจ
นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า และโฆษกคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เปิดเผยว่า หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ได้เปิดการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศแนวทางในการพิจารณากำหนดมาตรฐานระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (Credit term) สืบเนื่องมาจากปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่กับผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในช่วงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ล่าสุดมีความคืบหน้าเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าว ซึ่ง สขค.ได้ ได้ออกประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่อง แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่เป็นธรรมเกี่ยวกับระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า กรณีผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นผู้ขายสินค้าหรือบริการ โดยจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับแต่วันถัดจากวันประกาศในประกาศราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ ในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2564 ที่จะถึงนี้
ทั้งนี้ สาระสำคัญของประกาศดังกล่าวครอบคลุมประเด็นทั้งในด้านเนื้อหาและกระบวนการ ตั้งแต่นิยามของผู้ประกอบธุรกิจ SMEs นิยามสินเชื่อการค้า พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้าสำหรับภาคการค้า การผลิต และภาคบริการ ไว้ไม่เกิน 45 วัน และสำหรับภาคการเกษตรหรือผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรแปรรูปขั้นต้นที่มีกระบวนการผลิตไม่ซับซ้อน กำหนดไว้ไม่เกิน 30 วัน หรืออาจมีการกำหนดระยะเวลาเป็นระยะเวลาอื่นได้ แต่ต้องมีเหตุผลอันสมควรที่สามารถรับฟังได้ รวมถึงกำหนดให้มีการแสดงขั้นตอนการจ่ายเงินตามแนวทางการค้าปกติให้ชัดเจนระหว่างผู้ประกอบธุรกิจซึ่งเป็นคู่ค้ากับ SMEs รวมทั้ง SMEs ต้องแสดงเอกสารหลักฐานแสดงจำนวนการจ้างงาน / เอกสารแสดงรายได้เพื่อยืนยันสถานะการเป็นผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้คู่ค้าทราบ นอกจากนี้ ยังกำหนดประเด็นเรื่องการนับระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้าที่จะต้องเริ่มต้นนับตั้งแต่วันส่งมอบสินค้าหรือให้บริการที่มีความถูกต้องครบถ้วน หรือในกรณีฝากขาย (Consignment) ต้องนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ขายสินค้าครบตามจำนวนหรืออัตราที่ตกลงกัน ซึ่งหากผู้ประกอบธุรกิจมีพฤติกรรมทางการค้าที่เข้าข่ายเป็นการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 จะมีโทษความผิดทางปกครองในอัตราค่าปรับไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด
“สำหรับการออกประกาศแนวทางดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้กับผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 โดยคำนึงถึงการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นการใช้อำนาจต่อรองที่เหนือกว่า ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้ประกอบธุรกิจ SMEs และผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ อันนำไปสู่การสร้างความสมดุลในการดำเนินธุรกิจ และเป็นการสร้างบรรทัดฐานในการปฏิบัติทางการค้าที่ชัดเจนและเป็นธรรม อีกทั้งยังช่วยให้กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ได้มีโอกาสในการพัฒนาต่อยอดธุรกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ได้อย่างเท่าเทียม นับเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่ต่อไป” นายสันติชัย กล่าว