“จัดระเบียบการดำเนินชีวิตของคนไทยในการทำกิจกรรมทางศาสนา ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19”
โดย กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
จากสถานการณ์ของโรคโควิด 19 ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง วัดยังคงเป็นศูนย์รวมที่สำคัญของชุมชน วิถีชีวิตของพระสงฆ์กับฆราวาส ที่หมุนเวียนกันและร่วมกันมาทำกิจกรรมทางศาสนาและกิจกรรมของชุมชน ซึ่งในช่วงวิกฤตแบบนี้เป็นการเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดเชื้อโรคโควิดในวัด พระสงฆ์ต้องปรับตัวในเรื่องข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ในการป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อ รวมถึงลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 ในวัด
วัดเป็นสถานที่สาธารณะที่เป็นพื้นที่เฝ้าระวังต่อความเสี่ยงแพร่เชื้อได้ง่าย ในช่วงเวลาที่เกิดการแพร่ระบาด ของโรคโควิด 19 วิถีใหม่ของพระสงฆ์และชาวพุทธจะมีอะไรที่เปลี่ยนแปลง มีคำแนะนำดังนี้
- ต้องฉันอาหารที่ปรุงสุกเท่านั้น และหลีกเลี่ยงการฉันอาหารร่วมกันและใช้ภาชนะของตัวเอง
- ล้างมือทุกครั้งด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลล้างมือเมื่อสัมผัสสิ่งสกปรก ก่อนไปสัมผัสตา จมูก ปาก
- ต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้งเมื่อออกจากกุฏิ ทั้งในวัดและเมื่อออกนอกวัด
- หมั่นทำความสะอาดวัดและบริเวณโดยรอบ รวมทั้งสิ่งของ เช่น ราวบันได ลูกบิดประตู ไม้ตีระฆัง กระบอกเซียมซี ห้องน้ำอย่างสม่ำเสมอ
- ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกัน
- ไม่ออกจากวัดโดยไม่จำเป็น ถ้าไปให้แจ้งเจ้าอาวาส
- ลดระยะเวลาในการทำกิจกรรม ใช้สถานที่โล่งลดความแออัด และเว้นระยะห่าง เช่น เว้นระยะห่างในการ นั่งสมาธิ การฟังการสวดพระอภิธรรมอย่างน้อย 1 - 2 เมตร
แนวทางในการจัดการพระสงฆ์จึงต้องดูแลตนเองป้องกันตนเอง หากเป็นเรื่องในการให้ธรรมะแก่ฆราวาส อาจเลือกที่จะใช้สื่อออนไลน์เข้ามาเป็นทางเลือก วิถีใหม่ของการสร้างสุขภาพในวัดทำได้ง่าย หากเราร่วมมือกันและกันดูแลตนเอง ครอบครัวและชุมชน ร่วมสร้างมิติของสุขภาพให้เกิด“สุขภาวะที่ดี”
D-M-H-T-T คือ เว้นระยะห่าง-สวมหน้ากากทุกครั้ง-ล้างมือบ่อยๆ-ตรวจเร็วควบคุมไว-ไปไหนสแกนไทยชนะ