วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

โมเดลก้าวหน้าที่นำพาธุรกิจไปสู่การปฏิวัติด้านเอดจ์คอมพิวติ้ง



โดย นายแอบเบย์ แอนิล โกสานการ์ 
รองประธานกลุ่ม Secure Power ชไนเดอร์ อิเล็คทริค(Schneider Electric)

เมื่อบริษัทในอุตสาหกรรมเริ่มก้าวไปบนเส้นทางการปฏิรูปสู่ดิจิทัล บริษัทเหล่านี้จะพบว่าต้องการเทคโนโลยีเอดจ์คอมพิวติ้งอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งในการนำเอดจ์คอมพิวติ้งมาใช้ ควรคำนึงถึงเป้าหมายปลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการผสานการทำงานร่วมกันได้อย่างสมบูรณ์ระหว่างเทคโนโลยีเชิงปฏิบัติงาน (OT) และเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และเป็นเอดจ์คอมพิวติ้งที่ทำงานได้แบบอัตโนมัติแห่งยุคอุตสาหกรรม 4.0

เอดจ์คอมพิวติ้งที่ทำงานได้แบบอัตโนมัติ ก็จะคล้ายกับยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ที่เมื่อ IT และ OT ผสานรวมการทำงานได้อย่างเต็มรูปแบบก็จะช่วยให้ระบบงานจัดการทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง ทั้งบริหารจัดการได้ด้วยตัวเอง และแก้ปัญหาได้เอง ซึ่งในแง่ของอุตสาหกรรม นับว่าเรายังห่างไกลจากความสำเร็จในจุดนี้อยู่หลายปี แต่มันคือทิศทางของอุตสาหกรรมและควรมุ่งมั่นเพื่อไปให้ถึงจุดนั้น

เอดจ์ 1.0 และ 2.0

ความก้าวหน้าและการนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเอดจ์คอมพิวติ้งมาใช้ ในปัจจุบัน องค์กรส่วนใหญ่อยู่ในขั้นแรก คือ เอดจ์ 1.0 ซึ่งความสามารถพื้นฐานต่างๆ เป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินธุรกิจได้ประสบความสำเร็จ ส่วนขั้นสุดท้ายคือ เอดจ์ 4.0 นั้น เป็นเรื่องของการที่ระบบสามารถทำงานด้วยตัวเองได้อย่างแท้จริง

เอดจ์ 1.0 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย การบริหารจัดการ และการเชื่อมต่อเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อมอบศักยภาพของการเป็นดิจิทัลเอดจ์ ซึ่งเป็นความสามารถพื้นฐานทั้งหมดสำหรับธุรกิจใดก็ตามที่ต้องการประสบความสำเร็จในการดำเนินงานในโลกดิจิทัล ถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่บริษัทส่วนใหญ่ใช้ดำเนินการในการก้าวไปบนเส้นทางการปฏิรูปสู่ดิจิทัล

ขั้นต่อไปคือ 2.0 จะเห็นการนำเทคโนโลยีระบบเปิดที่กำหนดการทำงานด้วยซอฟต์แวร์มาใช้ที่เอดจ์ ซึ่งเทคโนโลยีที่กำหนดการทำงานด้วยซอฟต์แวร์ จะมีหลายฟังก์ชั่นที่ดึงมาจากสิ่งที่อยู่ในคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ เพื่อให้สามารถทำงานได้ด้วยซอฟต์แวร์ เป็นแนวคิดเดียวกับการทำเซิร์ฟเวอร์ เวอร์ชวลไลเซชั่น ที่มีใช้กันมาหลายปีแล้ว และเมื่อเร็วๆ นี้ ก็มีการนำมาประยุกต์ใช้กับเรื่องต่างๆ ไมว่าจะเป็นการประมวลผล สตอเรจ การเชื่อมต่อเครือข่าย และการรักษาความปลอดภัย

การเชื่อมต่อเครือข่ายที่กำหนดการทำงานด้วยซอฟต์แวร์ หรือ SDN (Software-defined networking) ตัวอย่างเช่น การช่วยให้บริษัทสามารถบริหารจัดการเครือข่ายได้อย่างง่ายดาย เนื่องจากสามารถปรับเปลี่ยนคุณลักษณะการทำงาน รวมถึง ตารางเส้นทาง การตั้งค่า และนโยบายต่างๆ ได้จากแพลตฟอร์มการควบคุมแบบรวมศูนย์ แทนที่จะต้องไปเปลี่ยนที่สวิตช์แต่ละตัว

ในลักษณะเดียวกัน เทคโนโลยีที่กำหนดการทำงานด้วยซอฟต์แวร์ ช่วยให้ส่งมอบบริการด้านความปลอดภัยบนคลาวด์ ทำให้บริษัทไม่จำเป็นต้องมีไฟร์วอลล์ ระบบตรวจจับ/ป้องกันผู้บุกรุก หรือระบบงานลักษณะนี้ เป็นของตัวเองและไม่ต้องบริหารจัดการเอง

เอดจ์ 3.0 และ 4.0

ในขั้น 3.0 สิ่งต่างๆ เริ่มจะดูน่าสนใจจริงๆ จุดนี้จะเป็นจุดที่เราเห็นการผสานรวมการทำงานร่วมกันระหว่าง IT/OT ที่มาพร้อมความยืดหยุ่นและความสามารถการทำงานในแบบเรียลไทม์

ปัจจุบัน ยังมีสภาพแวดล้อมด้านอุตสาหกรรมมากมายที่ไอทียังไปไม่ถึง ตัวอย่างเช่น ในโรงงาน เรามีระบบควบคุมสำหรับเครื่องจักรเพื่อให้มั่นใจว่าสามารถกำหนดพฤติกรรมและความปลอดภัยได้ ซึ่งระบบควบคุมเหล่านี้เกิดมาจากโลกเทคโนโลยีเชิงปฏิบัติงาน ไม่ได้มาจากอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ

นั่นคือจุดเริ่มต้นสู่การเปลี่ยนแปลง เนื่องจากเราเห็นว่ามีการย้ายเทคโนโลยีที่ใช้ดาต้าเซ็นเตอร์ มาใช้กับเอดจ์สำหรับอุตสาหกรรม ซึ่งผมคาดว่าประมาณปี 2025 เราน่าจะได้เห็นว่ามีการนำแนวคิดอย่างเวอร์ชวลไลเซชั่น มาประยุกต์ใช้กับสภาพแวดล้อมอุตสาหกรรม เพื่อให้ความสามารถเรื่องระบบเรียลไทม์ในระดับของเครื่องจักร ทั้งเรื่องความปลอดภัย ระบบควบคุม และฟังก์ชั่นการดำเนินงานแบบดั้งเดิมอื่นๆ โดยสภาพแวดล้อมอุตสาหกรรมจะได้รับประโยชน์จากความสามารถของคลาวด์ และดาต้าเซ็นเตอร์ในระดับเอ็นเตอร์ไพร์ซ เช่นเรื่องความยืดหยุ่น การรองรับความผิดพลาด ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่มีอยู่ในโลกไอทีนานแล้ว ผลก็คือ จะเป็นการหลอมรวมโลกอุตสาหรรมทางกายภาพ เข้ากับโมเดลระบบเปิดที่กำหนดการทำงานด้วยซอฟต์แวร์ อย่างที่อยู่ในกระแสโลกไอทีมาหลายปีแล้ว

การบรรลุความสามารถขั้น 3.0 คือการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในการไปให้ถึง เอดจ์ 4.0 ซึ่งระบบโครงสร้าง IT และ OT จะถูกผสานรวมเข้ากับ AI ณ จุดนี้เราจะได้เห็นสภาพแวดล้อมด้านอุตสาหกรรมในระบบอัตโนมัติ ที่มีระบบบริหารจัดหารจัดการด้วยตัวเอง แก้ไขปัญหาได้เอง เมื่อเครื่องจักรเริ่มมีปัญหา ระบบ AI จะวิเคราะห์และทำการแก้ไขปัญหา โดยไม่ต้องใช้คนเข้ามาจัดการ

มันอาจจะใช้เวลาอีก 10 ปี หรือนานกว่านั้น กว่าที่เราจะได้เห็นวิสัยทัศน์เกิดขึ้นจริง แต่การเดินทางสู่การปฏิรูปดิจิทัลของเอดจ์เริ่มขึ้นแล้ว และจะไม่มีการก้าวกระโดดจากเอดจ์ 1.0 ไป 3.0 โดยคุณจะต้องสร้างศักยภาพที่กำหนดไว้ในแต่ละขั้นให้ได้ก่อนที่จะก้าวสู่ขั้นถัดไป ซึ่งผลลัพธ์ปลายทางก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยเป็นการนำพาความทันสมัย ความยืดหยุ่น ประสิทธิภาพ และความสามารถในการตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ได้ดี มาสู่โลกอุตสาหกรรมนั่นเอง