วันจันทร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2564

TPIPL ประกาศมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 5 ล้านตันต่อปี โชว์เทคโนโลยีใหม่ปรับกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ ใช้ขยะมูลฝอยทดแทนถ่านหิน




บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPL ดำเนินตามวิสัยทัศน์ในการเป็นผู้ผลิตซีเมนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เดินหน้าคิดค้นเทคโนโลยีชั้นสูงมาใช้ในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้เชื้อเพลิง โดยใช้ขยะมูลฝอยจากชุมชนมาผลิตเพื่อทดแทนถ่านหิน คาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกกว่า 5 ล้านตันต่อปี พร้อมแก้ปัญหาขยะมูลฝอยได้ถึง 2 ล้านตันต่อปี 

บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPL กล่าวว่า บริษัทฯ ถือเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่ของประเทศไทย โดยมีนโยบาย และวิสัยทัศน์ในการเป็นผู้ผลิตซีเมนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และหาแนวทางเพื่อลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน สอดรับกับภาครัฐและภาคเอกชนอื่น ๆ ที่ตระหนักถึงปัญหา โดยประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันวางแนวทางป้องกันและแก้ไข เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหา ซึ่งภาครัฐได้ประกาศให้คำมั่นต่อนานาชาติว่าประเทศไทยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเฟสแรกให้ได้อย่างน้อย 7% ภายในปี 2563 และลดให้ได้ 20-25% ภายในปี 2573 

ปัจจุบัน TPIPL ได้นำเอาเทคโนโลยีชั้นสูงมาใช้ในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้เชื้อเพลิง ทำให้สามารถใช้ขยะมูลฝอยจากชุมชน (Municipal Solid Waste) เพื่อทดแทนถ่านหินซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก โดยสามารถนำขยะมูลฝอยจากพื้นที่ในชุมชนต่าง ๆ มาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ถึง 2 ล้านตันต่อปี ช่วยแก้ปัญหาการเน่าเหม็นของขยะมูลฝอยที่กองล้นเต็มพื้นที่ซึ่งกระทบต่อสุขภาพของประชาชน อีกทั้งยังสามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 5 ล้านตันต่อปี ตามแผนการดำเนินการของ TPIPL ซึ่งตอบรับต่อนโยบาย New Normal ของประเทศไทยที่ต้องการนำขยะมูลฝอยจากชุมชนที่เป็นของเสียมาแปรรูปให้หมุนเวียนกลับมาเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป (Circular Economy) 

การดำเนินธุรกิจของ TPIPL โดยการมุ่งมั่นลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลองค์กร ESG (Environmental Social and Governance) ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทและการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อผลประกอบการในอนาคตของบริษัท ที่ยั่งยืนผ่านกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ พร้อมธรรมาภิบาลกำกับดูแลองค์กรให้ดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้สะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์ในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างชัดเจนถึง 5 ล้านตันต่อปี ซึ่งเป็นการร่วมสร้างความยั่งยืนในอนาคตให้กับประเทศไทยต่อไป