การกลับมาของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อธุรกิจหลายภาคส่วนโดยเฉพาะเอสเอ็มอี (SMEs) นอกจากจะต้องปรับแผนธุรกิจ ปรับองค์กรให้เป็นดิจิทัลเพื่อการอยู่รอดแล้ว สิ่งหนึ่งที่ SMEs ควรให้ความสำคัญ คือการบริหารจัดการการเงินอย่างรอบด้าน ได้มีโอกาสเข้าไปฟังสัมมนาหัวข้อ Financial for SMEs: ครบทุกเรื่องการเงิน พาธุรกิจรอดในยุคดิจิทัล ที่ทางยูโอบี เดอะ ฟินแลบได้ร่วมกับ Techsauce จัดขึ้น เนื้อหามุ่งเน้นไปที่การบริหารจัดการการเงินอย่างรอบด้าน ของธุรกิจจริงในการบริหารการเงินให้ธุรกิจอยู่รอดและเติบโต ทั้งเรื่องการทำบัญชีที่ถูกต้อง การประหยัดภาษี การใช้เครื่องมือดิจิทัลใหม่ๆ รวมถึงเรียนรู้จาก case study ของธุรกิจจริงในการบริหารการเงินให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล ที่ต้องให้ความสำคัญของการบริหารเงินให้ธุรกิจไปรอด
ปัญหาที่พบบ่อยของเจ้าของธุรกิจคือ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักไม่ย้อนกลับไปดูรายละเอียดของบัญชีที่ผ่านมาว่ารายรับ รายจ่าย มีที่มาที่ไปอย่างไร จะมุ่งเน้นเพียงรายรับและกำไรที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สร้างปัญหา สิ่งที่ต้องระวัง คือ รายจ่ายเเฝง ที่อาจมีผลในภายหลัง ดังนั้นการสร้างระบบการทำบัญชีที่มีระเบียบจะช่วยให้องค์กรสามารถดูแลการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีการทุจริต ลดปัญหาการขาดทุนระยะยาวได้ดี
อีกปัญหาสำคัญของธุรกิจSMES ที่ตามมาคือ การขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อนำมาช่วยเสริมสภาพคล่องที่ผ่านมามักจะไม่ได้รับการอนุมัติ แม้ว่าสินเชื่อจะมีจากหลากหลายแหล่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือสินเชื่อเหล่านี้ถูกออกแบบโครงสร้างมาเพื่อช่วยให้กลุ่มบริษัทสามารถดำเนินสภาพคล่องให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เเต่ละที่จะมีข้อกำหนดเเตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเภทของสินเชื่อ และสิ่งที่SMEs ควรรู้เพื่อให้กู้เงินผ่าน คือ ต้องเป็นบริษัทที่ไม่เคยเป็นหนี้เสีย หรือ NPL และยังมีกำไรในปีปัจจุบัน จากปัญหาดังกล่าว การวางแผนบริหารด้านบัญชีจึงเป็นสิ่งสำคัญ ระบบบัญชีที่ดีจะสามารถทำให้ธุรกิจดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีความคล่องตัว คุณจักรกฤษณ์ กิจการรัฐบุตร CFP® ผู้ร่วมก่อตั้ง Money Buffalo เว็บไซต์ด้าน "การเงิน การลงทุน" อันดับต้นของประเทศไทยได้กล่าวถึง การทำบัญชีที่ถูกต้องสำหรับผู้ประกอบการSMEs เพื่อให้สามารถขอ soft loan ได้สะดวกขึ้น และการใช้เครื่องมือดิจิทัลใหม่ๆ ในการจัดการด้านการเงินของธุรกิจSMEs
เปิดเคล็ดลับจัดการการเงิน iberry group อาณาจักรอาหารที่เริ่มจากร้านไอศกรีม
กรณีศึกษาของ iberry groupเป็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการจัดการด้านการเงิน เคล็ดลับและกลยุทธ์ที่ใช้ในการขยายร้านอาหาร โดยคุณอัจฉรา บุรารักษ์ ผู้ก่อตั้ง ที่สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่นและเติบโต รวมถึงการบริหารเงินในยามวิกฤตวงโควิด-19ที่ผ่านมา
iberry group สู้วิกฤตโควิด-19 ด้วยการวางเเผนบริหารจัดการทางด้านการเงิน และนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการงาน การบริหารเงินสดเป็นเรื่องสำคัญ จะต้องรู้กระแสเงินสดมีมากน้อยแค่ไหน และจะต้องหาช่องทางเพิ่มเงินจากที่ไหนได้บ้าง เช่น การขอ soft loanสำรองจากธนาคาร เพื่อเอาเงินมาไว้แก้ปัญหาสภาพคล่องในอนาคต พร้อมนำเทคโนโลยีระบบ ERP เข้ามาใช้เพื่อลดขั้นตอนการทำงาน และทำให้เรารู้ถึงความผิดพลาดด้านการเงินได้เร็วขึ้นและแก้ไขปัญหาได้ทันที
ประหยัดภาษีแบบ SMEs เรื่องใกล้ตัวคนทำธุรกิจ
คุณถนอม เกตุเอม บล็อกเกอร์และผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีแห่ง TAX Bugnoms กล่าวถึงการเตรียมตัววางแผนภาษีสำหรับธุรกิจSMEs เพื่อประหยัดภาษีและไม่พบปัญหาตามมาภายหลัง "เราจะวางแผนภาษีสำหรับธุรกิจแบบไหนและอย่างไรดี" เพราะเรื่องของ "ภาษี" นั้นถือเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งในการทำธุรกิจ สำหรับSMEsที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจใหม่ๆ การลดค่าใช้จ่ายนั้นถือเป็นเรื่องจำเป็นที่สุด โดยเฉพาะเรื่องของภาษี ยิ่งลดได้มากแค่ไหน ยิ่งแปลว่ากำไรของธุรกิจยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย และวิธีการประหยัดภาษีแบบง่ายๆ ดังนี้ เลือกรูปแบบของธุรกิจให้ถูกต้อง และวางแผนใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีต่างๆให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด
“ทางกรมสรรพากรได้มีการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ผู้ที่ยื่นภาษีผ่านทางอินเตอร์เน็ตจะได้รับผลประโยชน์ทางภาษีมากขึ้น เช่น การขยายเวลา หรือส่วนลดด้านภาษีบางประเภท ซึ่งการปรับเปลี่ยนนี้จะก่อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการที่มีการปรับตัว ด้วยการการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์ทางด้านภาษีมาใช้เพิ่มขึ้นทั้งในด้านของการจ่ายภาษี และการลดต้นทุนอีกด้วย”
นอกจากนี้ธุรกิจSMEs ควรให้ความสำคัญในเรื่องในประเด็นดังต่อไปนี้ 1.ธุรกิจควรมี cash flow ดี มีกำไร 2.ควรมีทางเลือกในการการลงทุนที่จะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี 3.การจ้างงานบุคลากร หรือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรประเภทต่างๆ สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายได้และจะเสียภาษีลดลง 4.ผู้ประกอบการควรตรวจดูงบการเงิน งบกำไรขาดทุน งบดุล เป็นประจำเพื่อตรวจสอบข้อมูลว่าตรงกับข้อเท็จจริงหรือไม่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจด้านธุรกิจ และความได้เปรียบด้านภาษีอีกด้วย
ปรับธุรกิจสู่ดิจิทัล เพิ่มโอกาสทางธุรกิจกับโครงการ Smart Business Transformation
นับเป็นปีที่ 2 สำหรับโครงการ Smart Business Transformation หรือ SBTP ซึ่งดำเนินการโดย ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย และ เดอะ ฟินแล็บ โดยได้ปรับตัวสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล เดอะ ฟินแล็บ ออนไลน์ (The Finlab Online) เพื่อสามารถช่วยเหลือและสนับสนุนเอสเอ็มอีไทย ให้สามารถนำดิจิทัลโซลูชันไปใช้ปรับเปลี่ยนธุรกิจและให้เห็นผลลัพธ์เชิงบวกได้มากขึ้น
คุณพอลลีน ซิม หัวหน้ากลุ่มงาน เดอะ ฟินแล็บ กล่าวว่าโครงการ SBTP จะเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี เหมือนการจับคู่ SMEs กับดิจิทัลเทคโนโลยีที่เหมาะสม เป็นการนำเทคโนโลยีโซลูชันจากฝั่ง Tech Startup ที่เหมาะสมกับธุรกิจ มาสนับสนุน SMEs ที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้สามารถนำโซลูชันไปใช้กับธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยปัจจุบันมี Tech Startup ในเครือข่ายของ ฟินแล็บถึง 1,500 บริษัท ครอบคลุม 48 ประเทศ และได้ช่วยเหลือ SMEs กว่า 3,000 บริษัท ในภูมิภาครวมถึงประเทศไทย
ด้านคุณสิรินันท์ จิรดิลก ผู้อำนวยการอาวุโส Digital Engagement & FinTech Innovation กล่าวว่า ในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 SMEs มีความต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเองเพิ่มมากขึ้น หลายรายมีหน้าร้านเพียงออฟไลน์ ทำให้มีความต้องการผันตัวเองให้เป็นออนไลน์เพิ่มมากยิ่งขึ้น เราจึงได้ปรับรูปแบบโครงการจากเดิม เพื่อให้สามารถช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการได้มากขึ้น โดยยังคงมีแกนหลัก 3 ข้อ ได้แก่ การให้ความรู้แก่ SMEs เมื่อมีความรู้แล้วและเข้าใจว่าต้องการอะไร การแนะนำและจับคู่กับเทคโนโลยีที่เหมาะสม และการช่วยให้ SMEs สามารถนำเอาเทคโนโลยีไปใช้งานได้จริง
โดยทางโครงการฯ จะมีแบบทดสอบที่อยู่บนเว็บไซต์ หรือเรียกสั้นๆว่า DNA ผู้ประกอบการ SME สามารถเข้าไปทำแบบทดสอบได้เพื่อที่จะได้รู้ว่าตนเองมีความต้องการดิจิทัล ด้านใดบ้าง หลังจากนั้นเมื่อทราบแน่ชัดว่าต้องการอะไร ขั้นตอนต่อไปคือการหา Tech Solution ที่เหมาะสมกับความต้องการของตนเอง โดยการทำแบบทดสอบอีก 1 ตัว คือ DSA และเมื่อทำแบบทดสอบนี้เสร็จสิ้นระบบ จะทำการโชว์ Tech Solutions ที่เหมาะสมและตอบโจทย์ขึ้นมาให้ ขณะที่ SME บางรายที่รู้แน่ชัดว่าตนเองต้องการอะไรก็สามารถเลือก Tech Solutions ที่อยู่บนแพลตฟอร์มได้เลยซึ่งปีนี้ได้มีการเพิ่ม Tech Solutions ที่เป็นคนไทยเข้าไปด้วยเพื่อรองรับการเข้าถึงได้ง่ายขึ้นในเรื่องของภาษา และราคาของเทคโนโลยีโซลูชันที่เหมาะสมและตอบโจทย์