กองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) อัดฉีดงบฯ 12.95 ลบ. จัดตั้ง ‘ศูนย์เรียนรู้วีอาร์’ (VR Startup Center) ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ศูนย์การเรียนรู้และการเรียนการสอนวีอาร์ หนุนผลิตผู้เชี่ยวชาญพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพด้านวีอาร์ ตลอดจนมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยภายในศูนย์ฯ จะเป็นห้องเรียนเสมือนจริง ที่เปลี่ยนภาพจำการเรียนรู้ในรูปแบบเดิม นอกจากนี้ ยังเปิดตัว 'หลักสูตรวีอาร์' หลักสูตรระดับปริญญาตรีที่เน้นพัฒนาคนรุ่นใหม่ ใช้เทคโนโลยีวีอาร์ต่อยอดธุรกิจ หรือก้าวสู่เส้นทางอาชีพในสายงานดิจิทัล เพื่อสร้างรายได้ให้ตนเองในอนาคต ทั้งนี้ หลักสูตรดังกล่าว อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมโครงสร้างหลักสูตร ให้ตรงตามเกณฑ์มาตรฐานของการพัฒนาหลักสูตรในระดับอุดมศึกษา
นายนิพนธ์ จงวิชิต ผู้อำนวยการ กองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน “เทคโนโลยีวีอาร์” (VR : Virtual Reality) นับเป็นเทรนด์เทคโนโลยีดิจิทัลที่มีบทบาทสำคัญ ในการสร้างประสบการณ์เสมือนจริงแบบ 360 องศา แก่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมได้หลากมิติ ทั้งธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจสุขภาพ-ออกกำลังกาย และธุรกิจเพื่อความบันเทิง เพื่อสร้างประสบการณ์และเพิ่มอรรถรสแก่ผู้ใช้บริการ แต่ทั้งนี้ กลับพบว่าเทคโนโลยีดังกล่าว เป็นการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศในมูลค่าสูงทั้งสิ้น ด้วยข้อจำกัดของผู้เชี่ยวชาญด้านวีอาร์ในไทย ที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด กทปส. จึงจัดสรรงบประมาณกว่า 12.95 ล้านบาท แก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) จัดตั้ง ‘ศูนย์เรียนรู้วีอาร์’ (VR Startup Center) ภายใต้การดำเนินโครงการ “นำร่องพัฒนาศูนย์เรียนรู้และหลักสูตรสร้างเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน” ศูนย์การเรียนรู้และการเรียนการสอนวีอาร์ หนุนผลิตผู้เชี่ยวชาญพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพด้านวีอาร์ ตลอดจนมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัล
รองศาสตราจารย์ ดร.ชาญชัย ทองประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) กล่าวต่อว่า “ศูนย์เรียนรู้วีอาร์” จะเป็นห้องเรียนเสมือนจริง ที่เปลี่ยนภาพจำการเรียนรู้ในรูปแบบเดิม เป็นการเรียนรู้ที่ไร้ขีดจำกัดและไม่สามารถคาดเดาได้ ที่มีฟังก์ชันในการเรียนรู้เทคโนโลยีวีอาร์ครบถ้วน โดยภายในศูนย์ฯ ประกอบด้วย ชุดคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์และโปรแกรมต่าง ๆ ที่ใช้ในการพัฒนาสื่อด้านเทคโนโลยีวีอาร์ และจอ LED แสดงภาพจากอุปกรณ์ Headset VR ในการเรียนรู้สำหรับผู้เรียน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ในลักษณะ 'แอคทีฟ เลิร์นนิ่ง’ (Active Learning) ทั้งนี้ ที่ศูนย์ฯ ดังกล่าว พร้อมเปิดให้เข้าใช้บริการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยนักศึกษา ตลอดจนเยาวชนในพื้นที่ที่สนใจ สามารถเข้าใช้บริการได้ทุกวันในเวลาราชการ หรือเข้ารับการอบรมได้ในหลักสูตรระยะสั้น เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนสามารถเข้ามาเรียนรู้และทดลองใช้เทคโนโลยีดังกล่าวได้อย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ มจพ. ยังเตรียมเปิดตัว 'หลักสูตรวีอาร์' หลักสูตรระดับปริญญาตรีที่เน้นพัฒนาคนรุ่นใหม่ ใช้เทคโนโลยีวีอาร์ต่อยอดธุรกิจ หรือก้าวสู่เส้นทางอาชีพในสายงานดิจิทัล เพื่อสร้างรายได้ให้ตนเองในอนาคต ผ่านการอบรมภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านวีอาร์ มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์/และองค์ความรู้ เพื่อปูพื้นฐานความรู้ด้านเทคโนโลยีวีอาร์ เป็นการนำเสนอกระบวนการสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีวีอาร์ ในการสร้างโมเดล 3 มิติ การนำโมเดล 3 มิติ เข้าสู่ระบบวีอาร์ การใส่โปรแกรมเงื่อนไขการโต้ตอบให้วัตถุ การจัดแสงเงา และการใช้คลัง Unity Asset Store ขั้นตอนการติดตั้งใช้งานอุปกรณ์เทคโนโลยีเสมือนจริง และตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีเสมือนจริงในการทำงานตามสาขาวิชา ตลอดจนมีกิจกรรมศึกษาดูงานเพื่อเปิดมุมมองใหม่ๆ ในการนำไปใช้งานจริงหรือพัฒนาสื่อวีอาร์ในอนาคต อย่างไรก็ดี หลักสูตรดังกล่าวอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมโครงสร้างหลักสูตร ให้ตรงตามเกณฑ์มาตรฐานของการจัดทำหลักสูตรระดับอุดมศึกษาต่อไป รองศาสตราจารย์ ดร.ชาญชัย กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับผู้สนใจขอยื่นโครงการเพื่อรับงบฯ วิจัย สามารถสอบถามข้อมูลหรือติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรม กทปส. ได้ที่ โทร. 02-554-8121, 02-554-8113 หรือ www.facebook.com/BTFPNEWS และ https://btfp.nbtc.go.th