นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงความก้าวหน้าแผนพัฒนาแหล่งน้ำโดยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จ.ภูเก็ต จ.น่าน และ จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งและช่วยบรรเทาอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน โดยในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ ปัจจุบันมีอ่างเก็บน้ำอยู่ 2 แห่ง ไม่สามารถเก็บกักน้ำได้เพียงพอ เนื่องจากต้องสำรองในการอุปโภค-บริโภคและการท่องเที่ยว ซึ่งกรมชลประทานมีแผนก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มอีก 1 แห่ง โดยมีความจุที่ระดับเก็บกักไม่เกิน 2 ล้าน ลูกบาศก์เมตร เพื่อเป็นที่เก็บกักน้ำในช่วงที่ฝนตกหนักก่อนลงสู่ทะเล ขณะนี้อยู่ในระหว่างสำรวจและศึกษาพื้นที่เหมาะสม รวมทั้งการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ (สผ.) คาดว่ากระบวนการต่าง ๆ จะแล้วเสร็จและเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2567
สำหรับพื้นที่จังหวัดน่าน เนื่องจากสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาเหมาะกับการสร้างอ่างเก็บน้ำ กรมชลประทานจึงมีโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.เฉลิมพระเกียรติ ความจุที่ระดับเก็บกัก 46.09 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ชลประทาน 22,100 ไร่ นับว่าเป็นโครงการที่มีศักยภาพสามารถส่งน้ำได้ถึง 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.เชียงกลาง อ.ทุ่งช้าง ขณะนี้อยู่ในระหว่างสำรวจและศึกษาพื้นที่เหมาะสม รวมทั้งการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน โดยได้มีการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นไปแล้ว 2-3 ครั้ง ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจาก สผ. และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2567 แล้วเสร็จในปี 2569 ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 2,405.43 ล้านบาท
ขณะที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีแผนก่อสร้างโครงการสร้างเขื่อนขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อดักน้ำก่อนไหลออกสู่ประเทศเพื่อนบ้าน และสร้างอุโมงค์ผันน้ำใต้ดินผ่านป่าอนุรักษ์ยาว 61 กิโลเมตร เพื่อไปเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนภูมิพล จ.ตาก ซึ่งเป็นพื้นที่เก็บน้ำขนาดใหญ่และมีช่องว่างสามารถรองรับน้ำได้อีกมาก โดยมีแผนเติมน้ำอยู่ที่ประมาณ 1,800 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี เบื้องต้นได้มีการสำรวจและศึกษาพื้นที่เหมาะสม รวมทั้งการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจาก สผ. และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2566 แล้วเสร็จในปี 2572 ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 70,000 ล้านบาท
“การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อใช้เก็บกักน้ำในระยะยาว กรมชลประทานจะให้ความสำคัญต่อการพิจารณาสภาพของแต่ละพื้นที่ว่ามีความเหมาะสมที่จะก่อสร้างแหล่งเก็บกักน้ำในรูปแบบใด โดยมีการศึกษาอย่างรอบด้าน การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรวมทั้งการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างสูงสุดในการมีน้ำอุปโภค-บริโภคและการเกษตรในพื้นที่อย่างเพียงพอ”นายเฉลิมเกียรติ กล่าว