ลำน้ำยม เป็นลำน้ำสาขาที่สำคัญของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีความยาวทั้งสิ้น 735 กิโลเมตรครอบคลุมพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ พะเยา น่าน ลำปาง แพร่ ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ ลำน้ำยม มีต้นน้ำเริ่มจากอำเภอปงและอำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ไหลผ่านท้องที่อำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดแพร่ ซึ่งสภาพภูมิประเทศและลาดท้องน้ำค่อนข้างชันแล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นพื้นที่ราบเมื่อเข้าเขตจังหวัดสุโขทัย ก่อนที่จะไหลผ่านไปยังจังหวัดพิษณุโลก จังหวัดพิจิตร บรรจบกับลำน้ำน่านที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์
แต่ละปีที่ผ่านมา ลุ่มน้ำยมประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างต่อเนื่องเพราะพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารในลุ่มน้ำยมถูกบุกรุกทำลายเป็นจำนวนมาก ประกอบกับสภาพทางกายภาพภายในลำน้ำยมที่แตกต่างกัน แม่น้ำยมตอนบนมีขนาดลำน้ำกว้างใหญ่ แต่ไม่มีเขื่อนเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ช่วยชะลอปริมาณน้ำหลาก เหมือนกับลุ่มน้ำสายอื่นๆ ของแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อเกิดฝนตกหนักในลุ่มน้ำยมตอนบน ปริมาณน้ำท่าจึงไหลมาตามลำน้ำยมอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำยม ตั้งแต่จังหวัดแพร่ลงไป
แม่น้ำยมตอนล่างมีขนาดลำน้ำเล็กลง เมื่อไหลเข้าสู่พื้นที่ราบในจังหวัดสุโขทัย ทำให้ความจุลำน้ำลดลงจากตอนต้นน้ำมาก ไม่สามารถระบายน้ำที่ไหลหลากอย่างมากมายได้ทันเวลา ปริมาณน้ำเอ่อล้นตลิ่งไหลท่วมพื้นที่ทางการเกษตรและพื้นที่เขตชุมชมริมลำน้ำยมตั้งแต่อำเภอสวรรคโลก อำเภอศรีสำโรง อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย ไปจนถึงพื้นที่ลุ่มต่ำในอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก จนได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมากแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยาอีกด้วย
ลุ่มน้ำยมมีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยปีละ 4,129 ล้าน ลบ.ม. แต่สามารถเก็บกักไว้เพียง 406 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น เนื่องจากไม่สามารถก่อสร้างแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ได้เพราะมีผลกระทบกับประชาชน และสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน ได้ทำการศึกษาและนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาอุทกภัยของแม่น้ำยมไว้หลายแนวทาง เช่น แผนการพัฒนาโครงการแหล่งน้ำขนาดกลางและขนาดเล็ก ขุดลอกลำน้ำและคลองผันน้ำต่างๆ เพื่อช่วยผันน้ำออกจากพื้นที่ชุมชนในฤดูน้ำหลากแล้ว ยังใช้เป็นคลองส่งน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูกอีกด้วย เช่น โครงการบางระกำโมเดล จ.พิษณุโลก และโครงการแก้มลิงทะเลหลวง
จ.สุโขทัย ซึ่งเปลี่ยนพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากให้ เป็นพื้นที่เก็บกักน้ำหลากไว้ในที่ลุ่มธรรมชาติแล้ว ยังเป็นแหล่งน้ำสำรองสำหรับการอุปโภค-บริโภคในช่วงฤดูแล้งไปพร้อมๆ กัน
นอกจากนี้ กรมชลประทานยังได้วางแผนก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำยมเป็นช่วงๆ แบบขั้นบันได เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำยมได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดลำน้ำ ประกอบด้วย ประตูระบายน้ำ (ปตร)บ้านวังน้ำเย็น ประตูระบายน้ำบ้านหาดอ้อน ประตูระบายน้ำบ้านบานชื่น และประตูระบายน้ำบ้านเกาะน้อย รวมทั้งก่อสร้าง ฝายอีก 2 แห่ง คือฝายบ้านหาดรั่ว และ ฝายบ้านสุเม่น
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานมุ่งออกแบบก่อสร้างเชิงวิศวกรรมชลประทานให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และความต้องการของประชาชนแต่ละท้องถิ่น สำหรับลุ่มน้ำยมในพื้นที่จังหวัดพิจิตร สุโขทัย และพิษณุโลก สภาพพื้นที่ไม่เอื้อต่อการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จึงปรับมาใช้แผนก่อสร้างประตูระบายน้ำ และสร้างฝายกันน้ำเป็นช่วงๆ ตามความเหมาะสมของสภาพภูมิประเทศ แต่ละแห่งสามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 2,000,000 - 10,000,000 ลบ.ม.รวมๆแล้วก็เกือบ 100 ล้านลบ.ม. ก็ช่วยลดปัญหาภัยธรรมชาติและเพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทานในท้องถิ่นได้อย่างดี
กรมชลประทานยอมรับว่า การก่อสร้างฝายมีศักยภาพในการเก็บกักน้ำ เทียบเท่าประตูระบายน้ำไม่ได้ เพราะฝายเก็บกักน้ำได้น้อยกว่า แถมลุ่มน้ำยมมีปัญหาชะล้างหน้าดินค่อนข้างเยอะ หากเป็นโครงการประตูระบายน้ำ สามารถยกบานประตูขึ้น เพื่อให้ตะกอนดินไหลออกไปตามลำคลอง ก็ช่วยแก้ปัญหาได้ แต่ฝายทำไม่ได้ มักมีตะกอนดินไหลมากองอยู่หน้าฝายทำให้เกิดปัญหาดินทับถมบ่อยครั้ง กรมชลประทานจึงส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกหญ้าแฝกและปลูกไม้ยืนต้นในแหล่งต้นลำธาร เพื่อลดปัญหาการชะล้างหน้าดิน เก็บรักษาความชุ่มชื้นในดิน ลดปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมอีกทางหนึ่ง
เพื่อให้แผนการก่อสร้างประตูระบายน้ำและฝายกันน้ำทุกโครงการเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบ ผู้ได้รับประโยชน์ กรมชลประทานได้เปิดโอกาสให้ประชาชน องค์กรส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดตำแหน่งที่ตั้งโครงการ รูปแบบหัวงาน และระดับเก็บกักน้ำที่เหมาะสม
“กรมชลประทานได้เปิดโอกาสให้ชาวบ้านในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการตั้งชื่อประตูระบายน้ำแต่ละแห่งให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของชุมชน เช่น ปตร.บ้านวังน้ำเย็น เปลี่ยนชื่อเป็น ปตร.วัดพระธาตุแหลมลี่ ปตร.บ้านหาดอ้อน เปลี่ยนเป็น ปตร.ขอนไม้แดง ปตร.บ้านบาน ชื่อเปลี่ยนเป็น ปตร.เวียงเชียงชื่น ปตร.บ้านเกาะน้อย เปลี่ยนเป็น ปตร.หาดเสี้ยว ให้สอดคล้องกับเป็นอัตลักษณ์เด่นของชุมชน คือ ผ้าหาดเสี้ยว (ลายผ้าตีนจก) กรมชลประทานวางแผนออกแบบก่อสร้างประตูระบายน้ำแห่งนี้ให้มีลวดลายผ้าตีนจกซึ่งเป็นสัญญลักษณ์ของผ้าหาดเสี้ยวด้วย เพื่อเพิ่มความสวยงามแก่สถานที่ สร้างความภูมิใจแก่ชุมชนท้องถิ่น ส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวได้แวะเข้ามาเช็คอินที่ประตูระบายน้ำแห่งนี้ในอนาคต” นายเฉลิมเกียรติกล่าว
ปัจจุบัน กรมชลประทานได้ศึกษาความเหมาะสม ในการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำยมทุกโครงการเสร็จเรียบร้อยแล้ว และจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบและดำเนินการก่อสร้างต่อไป
หากเป็นไปตามแผนที่กำหนด กรมชลประทานคาดว่าจะเริ่มต้นก่อสร้างประตูระบายน้ำได้ภายในปี 2565 -2566 ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี เมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์จะมีพื้นที่การเกษตรได้รับประโยชน์จากโครงการมากกว่า 100,000 ไร่ ทำให้พี่น้องประชาชนกว่า 12,000 ครัวเรือนมีความสุขเพิ่มมากขึ้นเพราะช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้ง มีแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร