อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย จับมือ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เพื่อรับรองมาตรฐานวิชาชีพให้แก่บุคลากรในอุตสาหกรรม และออกใบรับรองผู้ที่ผ่านการทดสอบสมรรถนะวิชาชีพ 13 สาขา ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจน้ำตาลทรายทั้งฝ่ายโรงงานและฝ่ายไร่ หวังยกระดับแรงงานให้มีฝีมือให้มีคุณภาพ รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมในระยะยาว พร้อมเตรียมเปิดรับแรงงานชั่วคราว รองรับการเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2563/64 กว่า 1,000 อัตรา
นายปราโมทย์ วิทยาสุข ประธานคณะกรรมการ บริษัทไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า TSMC ในฐานะ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ซึ่งมีสมาชิกโรงงานน้ำตาลทราย 57 โรงงานทั่วประเทศ ร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ในการสนับสนุนการพัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพ โดยได้จัดตั้ง TSMC เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่รับรองมาตรฐานวิชาชีพ (Certify Body) ให้แก่บุคลากรฝ่ายโรงงาน จำนวน 8 สาขาอาชีพที่เกี่ยวข้อง และ ขณะนี้ อยู่ระหว่างเสนอเป็นองค์กรรับรองมาตรฐานวิชาชีพด้านเพาะปลูกอ้อย เพื่อยกระดับมาตรฐานทางวิชาชีพของบุคลากรฝ่ายไร่ให้มีคุณภาพ รองรับกับการเติบโตของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในอนาคต
สำหรับโครงการนี้ ทาง TSMC ทำหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคลากรฝ่ายโรงงานตามมาตรฐานวิชาชีพ สาขาอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย ประกอบไปด้วย 8 วิชาชีพ 24 ขั้นคุณวุฒิ ได้แก่ อาชีพช่างลูกหีบ อาชีพชั้นพักไส อาชีพช่างหมอต้ม อาชีพช่างหม้อเคี่ยว อาชีพช่างหม้อปั่น อาชีพช่างน้ำตาลรีไฟน์ อาชีพช่างอบแห้งน้ำตาล อาชีพควบคุมคุณภาพการผลิตในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล
นอกจากนี้ ยังเสนอให้ TSMC เป็นองค์กรรับรองสมรรถนะวิชาชีพตามโครงการคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพเกษตรกรรม ด้านเพาะปลูกอ้อย เพื่อพัฒนาความสามารถในการปฏิบัติงานฝ่ายไร่อ้อยของโรงงาน และการประกอบอาชีพปลูกอ้อยของชาวไร่อ้อยคู่สัญญาโรงงาน รวมจำนวน 5 วิชาชีพ ได้แก่ อาชีพผู้เพาะดินเพาะปลูกอ้อย อาชีพผู้ปลูกอ้อย อาชีพผู้ดูแลรักษาอ้อย อาชีพผู้เก็บเกี่ยวอ้อยและอาชีพเกษตรกรเพาะปลูกอ้อย โดยแบ่งคุณวุฒิวิชาชีพออกเป็น 15 ขั้น ตามความรู้ความสามารถของผู้ผ่านการฝึกอบรม
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการนี้ เปิดโอกาสให้บุคลากรในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายและผู้ที่สนใจ เข้ามาทดสอบความรู้ความสามารถเพื่อรับใบรับรองมาตรฐานทางวิชาชีพตามลำดับขั้น และนำใบรับรองดังกล่าวไปสมัครงานหรือปรับตำแหน่งงานในองค์กรหรือบริษัทที่ตนเองสังกัดอยู่ ตลอดจนให้ชาวไร่ที่ยึดอาชีพเพาะปลูกอ้อยมีองค์ความรู้ด้านการเพาะปลูกตามหลักวิชาการ และมีมาตรฐานการดูแลแปลงเพาะปลูกอ้อยที่ดี รวมถึง มีการจัดเก็บผลผลิตอ้อยให้ได้คุณภาพและส่งมอบอ้อยสดที่มีคุณภาพให้แก่โรงงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการหีบสกัดน้ำตาลจากอ้อยให้ได้ปริมาณน้ำตาลทรายต่อตันอ้อย (ยิลด์) ที่ดีขึ้น ส่งผลดีต่อภาพรวมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ
“ความร่วมมือกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพในครั้งนี้ เป็นการสร้างมาตรฐานวิชาชีพให้แก่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย เพื่อยกระดับมาตรฐานทางวิชาชีพและคุณภาพของบุคลากรในอุตสาหกรรมฯ ให้มีความรู้ความสามารถเพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ไปสู่ความยั่งยืน” นายปราโมทย์ กล่าว
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายทั้ง 58 โรง ยังเตรียมจ้างแรงงานชั่วคราว เพื่อรองรับการเปิดหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2563/54 ที่คาดว่าจะเปิดรับผลผลิตได้ในเดือนธันวาคม เช่น แรงงานคุมคิวรถตัดอ้อย แรงงานเก็บกวาดอ้อย เป็นต้น ซึ่งคาดว่าโรงงานน้ำตาลแต่ละแห่งจะจ้างแรงงานชั่วคราวมากกว่า 1,000 อัตรา ส่งผลดีต่อการสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนเพิ่มเติม