วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

“EdTeX 2020” เปิดเวทีเสวนาไขปัญหาระบบการศึกษาไทย




การเรียนรู้ที่ดีไม่ได้เริ่มต้นและจบลงแค่ในห้องเรียนเท่านั้น เพราะทุกวันนี้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและความรู้จากทั่วโลกได้ ผ่านเครื่องมือและอุปกรณ์สื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง หรือโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ทำให้เราสามารถค้นหาข้อมูลและเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา 

และด้วยความก้าวหน้าของนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลก บวกกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ทุกภาคส่วนต่างต้องปรับตัวพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น รวมถึงภาคการศึกษาด้วย...และนี่ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของระบบการศึกษาไทยซึ่งเรามักจะได้ยินคำว่าการปฏิรูปการศึกษามาในหลายยุคหลายสมัย แต่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆที่เป็นรูปธรรมหรือมีโมเดลที่สอดคล้องกับการศึกษาของประเทศไทยเรา วันนี้ EdTeX 2020 เล็งเห็นและขอเป็นหนึ่งในพื้นที่เล็กๆในการแชร์และแลกเปลี่ยนทางความคิด เพื่อที่วันนึงการศึกษาไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังเสียที 

นายสืบพงษ์ สมิตทันต์ ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด ผู้จัดงาน EdTeX 2020 หรือ Thailand’s Education Technology Expo 2020 กล่าวว่า EdTeX 2020 เป็นงานแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการศึกษาจัดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2560 ในรูปแบบของงานแสดงสินค้า แต่เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้บริษัทเห็นโอกาสในการจัดงานในรูปแบบออนไลน์ หรือ Webinar ขึ้นอีก 1 ช่องทางโดยเนื้อหานั้นนอกจากจะรวบรวมสาระความรู้ แนวโน้ม เรื่องราวที่เกิดขึ้นในวงการการศึกษาทั้งไทยและต่างประเทศแล้ว ยังมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ นวัตกรรม และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่จะเพิ่มความน่าสนใจให้กับการเรียน การสอน การประเมิน การวิเคราะห์เชิงแบบบูรณาการอีกด้วย ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นให้ความสำคัญกับการศึกษาในปัจจุบันและในอนาคตทั้งสิ้น ทั้งนี้ การจัด EdTeX Webinar ในแต่ละครั้งนั้น จะเป็นไปภายใต้ 3 หัวข้อถูกกำหนดขึ้น คือ 

  • “Now” นำเสนอรูปแบบการเรียนการสอน และเทคโนโลยีที่สามารถนำมาใช้ในปัจจุบัน รวมถึงแนวทางการจัดการเรียนการที่จะส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพในการเรียนการสอนยุคปัจจุบัน 
  • “Future” นำเสนอทิศทางการพัฒนาการศึกษาในอนาคต เทรนด์ของเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือในจัดการเรียนการสอนมากขึ้น เพื่อเป็นแนวทาง และเตรียมความพร้อมสำหรับบุคลากรและผู้ประกอบวิชาชีพด้านการศึกษา รวมถึงผู้ปกครอง ได้ปรับตัวให้ทันกับเครื่องมือใหม่ๆเพื่อเตรียมพร้อมกับสถานการณ์ในอนาคตข้างหน้า 
  • “Inspiration” การสร้างแรงบันดาลใจ และส่งต่อแรงบันดาลใจให้แก่ผู้เรียนและผู้สอน เพราะเราเชื่อว่าแรงบันดาลใจเป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างบรรยากาศการเรียนการสอนให้ดีขึ้น ทั้งยังสามารถส่งเสริมให้การเรียนการสอนประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ด้วย 

ซึ่งในแต่ละหัวข้อนั้น บริษัทได้รับเกียรติจากวิทยากรรับเชิญกิตติมศักดิ์ที่พร้อมจะมาให้แนวทาง ความคิด มุมมอง และข้อเสนอแนะที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่ออนาคตการศึกษาของไทย ไม่ว่าจะเป็น 

คุณพริษฐ์ วัชรสินธุ (คุณไอติม) ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็ดดูเคชั่น เทคโนโลยี จำกัด และผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นด้านการศึกษาน้องใหม่ “STARTDEE” ที่มาร่วมพูดคุยในหัวข้อ “ปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาของระบบการศึกษาไทย และการนำเทคโนโลยีมาช่วยเสริมระบบการศึกษา” ระบบการศึกษาที่ดีควรมีองค์ประกอบอะไรบ้าง? แล้วเทคโนโลยีจะเข้าไปเสริมการศึกษาได้อย่างไร? นอกจากเทคโนโลยีแล้วคุณภาพของบุคลากรในสถานศึกษามีความเกี่ยวข้องและสำคัญอย่างไรบ้าง? 

คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี มาร่วมเสวนาและพูดคุยในหัวข้อ “Future (What to Expect)” ระบบการศึกษาไทยยุคใหม่ (เปลี่ยนแปลง/ปรับตัว) อย่างไร? ระบบการศึกษาไทยสอดคล้องกับการเรียนการสอนในปัจจุบันจริงไหม ต้องเปลี่ยนแปลงในทิศทางไหน ครู/อาจารย์จะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนอย่างไร เพื่อให้เด็กมีส่วนมากขึ้น เด็กและเยาวชนไทยยุคใหม่ผ่านสายตาอดีตนายกรัฐมนตรี การเรียน/การสอนในอนาคตที่ให้เด็กรู้จักการคิดวิเคราะห์มากกว่าสอนให้ท่องจำ ให้เด็กมีโอกาสได้ลงมือปฏิบัติและเรียนรู้ด้วยตัวเอง 

ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และนายกสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย มาร่วมพูดคุยในหัวข้อ “Future (What to Expect)” มหาวิทยาลัยยุคใหม่?? สำหรับมหาวิทยาลัยนั้นการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรและการให้นักศึกษาได้เรียนรู้และทดลองปฏิบัติอาจไม่พออีกต่อไป เพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมต่างๆมีการวิจัย พัฒนาและการคิดต่อยอดอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจะทำอย่างไรให้นักศึกษาเหล่านี้สามารถเรียนรู้และเติบโตเพื่อก้าวออกไปเป็นแรงงานคุณภาพในภาคอุตสาหกรรมได้ นี่คือการบ้านที่มหาวิทยาลัยยุคใหม่ต้องทำ 

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาบรรยายในหัวข้อ Now (Must have Techs) อาทิ new normal หรือจะ (ไม่) normal กับการศึกษาไทย, เปิดเทอมครั้งนี้เปลี่ยนไปอย่างไร, ประเทศไทยวันนี้กับเทคโนโลยีด้านการศึกษา, มหาวิทยาลัยไทยในอนาคตควรเป็นอย่างไร เพื่อเป็นแนวทางในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพการณ์ทางการศึกษาในยุคใหม่นี้ได้อย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ 

ดร.วิโรจน์ จิรพิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สคูลดิโอ จำกัด มาร่วมพูดคุยในหัวข้อ “FUTURE OF SKILL” เด็กยุคใหม่ต้องเรียนรู้และมีทักษะด้านไหนบ้าง การพัฒนาทักษะและดึงศักยภาพของบุคลากรทางการศึกษาที่ไม่มีมีแค่เพียงครู/อาจารย์ 

นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิอีกมากมาย อาทิ ผศ. อนุชัย ธีระเรืองไชยศรี รองผู้อำนวยการ และคุณจิระ ชนรักสุข นักวิชาการศึกษา จากโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย มาบรรยายในหัวข้อ “ThaiMOOC platform เพื่อการเรียนรู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด”, ศ.ดร. สนอง เอกสิทธิ์ สาขาธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาบรรยายในหัวข้อ “การนำเทคโนดลยีมาใช้ในการศึกษา” และคุณชลิพา ดุลยากร (Co-Founder, Inskru Thailand) บรรยายในหัวข้อ “เทคโนโลยีนี้ดีต่อใจครู” และหัวข้ออื่นๆอีกมากมาย 

ทั้งหมดนี้คือเจตนารมณ์ของผู้จัดงาน EdTeX 2020 ที่เราต้องการเปิดมุมมองแห่งการเรียนรู้ใหม่ๆ และหวังว่าเวที EdTeX จะเป็นหนึ่งในตะเกียงความคิดที่จุดประกายให้กับผู้ประกอบวิชาชีพทางด้านการศึกษา วิชาชีพที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเยาวชน และประชาชนทั่วไปที่สนใจได้เข้าร่วมกิจกรรม และมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นสื่อกลางในการพัฒนาและเปลี่ยนผ่านการศึกษาไทยสู่ยุคใหม่ ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์โลก และเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบัน เพราะบทบาทของการสร้างระบบการศึกษาที่มีคุณภาพนั้นสำคัญมากต่อการเจริญเติบโตขึ้นของเศรษฐกิจในภายภาคหน้า 

EdTeX Webinar งานสัมมนาในรูปแบบออนไลน์นี้ จะขึ้นทุกเดือน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง Facebook Fanpage : EDTEXEXPO หรือที่ Website: www.edtex-expo.com