วันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

กระทรวงอุตฯ ผนึก สยามพิวรรธน์ กันตนา จัด “ตลาดนัดดารา” ครั้งใหญ่ รวมสินค้าออกแบบยุคใหม่ กระตุ้นรายได้ผู้ประกอบการสร้างสรรค์




  • กสอ. พร้อมแนะ 3 ทริค ออกแบบผลิตภัณฑ์อย่างไรให้ตรงใจผู้บริโภค “Design by Demand” “Customer Friendly” “Value Added” 

กระทรวงอุตสาหกรรม ผนึก สยามพิวรรธน์ กันตนา เปิด “ตลาดนัดดารา” รวมผู้ประกอบการสร้างสรรค์ กว่า 200 กิจการ จำหน่ายสินค้า ระหว่างวันที่ 17-19 กรกฎาคม เวลา 11.00 - 19.00 น. ณ รอยัล พารากอน ชั้น 5 สยามพารากอน คาดเงินสะพัดในงานกว่า 15 ล้านบาท โดยได้จัดระบบดูแลด้านสาธาณะสุขเพื่อควบคุมโรคตามข้อกำหนดของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนที่เดินทางมาร่วมงาน พร้อมแนะ 3 ทริค ออกแบบผลิตภัณฑ์ การใช้ความต้องการของตลาดเป็นตัวกำหนดการออกแบบ เพื่อเข้าถึงความต้องการที่แท้จริง ก่อนจะพัฒนาหรือออกแบบผลิตภัณฑ์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับผู้บริโภค จำหน่ายในขนาดที่กะทัดรัดขึ้น ไม่กระทบต่อสถานะทางการเงินของผู้บริโภค และ การพัฒนาสินค้าให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ในอนาคต ออกแบบสินค้า พร้อมคาดการณ์เทรนด์ในอนาคตเพื่อการสร้างมูลค่าจูงใจผู้ซื้อ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า หนึ่งในบทบาทของ กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) นอกจากการส่งเสริมภาคการผลิต คือ การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ ทั้งรายเล็กและรายใหญ่ให้สามารถดำเนินกิจการได้ พร้อมส่งเสริมให้เกิดการสร้างรายได้ และการจ้างงานที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ พบว่า กลุ่มของผู้ประกอบการในธุรกิจสร้างสรรค์ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน จึงได้ร่วมมือกับ กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด และ บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิด “ตลาดนัดดารา” เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับการจำหน่ายสินค้า จากศิลปินดารา ผู้ทำงานเบื้องหลัง ซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้ประกอบการสร้างสรรค์ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 กว่า 200 ร้านค้า นำสินค้าคุณภาพมาจัดจำหน่าย อาทิ เสื้อผ้าแฟชั่น เครื่องประดับ อาหารเครื่องดื่ม รวมผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนาจาก กสอ. 

กิจกรรมตลาดนัดดารา มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-19 กรกฎาคมนี้ เวลา 11.00 - 19.00 น. ณ รอยัล พารากอน ชั้น 5 สยามพารากอน ถือเป็นโอกาสดีที่ประชาชนทั่วไปจะได้มาจับจ่ายใช้สอยสินค้าอุปโภคและบริโภคคุณภาพดี ราคาเหมาะสม พร้อมกับได้รับความบันเทิงหลากหลายรูปแบบจากศิลปิน และนักแสดง ซึ่งถือเป็นการผ่อนคลายจากความตึงเครียดจากช่วงที่ผ่านมา ทั้งยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยให้มีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะมีเงินสะพัดในงานกว่า 15 ล้านบาท

สำหรับตลาดนัดดารา ถือได้ว่า เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการเปิดโอกาสให้กับทุกคนได้เป็นผู้ประกอบการ ทั้งยังสะท้อนภาพความช่วยเหลือและการให้ไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในกลุ่มต่าง ๆ อาทิ กลุ่มสินค้าเกษตรกรรม ได้ปรับสู่ เกษตรอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ อีกทั้งกลุ่มคนว่างงาน ได้สั่งการให้ กสอ. พัฒนาทักษะที่จำเป็น พัฒนาองค์ความรู้ และทักษะในการประกอบธุรกิจ ทั้งในด้านบริหารจัดการ ด้านการบัญชี ด้านการใช้ระบบไอทีและ E-commerce ด้านการปรับกระบวนการผลิต ด้านการตลาดในรูปแบบใหม่ รวมทั้งการส่งเสริมให้สามารถประกอบอาชีพตามความเชี่ยวชาญพิเศษในภูมิลำเนา รองรับความเป็นปกติใหม่ ทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งในกับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ นายสุริยะ กล่าว

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ระบุว่า ตลาดนัดดารา นอกจากจะเป็นแหล่งสำหรับการซื้อ-ขายผลิตภัณฑ์คุณภาพแล้ว ยังเป็นพื้นที่สำหรับการหาแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการยุคใหม่ในการศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยที่ผ่านมา กสอ. ได้มีการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกอย่างเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Thai-IDC) และพบว่าการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในยุคนี้ มี 3 ปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญประกอบด้วย 

  • การใช้ความต้องการของตลาดเป็นตัวกำหนดการออกแบบ หรือ Design by Demand โดยการศึกษาเทรนด์ หรือ ทิศทางความต้องการของผู้บริโภค เพื่อเข้าถึงความต้องการที่แท้จริง ก่อนจะพัฒนาหรือออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีมาตรการด้านสาธาณสุขต่าง ๆ มีความจำเป็นอย่างมาก ที่ผู้ผลิตต้องวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด 
  • การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับผู้บริโภค หรือ Customer Friendly การผลิตสินค้าในยุคนี้ นอกจากการออกแบบที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคแล้ว ยังต้องควบคุมต้นทุนเพื่อให้ราคาอยู่ในขอบเขต ที่สามารถหาซื้อได้ง่าย แบ่งรูปแบบการจำหน่ายในขนาดที่กะทัดรัดขึ้น และไม่กระทบต่อสถานะทางการเงินของผู้บริโภค 
  • การพัฒนาสินค้าให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ในอนาคต หรือ Value Added ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม โดยผู้ผลิตต้องมองว่า สินค้าที่จัดจำหน่ายไปนั้นมีมูลค่า ทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยออกแบบสินค้าให้มีลักษณะเฉพาะบางอย่าง หรือ จำนวนที่จำกัดก็จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในอนาคตได้ กระตุ้นแรงจูงใจผู้ซื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าในกลุ่มเสื้อผ้า เครื่องประดับ หรือกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย ที่หากสามารถคาดการณ์ทิศทางของตลาดในอนาคตได้ ก็จะกระตุ้นความต้องการซื้อได้มากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม นอกจากการจัดตลาดนัดดารา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้ประกอบการแล้ว ในอนาคต กสอ. ยังได้มีแผนเพื่อสนับสนุนให้บุคคลในวงการบันเทิง ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจ สามารถพัฒนาเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพได้ นอกจากนี้ กสอ. ยังได้เปิดคอร์สอบรมในรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้ความรู้กับผู้ประกอบการและประชาชนที่สนใจพัฒนาทักษะต่าง ๆ ที่มีความจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของอุตสาหกรรมได้ทันท่วงที ขณะที่ศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Thai-IDC) ได้ปรับรูปแบบการให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการมาใช้ระบบ Zoom ทำให้สามารถให้คำปรึกษาได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 นายณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการ หรือ ประชาชนทั่วไป มีความสนใจพัฒนา หรือ ออกแบบผลิตภัณฑ์ สามาถขอรับคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Thai-IDC) กองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โทรศัพท์ 0 2367 8021 หรือ ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ www.facebook.com/dipindustry และ www.dip.go.th




 * ดูอัลบั้มภาพได้ ที่นี่