วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ถ้าไม่สูบบุหรี่ก็สามารถเป็นมะเร็งปอดได้




โดย นพ. ศิระ เลาหทัย
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หน่วยศัลยศาสตร์ทรวงอกและหัวใจ 
ภาควิชาศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลวชิรพยาบาล

ปัจจุบันถึงแม้ว่าเราจะมีวิธีการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งได้เร็วและแม่นยำ แต่มะเร็งปอดก็คงยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของโลก อาการของมะเร็งปอด ส่วนมากมักไม่มีอาการ แต่อาจเริ่มต้นจากอาการไอ เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย บุคคลที่มีความเสี่ยงควรตรวจสุขภาพตัวเองบ่อย ๆ คือผู้ที่สูบบุหรี่ ซึ่ง “บุหรี่" เป็นปัจจัยหลักของการเกิดโรคมะเร็งปอดและโรคถุงลมโป่งพอง แต่อย่างไรก็ตาม การสูบบุหรี่แม้เป็นปัจจัยเสี่ยงหลักที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด แต่ไม่ใช่ปัจจัยเสี่ยงเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดว่าทำไมผู้ป่วยที่ไม่เคยสูบบุหรี่ ถึงสามารถเป็นมะเร็งปอดได้ 

แต่จากการศึกษาจากงานวิจัยหลาย ๆ ฉบับ ที่เกี่ยวข้องพบว่าสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดความเสี่ยงมะเร็งปอดได้แก่ 1. สารเรดอน เป็นสารกัมมันตรังสีที่มีอยู่ทั่วไปทุกหนแห่ง ไม่มีรส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยประสาท สัมผัสใด ๆ ของมนุษย์ เป็นสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอดในมนุษย์ได้เป็นอันดับที่สอง รองจากบุหรี่ 2. แร่ใยหิน หรือ แอสเบสตอส เป็นสารก่อมะเร็งที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งโทษและพิษภัยของแร่ใยหิน นั้นก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอด ไต และโรคมะเร็งที่มีชื่อว่า Mesothelioma ซึ่งสามารถพบผลิตภัณฑ์ที่คนไทยใช้อยู่บ่อย ๆ ก็คือ กระเบื้องมุงหลังคาแบบลูกฟูก, ท่อระบายน้ำ, กระเบื้องปูพื้น, ฝ้าเพดาน, ฝาผนัง, ฉนวนกันความร้อน, ท่อน้ำร้อน, หม้อไอน้ำ, พลาสติกขึ้นรูปต่าง ๆ 3. สารเคมีหนัก 4. การสูดดมควันบุหรี่จากคนใกล้ตัว (Second Hand Smoker) และ 5. พันธุกรรมที่ผิดปกติ 

นพ.ศิระ เลาหทัย ศัลยแพทย์ทรวงอกเชี่ยวชาญด้านผ่าตัดส่องกล้องมะเร็งปอด โรงพยาบาลวชิรพยาบาล กล่าวว่า มีรายงานการศึกษาพบว่าผู้ป่วยมะเร็งปอดในทวีปเอเชียนั้น 30 - 40% เป็นผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน โดยมากกว่า 50%ของเพศหญิงนั้นไม่เคยสูบบุหรี่ ซึ่งจะแตกต่างจากประเทศในฝั่งทวีปยุโรป ซึ่งมีเพียงแค่ 10-20% เท่านั้นที่ไม่เคยสูบบหรี่ แต่กลับป่วยเป็นมะเร็งปอด สำหรับมะเร็งปอดไม่ได้พบมากแต่ในผู้ชายเท่านั้น เห็นได้จากสถิติในปี 2018 จากการสำรวจของ World Cancer Research Fund International ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดรายใหม่เพิ่มถึง 2 ล้านคน และยังพบผู้หญิงป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดมากติดอันดับ 1 ใน 3 ของโรคมะเร็งทั้งหมด โดยลักษณะของผู้ป่วยที่สูบบุหรี่กับไม่สูบบุหรี่นั้น ผู้ป่วยที่ไม่สูบบุหรี่นั้นส่วนมากมักจะพบมะเร็งชนิดที่เรียกว่า Adenocarcinoma ส่วนผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ มักจะพบเป็น Squamous Cell Carcinoma ซึ่งมักจะพบในหลอดลมขนาดกลาง โดยมักอยู่ตรงกลางกลีบปอด มะเร็งประเภทนี้เกิดจากการกระตุ้นการอักเสบทำให้เกิดความเสี่ยงที่อาจส่งเสริมให้เป็นมะเร็ง แต่มะเร็งประเภท Adenocarcinoma มักจะอยู่ริมปอด นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยมะเร็งปอดที่ไม่เคยสูบบุหรี่มักจะพบความผิดปกติของยีนร่วมด้วยได้แก่ EGFR (epidermal growth factor), anaplastic lymphoma kinase (ALK), ROS1 และ MET

การรักษามะเร็งปอดของผู้ป่วยสูบบุหรี่ และไม่สูบบุหรี่ค่อนข้างคล้ายกัน ได้แก่ การผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด และการฉายแสง สำหรับการผ่าตัดนั้นมีบทบาทหลักในกลุ่มที่เป็นมะเร็งปอดระยะเริ่มต้น(ระยะที่ 1 และ 2) โดยปัจจุบันเราสามารถผ่าตัดผ่านทางการส่องกล้อง โดยมีแผลขนาดเล็ก 3-4 ซม. ช่องเดียว ส่งผลทำให้ผู้ป่วยเจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว และสามารถกลับมาดำรงชีวิตปกติได้อย่างรวดเร็ว ส่วนในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะที่ 3และ4 การให้ยาเคมีบำบัด ยาพุ่งเป้า (Target therapy) และการฉายแสง เข้ามามีบทบาทเป็นหลัก

ถึงแม้ว่ามะเร็งปอดนั้นอาจเกิดได้กับทุกคน แต่การป้องกันก็ดีกว่าการรักษา ฉะนั้นคนที่จะสูบบุหรี่ขอให้คิดใหม่ และควรหลีกเลี่ยงสารเคมี หรือความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดมะเร็ง สุดท้ายนี้การออกกำลังกาย และการกินอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ทำให้โอกาสเกิดโรคมะเร็งลด