สภาวิศวกร ปลื้มศักยภาพ “วิศวกร - มหาวิทยาลัยไทย” ผลิต “นวัตกรรมและเทคโนโลยี” หนุนแพทย์และพยาบาล ต้านโรคอุบัติใหม่โควิด-19 ดังนี้ 'หุ่นยนต์ขนส่งเวชภัณฑ์' ลดเสี่ยงติดเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์ 'ห้องแยกโรคความดันลบ' ห้องปรับความดันอากาศภายในห้องต่ำกว่าภายนอกห้อง พร้อมป้องกันเชื้อโรคปนเปื้อนไหลออกสู่ภายนอกห้อง ‘หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยแสงยูวี’ หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อประสิทธิภาพสูง ทำลายดีเอ็นเอของไวรัส และหยุดยั้งประสิทธิภาพในการแพร่พันธุ์ ‘ต้นแบบเครื่องช่วยหายใจ’ นวัตกรรมที่ช่วยควบคุมการบีบของเครื่องช่วยหายใจ ให้เป็นจังหวะเหมือนกับจังหวะการหายใจของผู้ป่วย ฯลฯ พร้อมชี้อาชีพ “วิศวกร” มีงานรองรับสูงในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ด้วยปัจจัยด้านความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ภัยพิบัติ เศรษฐกิจ และสังคมในยุคดิสรัปชัน
ศาสตราจารย์ ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์โรคอุบัติใหม่ “โควิด-19” (COVID-19) ได้คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกแล้วกว่า 2.5 แสนราย และมีผู้ติดเชื้อสูง 3.6 ล้านราย ขณะที่ผู้ติดเชื้อในไทยพบ 2,987 ราย (ที่มา : www.worldometers.info เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563) แต่ทั้งนี้ ท่ามกลางความสูญเสียดังกล่าว ได้สร้างวีรบุรุษในชุดต่าง ๆ หลากรูปแบบ โดยเฉพาะ “ชุดกาวน์” หรือ “บุคลากรทางการแพทย์” ผู้เสียสละทำหน้าที่หลักในการตรวจรักษา และมีความใกล้ชิดโดยตรงกับผู้ป่วย อีกทั้งวีรบุรุษเสื้อช็อป อย่าง “วิศวกรไทย” และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ผู้อยู่เบื้องหลังการควบรวมศาสตร์ “วิศวกรรม” สู่การผลิต “นวัตกรรมและเทคโนโลยี” หนุนหลังบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้การตรวจรักษาเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพและราบรื่น
โดยที่ผ่านมา พลังของ “วิศวกร” และ “มหาวิทยาลัยไทย” ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการผลิตนวัตกรรม และเทคโนโลยี ที่เอื้อต่อการรักษาทางการแพทย์ และผ่านกระบวนการทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานเป็นที่เรียบร้อยแล้วจำนวนมาก โดยมีรายละเอียดดังนี้
• ผลิตนวัตกรรม #เซฟบุคลากรทางการแพทย์ ด้วย “วิศวกรไฟฟ้า” การแพร่ระบาดของเชื้อดังกล่าว เกิดขึ้นได้ในระยะใกล้ จึงเป็นผลให้บุคลากรทางการแพทย์เสี่ยงรับเชื้อสูง วิศวกรไฟฟ้า ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเชื่อมต่อ ออกแบบ และผลิตระบบไฟฟ้ารูปแบบต่าง ๆ จึงได้ทำงานร่วมกับ วิศวกรเครื่องกล ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบชิ้นส่วนเครื่องจักร พัฒนานวัตกรรมที่เข้ามาทำหน้าที่หรือลดการทำงานบางขั้นตอน เพื่อลดโอกาสการได้รับเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ อาทิ 'หุ่นยนต์ขนส่งเวชภัณฑ์' หุ่นยนต์เสิร์ฟยาและอาหารถึงมือผู้ป่วย โดยที่บุคลากรทางการแพทย์สามารถควบคุมได้จากห้องทำงาน โดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) นอกจากนี้ วิศวกรรมไฟฟ้า ยังมีบทบาทสำคัญในการติดตั้งระบบสื่อสาร/อินเตอร์เน็ต ภายในโรงพยาบาลสนาม เพื่อให้แพทย์-ผู้ป่วยสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยล่าสุดบุคลากรทางวิศวกรรมฯ มธ. ได้ติดตั้งระบบดังกล่าว ณ รพ.สนาม มธ. เรียบร้อยแล้ว
• สร้างห้องกรองเชื้อโรค ด้วย “วิศวกรรมเครื่องกล” เพราะ COVID-19 จะแพร่กระจายเชื้อได้ดีในอากาศ อีกทั้งยังสามารถอยู่ในอากาศได้นานถึง 20 นาที วิศวกรรมเครื่องกล ผู้ปราดเปรื่องเรื่องงานออกแบบชิ้นส่วนเครื่องจักร การถ่ายเทพลังงานความร้อน ฯลฯ จึงได้ไอเดียในการสร้างพื้นที่ปิดหรือห้องเฉพาะ ที่ทำหน้าที่คัดกรองฝุ่นและเชื้อโรค เพื่อช่วยในการควบคุมปริมาณการกระจายของโรค อาทิ 'ห้องแยกโรคความดันลบ' จาก สจล. ห้องปรับความดันอากาศภายในห้องต่ำกว่าภายนอกห้อง เพื่อไม่ให้อากาศภายในห้องที่อาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนไหลออกสู่ภายนอกห้อง ‘หุ่นยนต์ผู้ช่วยพยาบาล’ (CMU Aiyara) ลดความเสี่ยงของผู้ปฏิบัติงาน COVID-19 จากศูนย์นวัตกรรมสุขภาพคณะแพทยศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
• พัฒนาสิ่งประดิษฐ์ฆ่าเชื้อโรคให้ตายสนิท ด้วย “วิศวกรรมคอมพิวเตอร์” COVID-19 ถือเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ดังนั้น การมีนวัตกรรมหรือระบบคอมพิวเตอร์ ที่เข้ามาช่วยตรวจจับพร้อมฆ่าเชื้อในพื้นที่เฉพาะ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ณ ขณะนี้ ซึ่งวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ อีกหนึ่งสายงานที่มีบทบาทและสามารถพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวได้ ผ่านการ Coding ชุดคำสั่ง ทั้งการทำงานของคลื่นความถี่ การตรวจจับสิ่งมีชีวิตขอนาดเล็กอย่าง ไวรัส แบคทีเรีย โดยเซนเซอร์ อาทิ ‘หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยแสงยูวี’ จาก สจล. ‘หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยแสงยูวี’ (Germ Saber Robot) จากศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (NSD) สวทช. ที่ร่วมมือกับ จุฬาฯ หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อ ประสิทธิภาพสูง สำหรับฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่เฉพาะ รวมถึงเชื้อบนอุปกรณ์เฉพาะของแพทย์ และ ‘ตู้ฆ่าเชื้อโคโรนา 2019 ด้วยแสงยูวี’ สำหรับใช้ในครัวเรือน โดยทีมนักศึกษา สาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ฯลฯ
• ผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ ป้อน รพ. ด้วย “วิศวกรรมชีวการแพทย์” ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่อัตราเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับความพร้อมด้านเครื่องมือทางการแพทย์ของโรงพยาบาลหลายแห่ง วิศวกรรมชีวการแพทย์ จึงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการควบรวม องค์ความรู้ “วิศวกรรมศาสตร์” และ “แพทยศาสตร์” สู่การพัฒนาเครื่องมือทางการแพทย์ในภาวะขาดแคลนหรือฉุกเฉิน อาทิ ‘ต้นแบบเครื่องช่วยหายใจ’ (Mini Emergency Ventilator) จาก สจล. นวัตกรรมที่ช่วยควบคุมการบีบของเครื่องช่วยหายใจ ให้เป็นจังหวะเหมือนกับจังหวะการหายใจของผู้ป่วย พร้อมทั้งสร้างความดันบวกให้กับปอดของผู้ป่วย (อยู่ระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพ และเตรียมผลิตจริงเพื่อส่งมอบโรงพยาบาลใช้งานในภาวะฉุกเฉิน) ‘ตู้โควิเคลียร์’ หรือ ตู้พ่นซิลเวอร์นาโนฆ่าเชื้อ ลดความเสี่ยงไวรัสโควิด-19 ทำหน้าที่ฆ่าเชื้อโรคที่มาสัมผัสกับผิวหนังหรือเสื้อผ้า มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อได้นาน 24 ชม. ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยมหิดล และ ภาคเอกชนอย่าง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ฯลฯ
• ก่อร่างสร้าง รพ.ฉุกเฉิน ด้วยหลักการ “วิศวกรรมโยธา” เพราะการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นวงกว้าง จึงเป็นเหตุให้บางประเทศต้องเตรียมแผนตั้งรับใหม่ทันทีอย่าง “ประเทศจีน” ที่ได้จัดสร้าง โรงพยาบาลฉุกเฉิน เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณผู้ป่วยได้ถึง 1,000 เตียงในเวลา 10 วัน ทั้งนี้ หากมองในแง่ของโครงสร้างจะพบว่า เป็นความชำนาญการในสายงานวิศวกรรมโยธา ที่สามารถประเมินศักยภาพของพื้นที่ ที่สามารถรองรับโครงสร้างดังกล่าวได้ การเลือกใช้วัสดุ รวมถึงบริหารแนวทางก่อสร้างให้กระทบผู้คนโดยรอบน้อยที่สุด นอกจากนี้ ทีมคณาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา และวิศวกรรม เคมี จุฬาฯ ยังได้ร่วมคิดค้น “การทดสอบมาตรฐานชุด PPE เพื่อการใช้งานสำหรับแพทย์ในห้อง ICU COVID” เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้งานชุด PPE ได้อย่างปลอดภัย
“แม้ในปัจจุบัน มีวิศวกรศักยภาพสูง ที่ขึ้นทะเบียนกับสภาวิศวกร มากกว่า 300,000 คน แต่อาชีพดังกล่าว ยังเป็นอาชีพที่มีความต้องการสูง มีงานที่พร้อมรองรับ และมีความสำคัญต่อประเทศไทย จากปัจจัยด้านความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติและภัยพิบัติต่าง ๆ อาทิ แผ่นดินไหว อาคารถล่ม อุทกภัย ภัยแล้ง และสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 รวมถึงความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคมในยุคดิสรัปชันในอนาคต”
อย่างไรก็ดี นอกเหนือจาก “วิศวกร” ที่เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อช่วยเหลือ และสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ในสถานการณ์ดังกล่าว คนไทยทุกคน ทุกภาคส่วน ทุกสายอาชีพ ทั้งผู้ประกอบการธุรกิจ แมสเซนเจอร์รับ-ส่งเอกสารหรืออาหาร พยาบาล แม่บ้าน พ่อบ้าน ผู้ทำความสะอาด ฯลฯ ก็มีส่วนร่วมในการช่วยทีมแพทย์ลดตัวเลขผู้ติดเชื้อลงได้ ด้วยการมีจิตสาธารณะในการป้องกันการแพร่กระจายของ COVID-19 อาทิ การหมั่นล้างมือให้สะอาด หรือเลือกใช้เจลแอลกอฮอล์ทุกครั้งหลังหยิบจับสิ่งของ สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ปิดปากเมื่อไอ/จาม หลีกเลี่ยงการเดินทางในที่ชุมชน เลือกทานอาหารและออกกำลังกายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันอยู่เสมอ และอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเว้นระยะปลอดภัยทางสังคม Social distancing ที่ทุกคนสามารถทำได้ เพื่อร่วม #หยุดเชื้อเพื่อชาติ ขานรับนโยบายรัฐบาล และให้ประเทศไทยก้าวพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน ศาสตราจารย์ ดร. สุชัชวีร์ กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวกิจกรรมของสภาวิศวกรได้ที่ สายด่วน 1303 เว็บไซต์ www.coe.or.th หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/coethailand และไลน์ไอดี @coethai