ต้องยอมรับว่าในสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 “สื่อ” ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการใช้ชีวิตของทุกคนบนโลก เริ่มตั้งแต่การเสพข่าวสาร การทำงาน การใช้สื่อเป็นตัวกลางในการติดต่อระหว่างกัน การให้ความบันเทิงเริงใจ และแม้แต่กระทั่งการสร้างรายได้จากการผลิตคอนเทนต์ โดยวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ยังได้เปลี่ยนแปลงทั้งในแง่ความก้าวหน้าและการถอยลงของสื่อบางประเภทอันเนื่องมาจากปัจจัยพฤติกรรมการเสพสื่อของผู้คนที่เปลี่ยนไป รวมถึงรูปแบบการนำเสนอของเจ้าของสื่อที่เป็นอิทธิพลระหว่างกัน ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้เป็นเรื่องที่น่าจับตามองมากเลยทีเดียว
เพื่อจับกระแสและความเป็นไปของสื่อภายใต้ภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จึงได้ออกมาเผยถึงแนวโน้ม ปรากฏการณ์ด้านนวัตกรรมรวมทั้งแนวทางการปรับตัวของสื่อ โดย ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(องค์มหาชน) หรือ NIA ได้เผยว่า จากภาวะวิกฤติและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในขณะนี้ “สื่อและสื่อมวลชน” ถือว่าเป็นตัวกลางสำคัญที่จะช่วยส่งต่อข่าวสาร รวมไปถึงข้อมูลที่ประชาชนจำเป็นต้องรู้ โดยสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้ นับว่ามีผลกระทบต่อการรายงานข่าวของสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะด้านรูปแบบ เทคนิค และวิธีการนำเสนอ เนื่องจากต้องมีทั้งข้อมูลเชิงลึกทางสถิติและองค์ความรู้ทางการแพทย์ที่ต้องรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ และเข้าใจได้ง่าย เน้นสร้างความเข้าใจมากกว่าความตระหนกให้สังคม จึงจะตอบโจทย์ความต้องการของผู้เสพข่าวในยุคปัจจุบัน
โควิด – 19 ปัจจัยการปรับตัวครั้งสำคัญของสื่อ
หนึ่งการเปลี่ยนแปลงที่จะเห็นได้ชัดเจนคือสื่อขนาดใหญ่จะเหลือน้อยลง นายทุนจำป็นต้องอาศัยโอกาสนี้ในการลดขนาดบริษัท ลดจำนวนพนักงาน และหันมาทำสื่อออนไลน์มากยิ่งขึ้น ซึ่งหลังจากนี้ทุกคนจะได้เห็นสำนักข่าวออนไลน์เพิ่มขึ้นกว่าที่ผ่านมา นอกจากนี้ การนำเสนอข่าวในโซเชียลมีเดียจะกลายเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมมากกว่าการนำเสนอข่าวผ่านหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ โดยเฉพาะเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ที่จะกลายเป็นสื่อกระแสหลักโดยปริยาย ยิ่งไปกว่านั้นคือ มีแนวโน้มที่ผู้ท่องโลกโซเชียลมีเดียจะย้ายการติดตามข่าวสารจากเฟซบุ๊กมายังทวิตเตอร์เนื่องจากมีความรวดเร็วกว่า รูปแบบการนำเสนอคอนเทนต์ที่แตกต่างและมีเอกลักษณ์ ผู้ใช้งานเลือกได้ว่าอยากจะเห็นอะไร และติดตามเฉพาะสิ่งที่สนใจ
Privacy & Security เรื่องสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม
หากพูดถึงสื่อในยุคดิจิทัลความเป็นส่วนตัวและปลอดภัยมีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลบางอย่างเกี่ยวกับทางด้านการแพทย์ หรือระบบการติดตามตัวที่ใช้ในช่วงสถานการณ์วิกฤตนี้ ซึ่งนอกจากรัฐบาลควรมีแนวทางการจัดการความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยให้สามารถดำเนินไปด้วยกันแล้ว ประชาชนเองก็จำเป็นต้องเรียนรู้การปกป้องข้อมูลของตนเองอีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ในปัจจุบันเราจะพบได้ทั้งข่าวลวง (Fake News) ที่เน้นนำเสนอข้อมูลเท็จแต่อาศัยการเผยแพร่อย่างรวดเร็วเพื่อให้เกิดความเข้าที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง และการปั่นกระแสด้วยการการนำเสนอด้วยการอ้างอิงข้อมูลเพื่อทำให้คนมองไปในทิศทางเดียวกัน และควบคุมวิธีคิดของคนในโลกออนไลน์ ดังนั้น สื่อเองจำเป็นต้องมีความตระหนักในการนำเสนอข่าวด้วยความมีจริยธรรมให้มากยิ่งขึ้น เพราะปัจจุบันนี้ไม่ได้มีแค่ข่าวลวงหรือ Fake News เท่านั้น แต่ยังมีการปั่นกระแสเกิดขึ้น โดยการปั่นกระแสนั้นจะเป็น แตกต่างจาก Fake News ที่นำเสนอด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ อาศัยการเผยแพร่อย่างรวดเร็วเพื่อให้คนเชื่อในช่วงเวลานั้น แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งการปั่นกระแสและการสร้าง Fake News ก็ถือว่ามีผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบ โดยด้านลบคือประชาชนจะถูกใช้เป็นเครื่องมือและสร้างความแตกแยกในสังคม แต่ด้านบวกคือสื่อจะตระหนักและนำเสนอข่าวด้วยจริยธรรมมากยิ่งขึ้น
การใช้สื่อออนไลน์ยังมีผลกระทบด้านความเป็นส่วนตัวด้วยเช่นกัน เพราะที่ผ่านมาในประเทศไทยมักมองข้ามเรื่องดังกล่าว ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการเคารพความเป็นส่วนตัวถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะข้อมูลทางการแพทย์ ระบบการติดตามตัว ฯลฯ โดยในช่วงภาวะฉุกเฉินเช่นนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องหาแนว ส่วนประชาชนเองก็จำเป็นจะต้องป้องกันข้อมูลของตนเองโดยไม่นำข้อมูลส่วนตัวเข้าไปเผยแพร่ในระบบออนไลน์ หรือไม่นำไลฟ์สไตล์ส่วนตัวไปผูกติดกับโซเชียลมีเดีย ซึ่งหากทำได้ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องการถูกละเมิดเรื่องดังกล่าว
ความรวดเร็วกับการแข่งขันของสื่อ
สื่อในปัจจุบันส่วนใหญ่ยังแข่งขันกันที่ความรวดเร็ว ซึ่งในความเป็นจริงแล้วต้องมีปัจจัยอื่นเข้ามาร่วมด้วย หากสื่อมวลชนต้องการให้ประชาชนเข้าถึงข่าวหรือคอนเทนต์ของตนเอง จะต้องมาพร้อมกับความน่าเชื่อถือควบคู่ไปกับจริยธรรม ความแม่นยำของตัวผู้นำเสนอ รวมทั้งต้องเปิดโอกาสด้านการมีส่วนร่วมระหว่างสื่อและผู้บริโภค เพื่อทำให้เกิดความใกล้ชิด และเข้าถึงกันได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องแข่งขันกันด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อทำให้ภาพลักษณ์ของผู้ผลิตสื่อดูดีอยู่เสมอ โดยตัวอย่างของนวัตกรรมที่สำคัญ ได้แก่ เทคโนโลยีเสมือนจริงเพื่อให้เกิดอารมณ์ร่วมในการรับชม การใช้ AI ในกระบวนการทำข่าว การรวบรวม การสรุปผลและเผยแพร่แบบเรียลไทม์ เทคโนโลยีการถ่ายทอดสดที่มีมากกว่าหนึ่งช่องทาง รวมทั้งการใช้ Big Data Chatbot และอื่น ๆ เพื่อเก็บข้อมูลและเรียนรู้พฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อให้การนำเสนอข่าวเข้าถึงความสนใจได้มากที่สุด
ผู้เล่นใหม่ในวงการสื่อ
สถานการณ์ในปัจจุบัน และการแข่งขันของสื่อได้ทำให้เกิดผู้เล่นเข้ามาอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะที่รู้จักกันในชื่อของ อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) บล็อกเกอร์ (Blogger) ยูทูบเบอร์ (Youtuber) รวมทั้ง ผู้ใช้ TikTok ที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย ข้อดีคือทำให้คนได้เห็นคอนเทนท์ที่มีความหลากหลาย ผู้คนสามารถผันตัวเป็นสื่อและสร้างรายได้ และนำมาซึ่งการแข่งขันทั้งระหว่างผู้เล่นใหม่ รวมทั้งสื่อขนาดใหญ่ที่ต้องมีการสร้างสรรค์เนื้อหาให้ตรงใจกับผู้รับชม เพื่อแข่งขันกันในการดึงเม็ดเงินโฆษณาเข้ามาสู่รูปแบบการนำเสนอเนื้อหา มากกว่ารูปแบบโฆษณาที่เคยเห็นบนหน้าจอทีวี สิ่งพิมพ์ แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นโอกาสให้กับผู้เล่นหน้าใหม่ ๆ ที่จะได้รับความเท่าเทียมบนสื่อต่าง ๆ มากขึ้น แต่ข้อที่ควรคำนึงถึงก็คือ จะผลิตคอนเทนต์อย่างไร ผลิตด้วยวิธีไหน และเผยแพร่บนช่องทางใด (Online Streaming) ซึ่งถ้าหากแก้โจทย์เหล่านี้ได้ ก็จะทำให้วงการสื่อของไทยมีสีสัน และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง
ดร.พันธุ์อาจ กล่าวทิ้งท้ายว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการสร้างสรรค์สื่อเป็นตัวสร้างมูลค่าที่สำคัญให้กับผู้ที่ดำเนินธุรกิจดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากการสร้างมูลค่าที่เป็นรายได้ ผู้ที่ผลิตสื่อต้องผลักดันให้เกิดมูลค่าของคอนเทนท์ มูลค่าทางใจ และการรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค รวมทั้งต้องมีสิ่งที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับบุคคลและสังคม อย่างไรก็ดี ในอนาคตสื่อยังคงเป็นองค์กรที่มีบทบาทที่สำคัญที่ช่วยชี้นำคนในสังคมได้แทบจะทุกประเด็น ซึ่งหากสื่อมีคุณสมบัติที่ครบทุกมิติ ก็จะขับเคลื่อนธุรกิจและอยู่รอดในโลกดิดิทัลได้อย่างยั่งยืน
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-017-5555 เว็บไซต์ www.nia.or.th และ facebook.com/NIAThailand