วันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2562

สภาวิศวกร จ่อแผนฟื้นฟูอุบลฯ “ติดตั้งระบบเตือนภัย – เสริมตลิ่งสูง – ทำระบบท่อระบายน้ำ” รุดส่งทัพ “วิศวกรอาสา” เดินเท้าประเมินความเสียหายอุบลฯ

สภาวิศวกร จ่อแผนฟื้นฟูอุบลฯ ระยะยาว หวั่นซ้ำรอยท่วมใหญ่ปี 2521 “ติดตั้งระบบเตือนภัย – เสริมตลิ่งสูง – ทำระบบท่อระบายน้ำ” ดังนี้ ติดตั้งระบบเตือนภัย ที่สามารถพยากรณ์อากาศและตรวจระดับน้ำขึ้นที่แม่นยำ-เรียลไทม์ หนุนประชาชนขนย้ายปลอดภัย เสริมตลิ่งสูงบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำมากกว่า 4 เมตร โดยเฉพาะในพื้นที่ก่อนถึงเขตเมือง เพื่อเพิ่มปริมาตรในการรองรับน้ำ ทำระบบท่อ/อุโมงค์ระบายน้ำขนาดย่อม เพื่อระบายน้ำออกไปให้มากที่สุดและป้องกันน้ำล้นตลิ่ง ซึ่งสามารถทำได้ภายใน 1 ปี โดยกระทบประชาชน พร้อมหนุนทัพ “วิศวกรอาสา” ลงพื้นที่ประเมินความเสียหาย-แนะแผนซ่อมแซมเบื้องต้น อาทิ 1) ทำค้ำยันกำแพงบ้านที่ทรุดเอียง 2) ถมดินกลับคืนฐานบ้าน และ 3) ทดลองปล่อยลูกปิงปองหรือวัตถุทรงกลมบนพื้นบ้าน เพื่อสังเกตทิศทางการไหล ฯลฯ คู่ขนานหลักวิชาชีพวิศวกรรมและอุปกรณ์จากวิศวกรผู้ชำนาญ ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร ได้ลงพื้นที่พร้อม วิศวกรอาสา 175 ชีวิต ประเมินความเสียหายโครงสร้างด้านวิศวกรรมของที่พักอาศัยและสิ่งสาธารณะประโยชน์ ในพื้นที่ประสบอุทกภัย 2 อำเภอ พร้อมแจก “ไกด์บุ๊คสำรวจซ่อมแซมบ้าน ฉบับชาวบ้านผู้ประสบอุทกภัย”

ศาสตราจารย์ ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2562 สภาวิศวกร พร้อมวิศวกรอาสา สถาปนิกจิตอาสา และอาสาสมัครจำนวนทั้งสิ้น 145 ชีวิต ได้ลงพื้นที่ประเมินความเสียหาย และช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัย ในพื้นที่อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ได้เพียง 10% หรือราว 1,600 ครัวเรือน ซึ่งยังคงมีพี่น้องที่ต้องหารความช่วยเหลืออยู่อีกถึง 14,000 ครัวเรือน ซึ่งมีประเด็นที่น่ากังวล ได้แก่ การเลื่อนไถลของหน้าดิน การทรุดตัวและพังชำรุดของสิ่งปลูกสร้าง และระบบไฟฟ้า

ในวันต่อมา ทีมช่วยเหลือนำโดยนายกสภาวิศวกร วิศวกรจิตอาสา และเครือข่ายอาสาสมัคร รวมกว่า 175 ชีวิต เตรียมลงพื้นที่ช่วยเหลือพี่น้องเพิ่มเติม ใน 6 พื้นที่ ครอบคลุม 2 อำเภอ คือ อำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอวารินชำราบ อาทิ ชุมชนท่าบ้งมั่ง ชุมชนท่ากอไผ่ ชุมชนกุดตาขาว ชุมชนหาดสวนสุข ชุมชนบ่งใหม่ และ ชุมชนราชธานีอโศก ในด้านวิศวกรรมและความปลอดภัย การฟื้นฟูที่พักอาศัย ระบบไฟฟ้า โยธา และสิ่งสาธารณูปโภค ตั้งเป้าช่วยเหลือเพิ่มอีก 500 ครัวเรือน ซึ่งพบจุดที่ต้องแก้ไขเร่งด่วนจำนวนมาก อาทิ อาคารในโรงเรียนที่เกิดการทรุดตัวจากน้ำกัดเซาะ ที่พักอาศัยของประชาชนที่ทรุดเอียง สะพานข้ามแหล่งน้ำชำรุด ฯลฯ พร้อมแนะแนวทางซ่อมแซมแก่ภาคประชาชน อาทิ 1) ทำค้ำยันกำแพงบ้านที่ทรุดเอียง 2) ถมดินกลับคืนฐานบ้าน และ 3) ทดลองปล่อยลูกปิงปองหรือวัตถุทรงกลมบนพื้นบ้าน เพื่อสังเกตทิศทางการไหล ฯลฯ ควบคู่ไปกับการอาศัยองค์ความรู้ตามหลักวิชาชีพวิศวกรรมและอุปกรณ์จากวิศวกรผู้ชำนาญ

นอกจากนี้ สภาวิศวกรได้ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และภาคีเครือข่าย เตรียมหารือ นายกรัฐมนตรี พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขอุบัติภัยในระยะยาว ดังรายละเอียดต่อไปนี้ 

1. ติดตั้งระบบการเตือนภัยล่วงหน้า ด้วยการติดตั้งระบบเตือนภัย ที่สามารถพยากรณ์อากาศ และการตรวจระดับน้ำขึ้นที่แม่นยำและเรียลไทม์ เพื่อให้ประชาชนสามารถทำการขนย้ายหรืออพยพไปยังศูนย์พักพิงได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย เนื่องจากในปี 2562 ระดับน้ำเพิ่มระดับอย่างรวดเร็วโดยเฉลี่ยวันละ 1 เมตร 

2. ทำตลิ่งสูงบริเวณริมแม่น้ำมูล โดยการเสริมตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำให้สูงขึ้นกว่า 4 เมตร หรือเทียบเท่าระยะความสูงที่พ้นพื้นอาคาร 2 ชั้น โดยเฉพาะในพื้นที่ก่อนถึงเขตเมือง เพื่อเพิ่มปริมาตรในการรองรับน้ำ (ปีนี้ท่วมสูงถึง 6 เมตร) 

3. ทำระบบท่อหรืออุโมงค์ระบายน้ำขนาดย่อม ด้วยการเชื่อมต่อจากแม่น้ำมูล ลอดใต้ถนนไปยังแหล่งระบายน้ำใหญ่ หรือแก้มลิง เพื่อทำการระบายน้ำออกไปให้มากที่สุด พร้อมป้องกันน้ำเอ่อล้นตลิ่ง ซึ่งแนวทางดังกล่าวสามารถทำได้ภายใน 1 ปี และเป็นการดำเนินการได้โดยที่ประชาชนไม่เดือดร้อนเรื่องการเวนคืนที่ดิน

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร ได้ลงพื้นที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วมบ้านเรือนทั้งหมด 2 อำเภอ คือ อำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอวารินชำราบ พร้อมวิศวกรอาสา 175 ชีวิต ประเมินความเสียหายโครงสร้างด้านวิศวกรรมของที่พักอาศัย และสิ่งสาธารณะประโยชน์ พร้อมแจก “ไกด์บุ๊คสำรวจซ่อมแซมบ้าน ฉบับชาวบ้านผู้ประสบอุทกภัย” เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลด “คู่มือการสำรวจและซ่อมแซมบ้าน ฉบับผู้ประสบอุทกภัย” ได้ที่เว็บไซต์ www.coe.or.th หรือติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวกิจกรรมของสภาวิศวกร ได้ที่เว็บไซต์ www.coe.or.th และสายด่วน 1303



 * ดูอัลบั้มภาพได้ ที่นี่