วันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2562

“ดร.อรรชกา” ปธ.บอร์ดซีอีเอ เผยดัชนีเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยรุ่ง สร้างรายได้แตะ 1.4 ลลบ. รุกเปิดเวที CEA Forum 2019 กระตุกพลังคิดครีเอทีฟ ยกระดับเศรษฐกิจประเทศ




  • ซีอีเอ ปักธง 2563 ดัน Creative Caravan กระจายแนวคิดสร้างสรรค์คนรุ่นใหม่ , ขยายแพลตฟอร์มทางธุรกิจ เพื่อเพิ่มโอกาสนักสร้างสรรค์, ดันอุตฯ ดนตรี ศิลปะ การแสดงไทยแพร่หลาย, หนุนยกระดับ “กรุงเทพฯ” ก้าวสู่ “เมืองสร้างสรรค์” สาขาการออกแบบของยูเนสโก 
  • ซีอีเอ พร้อมเปิดเวที CEA FORUM 2019 ครั้งแรก ! รับวาระ 1 ปี หนุนเชื่อมโยงนักคิดและนักสร้างสรรค์ชั้นนำ ขยายผลองค์ความรู้ยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทย 

ดร. อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) เผยดัชนีเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยรุ่ง หลังพบสร้างรายได้เข้าประเทศถึง 1.4 ล้านล้านบาท หนุนเร่งเครื่องศักยภาพการแข่งขันไทยใน 3 มิติ ได้แก่ บุคลากรสร้างสรรค์ ธุรกิจสร้างสรรค์ และพื้นที่สร้างสรรค์ ผ่านการผนึกกำลังหน่วยงานทุกภาคส่วน สู่การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างเป็นรูปธรรม โดยล่าสุด เปิดพื้นที่จัดกิจกรรม “ซีอีเอ ฟอรั่ม 2019” ครั้งแรก ภายใต้แนวคิด “The Next Step to Creative Economy” รับวาระครบรอบ 1 ปี สะท้อนภาพการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เชิงนโยบาย การพัฒนาเมือง และการพัฒนาภาคธุรกิจ โดยนักสร้างสรรค์ชั้นนำทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ พร้อมกระตุกพลังคิดสร้างสรรค์สู่การสร้างความร่วมมือครั้งสำคัญในอนาคต 

ดร. อรรชกา สีบุญเรือง ประธานสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กล่าวว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ถือเป็นนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศด้วยความคิดสร้างสรรค์ ที่หลายประเทศทั่วโลกล้วนให้ความสำคัญ อาทิ ประเทศเกาหลีใต้ ประเทศที่ใช้แนวคิด ครีเอทีฟ โคเรีย (Creative Korea) ส่งเสริมการส่งออกเนื้อหาและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแบบร่วมสมัย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม พร้อมขยายการเข้าถึงสินค้าและบริการ และ สหราชอาณาจักร ประเทศที่ใช้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผลักดันอุตสาหกรรมการออกแบบ จนขึ้นแท่นเบอร์หนึ่งของกลุ่มสหภาพยุโรป 

“ประเทศไทย ถือเป็นประเทศที่มีต้นทุนทางวัฒนธรรมล้ำค่าจำนวนมาก ทั้งอาคารสถาปัตยกรรมและแหล่งโบราณสถาน แหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ เทศกาลและประเพณี ทักษะช่างฝีมือและองค์ความรู้ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาสู่สินค้า และบริการสร้างสรรค์ โดยพบอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในปี 2560 มีมูลค่าสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 9.1%ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และในห้วงเวลา 7 ปี นับตั้งแต่ปี 2553-2560 มีอัตราการขยายตัวต่อเนื่องถึง 5.61% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอัตราการขยายตัวเฉลี่ยของจีดีพีภาพรวม ซึ่งอยู่ที่ 5.24%”

ขณะเดียวกัน สถานการณ์อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในปัจจุบัน เริ่มส่งสัญญาณที่ดีในหลากหลายสาขา ทั้งภาพยนตร์ ละครแฟชั่น โฆษณา และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวสู่ต่างประเทศมากขึ้น ดังนั้น หากส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อย่างเป็นระบบพร้อมทั้งเชื่อมโยงมาสู่ภาคการท่องเที่ยวภาคการเกษตร และภาคบริการอื่นๆ ย่อมนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยอย่างยั่งยืน จึงนับเป็นความท้าท้ายของ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ในฐานะกลไกส่งเสริมและสร้างความเชื่อมโยงหน่วยงานในทุกภาคส่วน ทั้งองค์กรวิชาชีพ เอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรต่างประเทศ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาบุคลากรสร้างสรรค์ (Creative people) การส่งเสริมขีดความสามารถของธุรกิจสร้างสรรค์ (Creative Business) และ การพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative place) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ภารกิจไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น หากแต่เป็นจุดเชื่อมรอยต่อ (Missing link) ที่แข็งแกร่งสำหรับภาคเอกชน ในการเป็นหน่วยงานที่ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้อย่างเป็นรูปธรรม

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กล่าวว่า โดยล่าสุด ซีอีเอ ได้จัดกิจกรรม “ซีอีเอ ฟอรั่ม 2019” (CEA Forum 2019) ขึ้นเป็นครั้งแรก ภายใต้แนวคิด “The Next Step to Creative Economy” รับวาระครบรอบ 1 ปี ซึ่งถือเป็นหนึ่งตัวอย่างสำคัญของฉายภาพการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนโยบายเศรษฐกิจ การพัฒนาเมือง และการพัฒนาภาคธุรกิจ ที่ได้รวบรวมนักคิด นักสร้างสรรค์ชั้นนำของวงการครีเอทีฟ ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และพลังคิดสร้างสรรค์เชิงบวก ผ่านการพูดคุยใน 3 เวทีหลัก ซึ่งมีไฮไลท์ที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

1. เวทีถ่ายทอดความรู้และแบ่งปันประสบการณ์จากนักคิด (Creative Forum) ด้วยการใช้ความคิดสร้างสรรค์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ย่านสร้างสรรค์ และผลิตภัณฑ์ให้แข่งขันได้ในโลกยุคใหม่ ผ่านหัวข้อบรรยายที่น่าสนใจ อาทิ “ทำอย่างไรอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของเอสโตเนียถึงโตอย่างก้าวกระโดด?” และ “แผนพัฒนาศิลปะของสิงคโปร์: ความเป็นเลิศที่เป็นแรงบันดาลใจและเชื่อมโยงประชาชน”

2. เวทีแลกเปลี่ยนความรู้จากหลากหลายกลุ่ม (Creative Roundtable) การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐ เอกชน และผู้เชี่ยวชาญ ที่มีบทบาทร่วมพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมีหัวข้อบรรยายที่น่าสนใจ อาทิ “จุดกำเนิดงานออกแบบสมัยใหม่ของจีน: การปฏิรูปและความพร้อมของนโยบาย” “กระบวนการคิดเชิงออกแบบสำหรับสร้างนวัตกรรม” และ “ไลน์: ยิ่งกว่านวัตกรรมสำหรับชีวิตประจำวัน” 

3. เวทีถ่ายทอดประสบการณ์จากเจ้าของผลงานสร้างสรรค์ (Creative Event) การนำเสนอผลงานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยผู้ประกอบการ เจ้าของผลงานสร้างสรรค์ที่ประสบความสำเร็จ อาทิ ลิโด้ คอนเนค (Lido Connect) ผู้พลิกโฉมวงการภาพยนตร์ สู่ ฮับเอนเตอร์เทนเมนต์ ใจกลางสยาม อัศจรรย์ คอลเลคทีฟ (ASSAJAN Collective) ผู้ผสานคุณค่าการรำไทย สู่ท่วงท่าออกกำลังกายแบบร่วมสมัย และ สเปซทีเอชดอทซีโอ (spaceth.co) ผู้ที่ปรับมุมมองให้ วิทยาศาสตร์ กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวและน่าติดตาม 

ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว นับเป็นโอกาสอันดีที่คนรุ่นใหม่จะได้รับฟังประสบการณ์และความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในหลายประเทศ พร้อมทั้งเก็บเกี่ยววิธีคิด อันเป็นประโยชน์ไปสู่การสร้างความร่วมมือครั้งสำคัญในอนาคต ทั้งในมิติของการสร้างธุรกิจ พัฒนาองค์กร และพัฒนาพื้นที่ของภาคส่วนต่างๆ โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 20 สิงหาคม 2562 ณ ห้องฟังก์ชันรูม (Function Room) ชั้น 4 และห้องออดิทอเรียม (Auditorium) ชั้น M ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) กรุงเทพฯ 

อย่างไรก็ดี ในปี 2563 ซีอีเอ เตรียมเดินหน้ายกระดับนโยบายทั้ง 3 ด้าน อาทิ การจัดกิจกรรมครีเอทีฟ คาราวาน (Creative Caravan) ที่ขยายเครือข่ายจาก มินิ ทีซีดีซี (miniTCDC) เพื่อกระจายแนวคิดสร้างสรรค์คนรุ่นใหม่ การเพิ่มช่องทางการตลาดสำหรับธุรกิจสร้างสรรค์ที่สามารถเชื่อมโยงกับตลาดได้โดยตรง โดยเพิ่มแพลตฟอร์มทางออนไลน์ที่เป็นที่นิยม เพื่อให้ผู้ประกอบการมีโอกาสเติบโตมากขึ้น อาทิ งานออกแบบกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ สินค้าชุมชน ที่ไอคอนสยาม (ICON SIAM) นอกจากนี้ ยังมุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านดนตรี ศิลปะ และการแสดงของไทยให้เป็นที่แพร่หลายมากขึ้น รวมถึงการผลักดัน “กรุงเทพมหานครเป็นเมืองแห่งการออกแบบในเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก” ร่วมกับกรุงเทพมหานคร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการยูเนสโก ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส นายอภิสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ ซีอีเอ ได้จัดพิธีเปิดงาน “ซีอีเอ ฟอรั่ม 2019” (CEA Forum 2019) โดยมี ดร. อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) และนายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) เมื่อเร็วๆ นี้ ณ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง ติดตามรายละเอียดกิจกรรม CEA FORUM 2019 เพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/CreativeEconomyAgency และ www.cea.or.th/news-cea-forum-2019 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 02 105 7441



 * ดูอัลบั้มภาพได้ ที่นี่