วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ม. ธรรมศาสตร์ แนะแนวคิดนักบริหารรุ่นใหม่ ทำอย่างไรจึงอยู่รอด ในยุคที่ใคร ๆ ก็เข้าถึงดิจิทัล




หลายธุรกิจกำลังหวั่นเกรงกับ Digital Disruption หรือสภาวะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ทำให้เกิดรูปแบบธุรกิจขึ้นมาใหม่ ซึ่งนวัตกรรมและรูปแบบใหม่เหล่านี้สามารถส่งผลกระทบต่อมูลค่าของผลิตภัณฑ์และบริการที่มีอยู่ในอุตสาหกรรมเดิม จนอาจถึงขั้นต้องยกธงขาวพ่ายแพ้ให้กับความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เหล่าผู้บริหารต่างต้องเร่งปรับตัวกันขนานใหญ่ เพราะความเปลี่ยนแปลงนี้กำลัง “เขย่า” ทุกอุตสาหกรรมในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ผู้บริหารและผู้ประกอบการต้องพลิกกลยุทธ์ เปลี่ยนวิธีคิดกันแบบ 360 องศา เพื่อหาแนวทางรับมือและฉวยโอกาสสำคัญจากปรากฏการณ์ดังกล่าว 

ดร.สุรพิชย์ พรหมสิทธิ์ ผู้อำนวยการหลักสูตร GEMBA คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แม้ปัจจุบันโซเชียลมีเดีย สื่อออนไลน์ และเรื่องดิจิทัลจะมีผลมากต่อพฤติกรรมผู้บริโภค ทั้งการทำตลาด และการจัดการทุกอย่าง ซึ่งแม้ว่าถนนทุกสายต่างมุ่งสู่โลกดิจิทัล แต่ในเวลาเดียวกันก็กำลังเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เกิดภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดออนไลน์ ซึ่งไม่ได้เป็นแนวทางที่ผิดพลาดแต่ประการใด แต่การที่ผู้บริหารจะทำให้ธุรกิจเติบโตและอยู่รอดในยุคนี้ นอกจากการเรียนรู้ตลาดออนไลน์แล้วนั้น ผู้บริหารยุคใหม่ก็ยังต้องเข้าใจธุรกิจในระดับโลก เข้าใจการตลาดระดับนานาชาติ เพื่อให้รู้ถึงความท้าทาย อุปสรรค กลยุทธ์ แล้วนำทั้งหมดนี้มาเชื่อมโยงเป็นองค์ความรู้ในการบริหารจัดการธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ 

ที่ผ่านมาธุรกิจไทยมองว่ามีข้อได้เปรียบในตลาด CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) หรือแม้แต่ใน AEC หลายธุรกิจในไทยต่างวิ่งหาตลาดใหม่ในภูมิภาคนี้ แต่จะเห็นได้ว่าธุรกิจที่อยู่รอด คือ ธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีทุนมาก กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางไม่สามารถแข่งขันได้เท่าไรนัก หรือหากจะมองในแง่ของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่แพร่หลายในกลุ่มประเทศเหล่านี้ ที่มีอัตราการก้าวกระโดดของการใช้สื่อออนไลน์ และโซเชียลมีเดียที่สูงมาก ยกตัวอย่างประเทศเวียดนาม ที่มีอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตสูงถึง 60-70 เปอร์เซ็นต์ และมีการใช้ Facebook สูงถึง 30 – 50 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ ทำให้โอกาสในการค้าขายระหว่างประเทศเป็นเรื่องง่ายกว่าการไปลงทุนในประเทศนั้น โดยใช้ช่องทางสื่อออนไลน์ที่มีแพลตฟอร์มสำเร็จรูปที่สะดวกสบาย แต่ก็ยังมีอุปสรรคในเรื่องต้นทุนการขนส่งสินค้าอยู่ดี ทำให้เสียเปรียบธุรกิจที่มีสาขาตั้งในประเทศนั้นๆ

เมื่อทุกอย่างสามารถเป็นออนไลน์ได้หมด แล้วจะทำอย่างไรให้เราแตกต่างในเมื่อใคร ๆ ก็มีช่องทางที่ง่ายเหมือนกันหมด ซึ่งหากจะมองว่าการเข้าถึงดิจิทัลเป็นโอกาสในยุค Globalization x Digital แต่มันก็เป็น Red Ocean ที่มีการแข่งขันที่น่ากลัวเช่นกัน ดังนั้น การเรียนรู้กรณีศึกษาธุรกิจนานาชาติ จากบริษัทชั้นนำในระดับโลก เป็นการเรียนรู้เพื่อหาแนวคิด เรียนรู้ถึงอุปสรรค การแก้ไขปัญหา ซึ่งล้วนเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้บริหารในยุคนี้ควรที่จะเรียนรู้ เพื่อนำไปต่อยอดทั้งในแง่การขยายธุรกิจ และการอยู่รอดท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลง” 

“หลักสูตร “GEMBA” เป็นหลักสูตร MBA การจัดการธุรกิจสากล (นานาชาติ) ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีสาระการเรียนรู้เป็น “Global MBA” เป็น MBA ยุคใหม่ที่เรียนโดย Case Study ใช้กรณีศึกษา เรียนจากปัญหา เรียนจากประเด็น (Issue) ที่เกิดขึ้นจริง จากประสบการณ์ตรงของภาคธุรกิจที่เป็น Corporate Partner มาร่วมออกแบบหลักสูตรและเนื้อหาการเรียนการสอน เพราะรู้ว่าในธุรกิจนี้มีสิ่งใดเป็น Pain Point และรู้ว่าเมื่อทำงานกับผู้บริโภคระดับโลก (Global Consumer) ควรต้องรู้เรื่องอะไร ต้องทำการตลาดอย่างไร ทำวิจัยอย่างไรจึงจะประสบผลสำเร็จทำให้ผู้เรียนเข้าใจและนำไปประยุกต์ใช้ได้ง่ายขึ้น” ดร.สุรพิชย์ กล่าวทิ้งท้าย