อีกไม่กี่วันก็จะถึงสิ้นปีแล้ว อยากชวนทุกคนมาทบทวนความจำเรื่องการเงินก่อนถึงสิ้นปี เพราะเรื่องเงินเป็นใหญ่ ถ้าจะให้ดีต้องเริ่มต้นวางแผนการเงินกันตั้งแต่ต้นปี ไม่ว่าจะฝากเงินเพื่อรับดอกเบี้ยสูง นำเงินไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทน เตรียมการเพื่อลดหย่อนภาษีประจำปี แต่ทว่าเราหลงลืมปล่อยผ่านมาถึงปลายปีอย่างนี้ มนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ ก็ต้องรีบหันมาทบทวนกันว่าก่อนสิ้นปีมีอะไรที่เราต้องจัดการกันบ้าง
เริ่มต้นทบทวน โดยตรวจสอบฐานะการเงินของตัวเองก่อนเลยว่า ตอนนี้มีทรัพย์สิน เช่น มีเงินฝากเท่าไหร่ มีหนี้สินอยู่เท่าไหร่ มีเงินลงทุนในกองทุนอะไรบ้าง ซื้อประกันอะไรบ้าง สิ่งเหล่านี้ถ้าเราจัดทำบัญชีไว้ก็เอามาคำนวณได้ไม่ยาก ยิ่งถ้ามีการจดบันทึกรายรับ-รายจ่ายไว้ด้วยแล้ว จะช่วยให้เราเห็นพฤติกรรมการใช้เงินของตัวเองได้อย่างชัดเจนขึ้น ถ้ารายจ่ายประเภทใดสูงเกินไป หรือไม่มีความจำเป็นก็สามารถตัดออกได้ ขณะเดียวกันก็ช่วยให้รู้ว่าถ้ารายได้ของเราน้อยเกินไป ไม่พอกับรายจ่าย ก็หาวิธีแก้ไข มีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี คือ ลดรายจ่าย และหารายได้เพิ่ม โดยปัจจุบันมีหลายอาชีพที่ทำเป็นอาชีพเสริมได้ เช่น ขายของผ่านออนไลน์ ทำคอนเทนท์ต่างๆ หารายได้จากโลกออนไลน์ เป็นต้น
อีกอย่างที่ต้องทบทวนเลยคือ นิสัยการใช้เงิน โดยเฉพาะสิงห์นักช็อป ลองสำรวจในตู้ดูว่า เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า เครื่องใช้ต่างๆ ที่ซื้อมาได้เอามาใช้บ้างมั๊ย หรือยังคงวางอยู่สภาพเดิมจนเราลืมไปหมดแล้ว เผลอๆ ซื้อซ้ำของเดิมแบบไม่รู้ตัว อาจแค่เปลี่ยนสีไปก็เป็นได้ หากเจออย่างนี้อย่าไปเสียดายนำไปแปรเปลี่ยนเป็นเงินด้วยการนำไปโพสต์ขายผ่านออนไลน์ เก็บเงินไว้ใช้จ่ายปลายปีกันเถอะ
อีกเรื่องที่มนุษย์เงินเดือนอย่างเราจะหลงลืมไปไม่ได้เลยก็คือการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนั้น ควรสำรวจตัวช่วย ที่สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษี เรื่องแรกที่ควรรู้ สำหรับการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปี 2560 คือ เขามีการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ โดยมีการขยับเงินได้ขั้นต่ำขึ้นมาเป็น 120,000 บาทต่อปี จากฐานของผู้ที่ไม่ต้องจ่ายภาษีคือคนที่มีเงินเดือน 20,000 บาท เพิ่มขึ้นมาเป็น 26,000 บาท พูดง่ายๆ คือ มนุษย์เงินเดือนที่มีเงินเดือนไม่ถึง 26,000 บาท ไม่ต้องจ่ายภาษีนั่นเอง
ส่วนที่สองคือ ตัวช่วยสำหรับคนที่ต้องจ่ายภาษี มาดูกันว่ามีตัวช่วยอะไรบ้างที่เราสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้บ้าง อย่างเช่น
- ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF แอลทีเอฟ) โดยซื้อได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ ซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้น รวมแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
- ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF อาร์เอ็มเอฟ) เงื่อนไขคือซื้อได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ ซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้น สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
- ประกันชีวิต สำหรับเบี้ยประกันชีวิตที่ได้รับการลดหย่อน เดิมจะมีสองประเภท ได้แก่ เบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไป และเบี้ยประกันแบบบำนาญ แต่ล่าสุดกรมสรรพากรได้ประกาศให้สามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพมาหักลดหย่อนภาษีได้เพิ่มเติมอีกด้วย โดยหักลดหย่อนได้ตามจริง แต่ต้องไม่เกิน 15,000 บาท แต่เมื่อรวมค่าเบี้ยลดหย่อนประกันชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี
- เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา อันนี้ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
นอกจากตัวช่วยหลักๆ ที่หยิบยกมาเตือนเพื่อไม่ให้มองข้ามกันแล้ว ในการยื่นภาษีของปี 2560 ยังให้นำค่าซ่อมบ้านน้ำท่วม และค่าซ่อมรถน้ำท่วมมาเป็นตัวช่วยด้วยเพื่อแบ่งเบาภาระคนที่ถูกน้ำท่วมอีกด้วย และที่สำคัญปีนี้ยังมีมาตรการช้อปช่วยชาติให้นำไปหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15,000 บาทอีกด้วย แต่ก่อนจะช่วยชาติ ต้องสำรวจตัวเองก่อนว่าควรช้อปแค่ไหน เพื่อไม่ให้เป็นภาระเพิ่ม
หลังจากทบทวน สถานะและนิสัยการใช้เงินของตัวเอง และสำรวจตัวช่วยเพื่อลดหย่อนภาษีแล้ว เราก็จะรู้แล้วว่า ปีหน้าเราต้องเริ่มต้นใหม่อย่างไร ใครที่พลาดไปแล้วในปีนี้ ก็ลงมือเริ่มต้นวางแผนการเงินของปีหน้ากันใหม่ตั้งแต่วันนี้เลย โดยเริ่มต้นจากการแบ่งเงินออมกับเงินใช้จ่ายแบบง่ายๆ เงินได้ – เงินออม = เงินใช้ อาจเริ่มต้นลองออมเดือนละ 10% ของรายได้ก่อน และค่อยๆ เพิ่มสัดส่วนการออมเป็น 20% หรือ 30%
ในยุคดอกเบี้ยต่ำอย่างนี้ เราจะออมอย่างไรกันดีให้เงินงอกเงยก็เป็นเรื่องสำคัญ ลองมองหาบัญชีเงินฝากกับสถาบันการเงินที่ให้ผลตอบแทนสูง ปัจจุบันก็มีให้เลือกหลายที่ อย่างเช่น ME by TMB ที่ให้ดอกเบี้ย 1.7% ต่อปี ซึ่งสูกว่าออมทรัพย์ทั่วไป 4.5 เท่า ช่วยสร้างแรงจูงใจในการออมได้เป็นอย่างดี แถมไม่มีขั้นต่ำในการฝาก-ถอน และถ้ามีความจำเป็นต้องถอนก็สามารถถอนออกได้ทันที ไม่มีค่าธรรมเนียมใดๆ เหมาะกับมนุษย์เงินเดือนยุคปัจจุบัน เผลอๆ ปลายปีหน้าสำรวจอีกทีดอกเบี้ย ME อาจทำให้มีเงินซื้อรองเท้าคู่ใหม่ หรือจัดทริปสุดชิค ให้เป็นรางวัลกับตัวเองก็ได้
อีกส่วนหนึ่ง หลังจากออมแล้วก็นำไปลงทุน อาจเริ่มจากการซื้อประกัน กองทุนแอลทีเอฟ กองทุนอาร์เอ็มเอฟ เพื่อความอุ่นใจและช่วยลดหย่อนภาษี และถ้าจะไปมองหาการลงทุนอื่นๆ แนะนำให้ศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดหรือใช้ที่ปรึกษาการลงทุนก่อนตัดสินใจ เพราะการลงทุนคือ ความเสี่ยง
จำไว้ว่าถ้าเราวางแผนการเงินได้เร็ว และชาญฉลาดทำให้เงินงอกเงย เลือกออมเงินและลงทุนกับสถาบันการเงินที่ให้ผลตอบแทนสูง มนุษย์เงินเดือนอย่างเราก็ไม่ต้องกังวลตอนสิ้นปีอีกต่อไป