นับแต่อดีต ชาวไทยมีวิถีชีวิตที่สัมพันธ์อยู่กับแม่น้ำ มีการติดต่อค้าขายกับนานาประเทศ โดยอาศัยแม่น้ำเป็นเส้นทางคมนาคมสายหลัก ทั้งวิถีชีวิต การค้า การขนส่ง ล้วนเกิดขึ้นในเส้นทางน้ำ จุดเริ่มต้นที่สะท้อนได้เด่นชัดที่สุดได้แก่ ช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ หลังจากรัชกาลที่ 1 ทรงขึ้นครองราชย์ และทรงย้ายพระบรมมหาราชวังจากกรุงธนบุรี ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ข้ามมาอยู่ฝั่งตะวันออก หรือบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน จนชาวต่างชาติต่างพากันมอบชื่อ “เวนิสตะวันออก” ให้กับบางกอกในยุคนั้น
เรื่อยมาจนถึงต้นสมัยรัชกาลที่ 4 สังคมไทยก็ยังคงเป็นสังคมชาวน้ำ บ้านเรือนผู้คนส่วนมากอาศัยและประกอบกิจการค้าอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่บนบกส่วนใหญ่จะเป็นวัด สถานที่ราชการ และบ้านขุนนางเสนาบดี จุดศูนย์รวมชุมชนที่สำคัญ หนีไม่พ้น “ตลาด” ที่เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างวิถีชีวิตบนบกและวิถีชีวิตในน้ำ ซึ่งภายหลังสนธิสัญญาเบาวร์ริ่ง รูปแบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะการพัฒนาชุมชนมาเป็นชีวิตแบบคนเมืองมากขึ้น
นายทวีศักดิ์ วรฤทธิ์เรืองอุไร นักจัดการความรู้อาวุโส สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) กล่าวว่า พื้นที่บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ เป็นจุดที่เต็มไปด้วยเรื่องราวการผสมผสานด้านวัฒนธรรม มีเสน่ห์และเอกลักษณ์ โดยเฉพาะ ย่านท่าเตียน เนื่องจากเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดสมัยต้นรัตนโกสินทร์ อยู่ใกล้พระบรมหาราชวัง มีพื้นที่ครอบคลุมถึงปากคลองคูเมืองเดิม ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่อยู่ตรงข้ามกับป้อมวิไชยประสิทธิ์ หรือที่ปัจจุบันคนนิยมเรียกว่าปากคลองตลาด และไม่ว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของพื้นที่ไปตามยุคสมัยทางสังคมไปเพียงใด แต่ยังคงกลิ่นอายความเป็นย่านวัฒนธรรมไว้อย่างลงตัว ท่าเตียนจึงเปรียบเสมือนใจกลางชุมชม และศูนย์รวมวัฒนธรรม ซึ่งหากได้ไปสัมผัสกับท่าเตียนมากยิ่งขึ้น จะมองเห็นที่มาของวิวัฒนาการตัวตนคนไทยเราในปัจจุบัน และสามารถถอดวิวัฒนาการ ความเป็นไทย ในด้านต่างๆ ผ่านแลนด์มาร์กทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของย่านท่าเตียน อาทิ
ศูนย์รวมการค้าแห่งแรกที่สำคัญที่สุดของเกาะรัตนโกสินทร์
Inn a Day จากย่านการค้าเก่า สู่แลนด์มาร์กการท่องเที่ยวกลางกรุง - อดีตร้านขายน้ำตาลปี๊บ สินค้าหลักขึ้นชื่อของร้านท่าเตียน แต่ด้วยยุคสมัยที่การค้าทางเรือซบเซาลง ทำให้ต้องเปลี่ยนรูปแบบกิจการ โดยผสมผสานวัฒนธรรมตะวันตก ปรับเปลี่ยนจากร้านค้า กลายเป็นโฮสเทล ที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว
จุดกำเนิดมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ แหล่งรวมศาสตร์การแพทย์สาธารณะ
โพธาราม มหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ – วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดโพธิ์ ได้รับการยกย่องให้เป็น มหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ เริ่มตั้งแต่ต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ภายในวัดมีการรวบรวมตำรายาและการแพทย์แผนโบราณ แผนภาพการนวด และรูปปั้นฤๅษีดัดตนที่แสดงท่านวดแผนไทยโบราณ เผยแพร่ความรู้แก่บุคคลทั่วไป เปิดโอกาสให้ชาวบ้าน สามารถเข้าไปศึกษาได้แบบสาธารณะ
ศาสตร์การศึกษาสาธารณะ สู่ โรงเรียนนวดแห่งแรกของประเทศ – โรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ ได้ถอดศาสตร์แพทย์แผนโบราณ จากวัดโพธิ์ มาสอนให้แก่ประชาชนที่ต้องการศึกษา แรกเริ่มสอนเพียงเรื่องเภสัชกรรม และการผดุงครรภ์ ภายหลัง รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินมาวัดโพธิ์ ทรงมีพระราชปรารภว่า วัดพระเชตุพนฯ เป็นแหล่งรวบรวมตำราแพทย์แผนไทยอยู่แล้ว ทำไมไม่จัดให้มีการสอนการนวดแผนไทย ทำให้ภายหลังจึงมีการบรรจุศาสตร์การนวดแผนไทย และนับว่าเป็นโรงเรียนนวดแห่งแรกของประเทศ
ความเชื่อที่ผสมผสานไปกับชุมชน
พระปรางค์ที่งดงามที่สุดของประเทศ – พระปรางค์วัดอรุณ ได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมแบบอินเดีย แต่ เนื่องด้วยชาวไทยเดิม พื้นฐานเป็นคนละเอียดลออ และมีสุนทรียะ ได้ทำการลดทอนสัดส่วน ปรับเปลี่ยน รูปแบบโครงสร้าง และผสมผสานความเชื่อของชาวไทยเรื่องเขาพระสุเมรุ ซึ่งนับว่าเป็นที่สุดของสถาปัตยกรรม ไทย ที่นักท่องเที่ยวต่างแห่แหนมาชมกันอย่างไม่ขาดสาย
ปึงเถ่ากง ศาลเจ้าจีนแห่งแรกของเกาะรัตนโกสินทร์ – ตั้งแต่อดีต ท่าเตียนเป็นพื้นที่ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็น ชาวจีนแต้จิ๋ว ที่เดินทางมาประกอบการค้าอยู่ภายในชุมชน เราสามารถพบเห็นศาลเจ้าจีนจำนวนมากบริเวณนี้ ซึ่งหนึ่งในนั้นได้แก่ ปึงเถ่ากง หรือศาลเจ้าพ่อต้นไทร ศาลเจ้าจีนแห่งแรกของเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งแสดงให้เห็น ว่าชุมชนท่าเตียนเต็มไปด้วยความเชื่อที่หลากหลาย ซึ่งไม่ได้มีเพียงความเชื่อแบบพุทธ ที่มีอิทธิพลต่อการ ดำเนินชีวิตของประชาชน
ด้านนางซองทิพย์ เสริมสวัสดิ์ศรี ผู้อำนวยการฝ่ายมิวเซียมสยาม สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) กล่าวว่า มิวเซียมสยามกำลังดำเนินการจัดสร้างนิทรรศการถาวรชุดใหม่ ในชื่อ ถอดรหัสไทย นิทรรศการสร้างสรรค์ที่จะพาทุกคนไปถอดองค์ความรู้ความเป็นไทย ที่มากกว่าการถอดความเป็นไทยย่านท่าเตียน แต่รวบรวมทุกมิติของความเป็นไทยทั้งประเทศ ถ่ายทอดผ่านเรื่องราว วัตถุจัดแสดง และรูปแบบการนำเสนอที่แปลกใหม่ ตอบรับกับพฤติกรรมการบริโภคสื่อของคนยุคปัจจุบันมากยิ่งขึ้น กระตุ้นความคิด ให้ผู้ชมสามารถเชื่อมโยงกับเรื่องราวในอดีตได้ โดยมีไฮไลท์ตัวอย่างห้องนิทรรศการ อาทิห้องครัวมีชีวิตผ่านเทคโนโลยีคิวอาร์สแกน พร้อมโมชันกราฟิก สื่อพิพิธภัณฑ์เลเซอร์คัทสามมิติที่จะทำให้คุณเข้าใจวิวัฒนาการเรื่องราวต่างๆ ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น และซูเปอร์ไฮไลท์เทคโนโลยีโมดูลไฮดรอลิกที่ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกของประเทศ เป็นต้น เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นไทยผ่านประวัติศาสตร์สังคม ภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรม และส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับประชาชนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชน ในฐานะองค์กรพิพิธภัณฑ์ต้นแบบของประเทศ ซึ่ง นิทรรศการถาวรชุด “ถอดรหัสไทย” อยู่ระหว่างการดำเนินงานในขั้นตอนสุดท้าย และกำหนดเปิดบริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 ธันวาคม 2560 มิวเซียมสยามคาดว่า “ถอดรหัสไทย” จะได้รับความนิยมและกระแสตอบรับที่น่าพอใจไม่แพ้นิทรรศการถาวรชุดก่อนหน้า “เรียงความประเทศไทย”
ทั้งนี้ แม้ว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนผ่านไปเพียงใด เกิดการผสมผสานของความเป็นไทยเข้ากับวัฒนธรรมต่างชาติ จนกลายเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า “ความเป็นไทย” ในปัจจุบัน แต่เสน่ห์และอัตลักษณ์ที่ซ่อนอยู่ ยังคงแสดงบทบาทและรักษาคุณค่าของความเป็นไทยไว้ไม่จางหาย ซึ่งไม่ว่า “ความเป็นไทย” จะได้รับการผสมผสาน เปลี่ยนแปลง ปรับรูปโฉมไปเช่นไร ก็ยังคงมีเอกลักษณ์ที่สะท้อนถึงความเป็นไทย ไม่เสื่อมคลาย ซึ่งนั่นคือ เสน่ห์และวัฒนธรรมของชาติไทย ที่ไม่มีชาติใดในโลกเหมือน
* ดูอัลบั้มภาพได้ ที่นี่
* ดูอัลบั้มภาพได้ ที่นี่