วันอังคารที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2560

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจเมียนมาเติบโตอย่างยั่งยืน




ย่างกุ้ง, เมียนมา และ โตเกียว -โครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูงจะมีบทบาทสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและปลดล็อกศักยภาพที่แท้จริงของเมียนมา ซึ่งบทบาทสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ และบทบาทจำเป็นของญี่ปุ่นต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของเมียนมา คือหัวข้อหลักของการอภิปรายที่งาน "Dialogue for Quality Infrastructure -- Building Asia's Future" ซึ่งจัดขึ้นโดยรัฐบาลญี่ปุ่น

ผู้เข้าร่วมงานประมาณหนึ่งร้อยคนได้ร่วมการอภิปรายเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับประเภทของโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพที่จำเป็นต่อการพัฒนาเมียนมาอย่างยั่งยืน และญี่ปุ่นจะมีบทบาทสำคัญอย่างไรได้บ้างในเรื่องนี้

Kazuyuki Takimi ที่ปรึกษาประจำสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ณ ประเทศเมียนมา กล่าวสุนทรพจน์เปิดงานในนามของรัฐบาลญี่ปุ่นว่า "โครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพคือองค์ประกอบสำคัญสำหรับประเทศกำลังพัฒนาในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมด้วยทรัพยากรที่จำกัด" พร้อมกล่าวด้วยว่า "เราจะสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมียนมาต่อไป ด้วยประสบการณ์ที่ญี่ปุ่นได้สั่งสมมา ตลอดจนเทคโนโลยี และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ ดังเช่นประสบการณ์ที่ผ่านมาในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ Baluchaung No.2 Hydropower Plant และเขตเศรษฐกิจพิเศษ Thilawa SEZ"

Mr. Aung Naing Oo อธิบดีกรมบริหารการลงทุนและบริษัท กระทรวงการคลังและการวางแผนของเมียนมา ในฐานะผู้แทนรัฐบาลเมียนมา แสดงความยินดีต่อการสนับสนุนของญี่ปุ่นที่มีต่อการพัฒนาประเทศ พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่า "เราทราบดีว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพนั้นมีความสำคัญต่อการกระตุ้นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมาสู่เมียนมา"




ภายหลังการกล่าวสุนทรพจน์เปิดงาน Mr. Satoshi Takesada ผู้จัดการอาวุโสของ PwC ประเทศสิงคโปร์ จึงได้เริ่มเข้าสู่การอภิปรายตามกำหนดการ ด้วยการนำเสนอประเด็นสำคัญสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในเมียนมา หรือ "Important Points for Sustainable Economic Growth in Myanmar" ซึ่ง Mr. Takesada ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของมุมมองระยะยาว โดยชูบทบาทของโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพที่มีต่อการกระตุ้นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในเมียนมา

ในช่วงการอภิปรายที่ดำเนินรายการโดย Mr. Yasuhiko Ota คอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์นิกเกอินั้น ผู้ร่วมอภิปรายชาวเมียนมาและญี่ปุ่นยังได้หารือเกี่ยวกับบทบาทของโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพที่มีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในเมียนมา โดยการอภิปรายครอบคลุมเกี่ยวกับโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับสิทธิพิเศษในฐานะที่เป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจ บทบาทของโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของเมียนมา และความสำคัญของการที่ภาครัฐและภาคเอกชนของญี่ปุ่นให้การสนับสนุนแผนการพัฒนาของเมียนมา

Mr. Aung Naing Oo อธิบดีกรมบริหารการลงทุนและบริษัท กระทรวงการคลังและการวางแผนของเมียนมา กล่าวว่า การลงทุนโดยภาคเอกชนจากต่างประเทศนั้นมีความสำคัญไม่เพียงเฉพาะด้านการพัฒนาเท่านั้น แต่ยังจำเป็นต่อการบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานด้วย รัฐบาลเมียนมากำลังพยายามให้การสนับสนุนบริษัทเอกชนให้เข้ามาลงทุนในเมียนมา ด้วยการจัดทำกฎหมายและระบบใหม่ๆ ขณะที่ Mr. Ken Tun ซีอีโอของ Parami Energy Group แสดงความคิดเห็นจากมุมมองของธุรกิจท้องถิ่นว่า แม้ต้นทุนเบื้องต้นของโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพอาจจะสูง แต่ประชาชนในเมียนมาควรพิจารณาถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับมากกว่าต้นทุนค่าใช้จ่าย พร้อมกันนี้เขายังได้เน้นย้ำความสำคัญในการขบคิดพิจารณาว่าโครงสร้างพื้นฐานประเภทใดที่จะนำผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมาสู่ประเทศมากขึ้น 

Mr. Mitsuo Ido หัวหน้าสำนักงานผู้แทนประจำเมียนมา บริษัท มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษ Thilawa SEZ เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการสนับสนุนการลงทุนของบริษัทต่างชาติในเมียนมา กล่าวคือต้องมีการรับประกันความยั่งยืนของทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นน้ำสะอาด ไฟฟ้า การขนส่ง ฯลฯ เพื่อให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างปลอดภัยและยั่งยืน ซึ่งสิ่งนี้มีความสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุนของเรา

Takeshi Nakano ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการค้า สำนักงานความร่วมมือเศรษฐกิจและการค้า กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า FDI คือปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญสำหรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถดึงดูดบริษัทต่างชาติได้นั้นมีความจำเป็น เขากล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพของญี่ปุ่นสามารถสร้างประโยชน์มากมายให้กับประเทศ ซึ่งรวมถึงการดำเนินงานที่เชื่อถือไว้วางใจได้ ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจในมุมมองของวงจรชีวิตต้นทุน ความปลอดภัย การพร้อมรับปรับตัวต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ การสร้างงาน การสร้างกำลังการผลิต และการถ่ายทอดความเชี่ยวชาญให้กับชุมชนท้องถิ่น เขายังได้เน้นย้ำด้วยว่า เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องพิจารณาเรื่องวงจรชีวิตต้นทุนตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของการวางแผน รวมไปถึงความง่ายต่อการบำรุงรักษาในบริบทของการดำเนินงานระยะยาว เขาระบุว่า กุญแจสู่ความสำเร็จคือการขยายการจ้างงานผ่านทางการลงทุนของภาคเอกชนและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยญี่ปุ่นจะส่งเสริมการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อยกระดับการครองชีพสำหรับชาวเมียนมา ด้วยการทำงานร่วมกับรัฐบาลเมียนมาและภาคเอกชนจากทั้งสองประเทศ

เมื่อผู้ดำเนินรายการกล่าวสรุป ทางผู้เข้าร่วมอภิปรายได้แสดงความเห็นด้วยและปิดท้ายว่า “การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อถือได้และยั่งยืนซึ่งจะกระตุ้นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพจากมุมมองระยะยาว คือกุญแจสู่อนาคตของเมียนมา และความร่วมมือกับญี่ปุ่นนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อเมียนมา”

ภายหลังเสร็จสิ้นการอภิปราย Mr. Nobuhisa Kobayashi ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท โตเกียวแก๊ส จำกัด ได้กล่าวถึงโอกาสในการติดตั้งโครงสร้างพื้นฐาน LNG และแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของบริษัทในการให้การสนับสนุนการพัฒนาของเมียนมาด้วยประสบการณ์ที่บริษัทได้สั่งสมมา”

กำหนดการ:


- สุนทรพจน์เปิดงานโดยเจ้าภาพ:

  • Kazuyuki Takimi ที่ปรึกษาประจำสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ณ ประเทศเมียนมา

- สุนทรพจน์โดยแขกเกียรติยศ:

  • Mr. Aung Naing Oo อธิบดีกรมบริหารการลงทุนและบริษัท กระทรวงการคลังและการวางแผนของเมียนมา

- ระเบียบวาระ: Dialogue for Quality Infrastructure, Building Asia's Future 

  • Mr. Satoshi Takesada ผู้จัดการอาวุโส ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส สิงคโปร์

- การอภิปราย: Opportunities and challenges related to infrastructure development for Myanmar's Sustainable Growth

- ผู้ร่วมอภิปราย:

  • Mr. Aung Naing Oo อธิบดีกรมบริหารการลงทุนและบริษัท กระทรวงการคลังและการวางแผนของเมียนมา
  • Mr. Mitsuo Ido หัวหน้าสำนักงานผู้แทนประจำเมียนมา บริษัทมิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น
  • Mr. Ken Tun ซีอีโอ Parami Energy Group
  • Takeshi Nakano ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการค้า สำนักงานความร่วมมือเศรษฐกิจและการค้า กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น

- ผู้ดำเนินการอภิปราย:

  • Mr. Yasuhiko Ota คอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ นิกเกอิ

- การนำเสนอ:

  • Mr. Nobuhisa Kobayashi ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตเกียวแก๊ส จำกัด และกรรมการผู้จัดการ โตเกียวแก๊ส เอเชีย

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาเข้าชมที่: http://www.japan.go.jp/infrastructure/

ที่มา: รัฐบาลญี่ปุ่น

ข้อมูลจาก: เกียวโด เจบีเอ็น-เอเชียเน็ท/ อินโฟเควสท์