(แถวหน้าจากซ้ายไปขวา): นายอานนท์ โอภาสพิมลธรรม (หกจากซ้าย) กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ศรีอยุธยา เจนเนอรัล ประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SAGI, นพ. ไพโรจน์ เครือกาญจนา (เจ็ดจากซ้าย) นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉินและศูนย์กู้ชีพนเรนทร และ นพ. จิรพงษ์ ศุภเสาวภาคย์ (ห้าจากซ้าย) นายแพทย์ปฏิบัติการ โรงพยาบาลราชวิถี
ศูนย์กู้ชีพนเรนทร โรงพยาบาลราชวิถี กรุงเทพฯ: นายอานนท์ โอภาสพิมลธรรม กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ศรีอยุธยา เจนเนอรัล ประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SAGI และทีมงาน ร่วมมอบ กรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุกลุ่ม ทุนประกันรวม 8,700,000 บาท และอุปกรณ์ฝึกสอนการช่วยฟื้นคืนชีพ (AED) มูลค่า 69,950 บาท ให้แก่ ศูนย์กู้ชีพนเรนทร โรงพยาบาลราชวิถี ในโครงการ “ประกันภัยด้วยใจ... ให้นเรนทร”
“โครงการ ประกันภัยด้วยใจ... ให้นเรนทร” เป็นโครงการความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ที่ทาง ศรีอยุธยา เจนเนอรัล ประกันภัย สนับสนุนเป็นปีที่ 2 แล้ว เพราะเล็งเห็นถึงความสำคัญของเจ้าหน้าที่อาสาสมัครที่ปฏิบัติงานอย่างเสียสละ ให้ความช่วยเหลือกับผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินให้ได้รับการรักษาพยาบาลที่รวดเร็ว ณ ที่เกิดเหตุ และลำเลียงนำส่งผู้ป่วยอย่างไปยังสถานพยาบาลที่เหมาะสมต่อไป ในการปฏิบัติงานทางเจ้าหน้าที่อาสาสมัครเองก็ต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางอุบัติเหตุต่างๆ เช่นกัน บริษัทฯ จึงขอมอบกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุกลุ่มเพื่อคุ้มครองเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 87 คน นอกเหนือจากนั้น บริษัทฯ ขอมอบอุปกรณ์ฝึกสอนการช่วยฟื้นคืนชีพ (AED) ให้กับทางศูนย์กู้ชีพฯ เพื่อใช้ในการฝึกสอนเจ้าหน้าที่ในการกู้ชีพอีกด้วย” นายอานนท์ โอภาสพิมลธรรม กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ศรีอยุธยา เจนเนอรัล ประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าว
สาธิตวิธีการช่วยฟื้นคืนชีพ
เกี่ยวกับหน่วยกู้ชีพ "นเรนทร"
โรงพยาบาลราชวิถี ตระหนักถึงการเสียชีวิตและพิการที่ไม่สมควรเนื่องจากความล่าช้า การนำส่งที่ผิดวิธีและการนำส่งที่ผิดที่ จึงได้เริ่มต้นโครงการต้นแบบระบบการรักษาพยาบาลก่อนถึงโรงพยาบาลแก่ผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน ในพื้นที่บริการ โดยได้อัญเชิญพระนามของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทร องค์สถาปนากระทรวงสาธารณสุข มาเป็นชื่อของหน่วยปฏิบัติการ ที่เรียกว่า หน่วยกู้ชีพ "นเรนทร" โดยเริ่มเปิดอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2538 จนถึงปัจจุบัน ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มูลนิธิร่วมกตัญญู และสถาบันการแพทย์ด้านอุบัติเหตุ และสาธารณภัย กรมการแพทย์ และได้รับการสนับสนุนด้านการเงินเป็นอย่างยิ่งจาก มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินได้รับการรักษาพยาบาลที่รวดเร็ว ณ ที่เกิดเหตุ มีการลำเลียงนำส่งที่ถูกวิธีไปยังสถานพยาบาลที่เหมาะสม ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นก็คือ ทำให้เกิดการยอมรับและนำรูปแบบไปขยายผลโดยกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศในรูปแบบของ "ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน" Emergency Medical Services System (EMS)