วันเสาร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2560

เปิดฉาก “Digital Thailand Big Bang 2017” โชว์ไฮไลท์เทคโนโลยีสุดล้ำ-เรียนรู้ประเทศไทยยุคดิจิทัล 4.0




เริ่มแล้วงานนิทรรศการนานาชาติ “ดิจิทัลไทยแลนด์บิ๊กแบง 2017” ภายใต้แนวคิด “ดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่นไทยแลนด์” โลกเปิด เราปรับ ประเทศเปลี่ยน จุดเริ่มต้นแห่งการเรียนรู้ของคนไทยเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” ชูไฮไลท์ความอลังการของนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยแห่งโลกอนาคต อัดแน่นด้วยการสัมนาจากกูรูชื่อดังจากวงการไซเบอร์โลกกว่า 120 ท่านที่จะมาให้ความรู้พร้อมเจาะลึกทุกประเด็น 150 เรื่อง พร้อมการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระดับนานาชาติด้านดิจิทัลระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศ ดีเดย์ 21-24 กันยายนนี้ ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1-2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี 

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การจัดงานนิทรรศการนานาชาติ “ดิจิทัลไทยแลนด์บิ๊กแบง 2017” ภายใต้แนวคิด “ดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่นไทยแลนด์” โลกเปิด เราปรับ ประเทศเปลี่ยน จัดโดยกระทรวงดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช) ถือเป็นเวทีที่จะทำให้ผู้เข้าร่วมงานมองเห็นภาพการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่ “ไทยแลนด์ 4.0”ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนประเทศไทยในทุกมิติ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส และเชื่อมโยงประเทศไทยสู่เวทีโลก โดยในปี 2560 รัฐบาลได้ขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นรูปธรรม 3 ด้าน ได้แก่ 

ด้านที่ 1 การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสด้วยการดำเนินโครงการเน็ตประชารัฐ หรือการขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคุลมทุกหมู่บ้านในประเทศที่เชื่อมโยงโรงเรียน โรงพยาบาล เทศบาลตำบลทั้งหมด ซึ่งจะครอบคลุม 74,700 หมู่บ้านทั่วประเทศภายในปี 2561 โดยรัฐบาลได้เร่งต่อยอดโครงการดังกล่าวในหลากหลายมิติ อาทิ การพัฒนา E-Commerce เพื่อให้คนในชุมชนสามารถส่งสินค้าและบริการขึ้นมาขายบนระบบออนไลน์ผ่านระบบออนไลน์ตรง การพัฒนา E-Health ที่ช่วยให้แพทย์จากชุมชนสามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลศูนย์ในเมืองได้ พร้อมกันนี้การพัฒนา E-Education ที่จะช่วยให้ประชาชน เด็ก คนสูงอายุ ไปจนถึงผู้ด้อยโอกาสมีทักษะและสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย การพัฒนา E-Agriculture เริ่มด้วยการสร้าง Smart Farmers หรือผู้ประกอบการเกษตรจากคนรุ่นใหม่ให้เป็นเกษตรกรดิจิทัลและขยายผลมาช่วยคนไทยกว่า 17 ล้านคนที่ยึดอาชีพเกษตรกร เพื่อให้ขายผลิตผลทางการเกษตรเพิ่มขึ้น และการพัฒนา E-Service ประชาชนในชุมชนจะได้รับบริการของรัฐอย่างสะดวก รวดเร็ว ผ่านระบบออนไลน์ หรือ One-Stop Service 

ด้านที่ 2 การสร้างนวัตกรรมดิจิทัล โดยรัฐบาลมุ่งเน้นขับเคลื่อนนวัตกรรมดิจิทัลให้เกิดขึ้นในประเทศไทยผ่านโครงการ Digital Park Thailand บนพื้นที่กว่า 600 ไร่ใน อ.ศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการลงทุนและการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านดิจิทัลในภูมิภาค ตามนโยบายโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor: EEC ซึ่งจัดภายใน Digital Park Thailand จะช่วยพัฒนาและขับเคลื่อนนวัตกรรมดิจิทัลในหลากหลายมิติ เช่น การพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นด้านดิจิทัล Digital Startups ,การจัดตั้งสถาบันไอโอที (Internet of Things : IoT) และการพัฒนานวัตกรรมสำหรับ Smart City

ด้านที่ 3 การเชื่อมโยงไทยไปสู่โลก โดยรัฐบาลบูรณาการเชื่อมโยงความร่วมมือกับต่างประเทศทั้งทางกายภาพและแนวปฏิบัติ ซึ่งมีความก้าวหน้าในหลายด้าน เช่น การเชื่อมโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการเคลื่อนย้ายแรงงาน โดยรัฐบาลได้เร่งจัดตั้งธุรกิจ Ease of Doing Business ตลอดจนความร่วมมือกับหน่วยงานระดับโลก อาทิ OECD ในเรื่องระบบข้อมูลด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ITU ในการขับเคลื่อนดิจิทัลในเชิงเศรษฐกิจและสังคม และสมาคมสตาร์ทอัพโลก General Entrepreneurship Network หรือ GEN ในเรื่องของการพัฒนาและเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับ Digital Startups ของไทย และการสร้างความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์อีกด้วย 

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า งานนิทรรศการนานาชาติ “ดิจิทัลไทยแลนด์บิ๊กแบง” เกิดขึ้นมาเพื่อจุดประกายการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ นับเป็นงานมหกรรมการแสดงนิทรรศการเทคโนโลยีดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจของประเทสไทยเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ “โครงสร้างประชากรไทยเกือบ 70 ล้านคน แบ่งเป็นคนที่ยังไม่เข้าสู่ความเป็นดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันเป็นเกษตรราว 5 ล้านครัวเรือนหรือมากกว่า 7 ล้านคน ซึ่งคนเหล่านี้ต้องการการสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาเป็นกำลังสำคัญของภาคอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศ ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องเร่งดำเนินโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัล 4.0 อย่างเต็มรูปแบบ”ดร.สมคิดกล่าว 

พลอากาศเอก ดร.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าภายในงานจะมีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระดับนานาชาติในด้านดิจิทัล เพื่อยกระดับประเทศไทยสู่ยุคดิจิทัล 4.0 เต็มรูปแบบ อาทิ 1.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดทำกรอบความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทยไปสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ 2. MOU GEN ระหว่าง Global Entrepreneurship Network (GEN) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล 3.Multilateral Memorandum of Understanding On cooperation to Support the Operation of Digital Park Thailand and IoT Institute ระหว่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน 4.บันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการขับเคลื่อนและพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ระหว่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 5.บันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมพื้นที่พิเศษสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อรองรับการพัฒนา Smart City จังหวัดภูเก็ตระหว่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและบริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด 6.บันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลสานพลังประชารัฐระหว่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด 7.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการขับเคลื่อนและพัฒนากำลังคนดิจิทัล (Digital Manpower) ระหว่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและคิงซอฟต์ ออฟฟิศ ซอฟต์แวร์ จำกัดและ 8.บันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด และสํานักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวเสริมว่า ในงาน“ดิจิทัลไทยแลนด์บิ๊กแบง” จะเกิดมิติการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล จากความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนกว่า 40 บริษัท ความร่วมมือในระดับนานาชาติกว่า 10 ประเทศ เกิดการทำงานร่วมกันทันทีเพื่อการยกระดับกำลังคนประชาชนให้รู้ใช้ดิจิทัลกว่า 10 ล้านคน ใน 3,000 หมู่บ้าน การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ 7 จังหวัด และแผนการลงทุนใน สถาบันไอโอที หรือ IoT institute กว่า 2.5 พันล้านบาท โดยงานนี้คาดว่า จะมีผู้เข้าร่วมงานตลอดระยะเวลา 4 วันไม่ต่ำกว่า 200,000 คน โดยรูปแบบของงานแบ่งเป็น 3 ส่วนได้แก่

1.การจัดแสดงนิทรรศการนานาชาติกับนวัตกรรมสุดล้ำสมัย ที่จะเผยอนาคตด้านดิจิทัลในไทยเป็นครั้งแรกกับ 4 โซนไฮไลท์ คือ Digital Ecosystem แสดงภาพรวมของการเข้ามาของดิจิทัลในรูปแบบต่างๆ, Digital Community & Smart City มาดูนวัตกรรมที่จะเปลี่ยนแปลงชุมชนและเมืองให้กลายเป็นพื้นที่อัจฉริย Digital Park เขตพื้นที่พิเศษซึ่งจะกลายเป็นแหล่งรวมตัวของบริษัทด้านดิจิทัลทั่วโลก และ Digital Playground พื้นที่สนุก ๆ ของนักคิดนักประดิษฐ์มาลองของลองไอเดียกัน 

2.กิจกรรมการแข่งขันชิงเงินรางวัลรวม 8 แสนบาท อาทิ การแข่งหุ่นยนต์โรบอทกู้ภัย แข่งโดรนเรซซิ่ง แข่งบังคับโดรน และการแข่งขันอีสปอร์ต อีกทั้งยังมีการจัดอบรม Workshop ด้านนวัตกรรมต่าง ๆ อีกมากมาย และ 

3.การจัดงานสัมมนาจากกูรูชื่อดังทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มารวมตัวกันในงานเพื่อให้ความรู้มากถึง 120 ท่านกับหัวข้อสัมมนาเจาะลึกทุกประเด็นถึง 150 เรื่อง 

นอกจากนี้ยังมี Super Innovation นวัตกรรมเทคโนโลยีสุดล้ำ อาทิ VR Sphere จากฝีมือคนไทย นวัตกรรมเพื่อโลกสีเขียว เช่น รถยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะ Tesla Car,บ้านอัจฉริยะแห่งอนาคตที่จัดมาให้สัมผัสแบบอลังการ, ที่จอดรถอัจฉริยะ โดยเฉพาะไฮไลท์ที่ไม่ควรพลาดคือ การแสดงโชว์หุ่นยนต์ Transformer ที่มาท้าดวลกับหุ่นยักษ์ไทยไมยราพและกิจกรรม JOB FEST ที่เปิดโอกาสให้กับนักศึกษาและบัณฑิตจบใหม่ได้มาสัมภาษณ์และสมัครงานกับบริษัทชั้นนำ

อย่างไรก็ตามงานนิทรรศการ “ดิจิทัลไทยแลนด์บิ๊กแบง 2017” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-24 กันยายน 2560 เวลา 09.00 – 20.00 น. ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 1-2 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี 



 คลิกที่รูปเพื่อดูภาพขยาย