มจธ. ร่วมมือกับ 4 บริษัทชั้นนำในโครงการ Electric Vehicle Charging and Car Sharing Zones เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า การเดินทางแบบ Car Sharing และการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในรูปแบบ Car Sharing สำหรับประเทศไทยในอนาคต
จากปัญหาพลังงานและสิ่งแวดล้อมทำให้ปัจจุบันยานยนต์ไฟฟ้าเริ่มเป็นที่นิยมในหลายประเทศทั่วโลกเนื่องจากมลพิษต่ำ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้พยายามส่งเสริมและผลักดันให้เกิด Smart Mobility หรือการเดินทางที่ยั่งยืนภายในมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะส่งเสริมให้นักศึกษาใช้จักรยาน หรือเดินทางเป็นหมู่คณะด้วยระบบขนส่งภายในมหาวิทยาลัยเพื่อลดปริมาณการปล่อยมลพิษออกสู่สภาวะแวดล้อม ซึ่งล่าสุด มจธ. ได้จัดตั้งโครงการ “Electric Vehicle Charging and Car Sharing Zones” หรือเรียกง่ายๆ ว่า Charge & Share
ผศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล ประธานคลัสเตอร์วิจัยยานยนต์ มจธ. กล่าวว่า Charge & Share เป็นโครงการนำร่องที่มีระยะเวลา 2 ปี เป็นโครงการภายใต้ศูนย์ Lo-Ve หรือ Center of Low Carbon Vehicle ภายใต้คลัสเตอร์วิจัยยานยนต์ของ มจธ. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและระบบ Car Sharing (การใช้ยานพาหนะร่วมกัน) ในประเทศไทย นอกจากนั้นก็เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้ ยานยนต์ไฟฟ้าในรั้ว มจธ. ให้เป็นรูปธรรม และเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางมาเป็น Car Sharing เพื่อศึกษาพฤติกรรมของคนไทยในการใช้งานระบบดังกล่าวด้วย
ทางด้าน ดร.วศิน เกียรติโกมล กล่าวในฐานะหัวหน้าโครงการว่า มจธ. ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนหลายแห่ง โดยทั้งนี้ได้มีการลงนามความร่วมมือระหว่าง มจธ. และ บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู (ประเทศไทย) จำกัด ขึ้น โดย บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู (ประเทศไทย) จำกัด ยินดีนำรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น i3 ที่ยังไม่มีจำหน่ายในไทยอย่างเป็นทางการมาทดลองใช้ในโครงการดังกล่าวด้วย นอกจากนั้นยังมี บริษัท ชไนเดอร์ อีเล็คทริค (ไทยแลนด์) จำกัด ที่มอบและติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้าเพราะยานยนต์ไฟฟ้าเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย บริษัทจึงยินดีที่จะวิจัยร่วมด้วย รวมทั้งติดตั้งระบบเก็บเงินของจุดประจุไฟฟ้าร่วมกับ บริษัท โซลาร์ ไอที คอนซัลแตนท์ จำกัด ที่ร่วมเก็บข้อมูลการใช้งานรวมถึงข้อมูลการใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งจะเสนอเป็นแนวทางในการเก็บค่าประจุไฟฟ้าต่อไป นอกจากนั้นยังได้รับความร่วมมือจาก บริษัท ฮ้อปคาร์ จำกัด ในการช่วยบริหารจัดการระบบ Car Sharing ในการจองและคืนรถอีกด้วย
“ในโครงการ Charge & Share นั้น มจธ. ได้เปิดสถานีประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขึ้น โดยมีรถยนต์ให้บริการสองคันในรูปแบบ Car Sharing แบ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle หรือ BEV) หรือ รถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Vehicle หรือ PHEV) สำหรับการทดลอง จำนวนอย่างน้อย 1 คัน จาก บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู (ประเทศไทย) ที่เปิดโอกาสให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยสามารถนำไปใช้ในงานราชการ พร้อมกับขอความร่วมมือในการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการขับขี่ และอีกคันเป็นรถยนต์เครื่องยนต์ จากบริษัท ฮ้อปคาร์ จำกัด ให้สามารถให้บริการเช่ายืมเป็นรายชั่วโมง กับบุคลากร นักศึกษา และบุคคลภายนอก โดยเปิดลงทะเบียนใช้บริการผ่าน www.haupcar.com ได้โดยมีค่าบริการ ซึ่งทั้งหมดนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะการใช้งาน รวมถึงข้อจำกัดต่างๆ ของการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ควบคู่กับการศึกษาพฤติกรรมของคนไทยในการใช้บริการระบบ Car Sharing และ EV Car Sharing เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ของประเทศไทยที่จะมีการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าและระบบ EV sharing ไปพร้อมกันสำหรับในอนาคตอันใกล้“
ดร.วศิน กล่าวทิ้งท้ายว่า เรื่องของ Car Sharing นั้นเป็นแนวคิดที่จะส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ตระหนักว่าไม่จำเป็นต้องมีรถส่วนตัวทุกคนก็ได้ เป็นจุดเริ่มต้นของการลดปัญหาการจราจร ปัญหาการใช้พลังงาน และปัญหาการปล่อยมลพิษ ซึ่งใช้ได้ผลและเป็นที่นิยมทั่วโลกโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและยุโรป แต่ถ้าเป็น EV Car Sharing นั้นยังมีน้อยมากหรือเรียกว่าไม่มีเลยก็ได้ มจธ. จึงเริ่มศึกษาและทดลองเพื่อก้าวเป็นผู้นำที่จะให้คำตอบในด้านนี้
“คาดว่าผลลัพธ์จากความร่วมมือในโครงการ Charge & Share ในระยะเวลาสองปีต่อจากนี้จะเป็นคำตอบถึงแนวโน้มว่าเป็นไปได้หรือไม่หากจะมี Car Sharing และ EV Car Sharing เกิดขึ้นในสังคมประเทศไทย และเป็นบทเรียนที่จะบอกว่ามันมีปัญหา อุปสรรค และวิธีการแก้ไขอย่างไรบ้าง ทั้งสำหรับ มจธ. เองในฐานะผู้วิจัยและผู้ปฏิบัติ รวมถึงบริษัทเอกชนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบเหล่านี้ และเป็นโครงการนำร่องให้แก่สังคมโดยรวมในอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับนโยบายลำดับต้นๆ ของประเทศในเรื่องส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า”
คลิกที่รูปเพื่อดูภาพขยาย