วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2559

เอ็ตด้าเล็งผลักดัน “eID” หนุนธุรกรรมออนไลน์ใน-นอกประเทศ วางรากฐานก้าวเข้าสู่ดิจิทัลอีโคโนมีเต็มรูปแบบ




สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เตรียมผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน “ตัวตนบนอิเล็กทรอนิกส์” หรือ “eID” (Electronics Identification) หนุนธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศ-ระหว่างประเทศ เพื่อวางฐานรากในการผลักดันประเทศไทยเข้าสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลโดยสมบูรณ์ พร้อมผนึก Asia PKI Consortium ร่วมพัฒนามาตรฐานระหว่างกัน

สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า ตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า eID คือการสร้างความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ขณะเดียวกันยังเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะอำนวยความมั่นคงปลอดภัยสำหรับทั้งผู้ซื้อและผู้ขายในการทำธุรกิจออนไลน์ ซึ่งรวมไปถึงการโอน-ชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (electronic funds transfer) หรือการทำธุรกรรมออนไลน์อื่น ๆ ให้ครบสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการโปรโมตการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มั่นคงปลอดภัยและน่าเชื่อถือ ในการเปลี่ยนรูปแบบเข้าสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล และเพื่อเป็นช่องทางในการอำนวยความสะดวกต่อการค้าระหว่างประเทศที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งอีกด้วย

ระบบ eID คือโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทั้งในกระบวนการทางธุรกิจและอุตสาหกรรม เพียงแต่ทั้งภาคธุรกิจและอุตสากรรมยังไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญและบทบาทของ eID นี้ในฐานะของมาตรฐานและกลไกสำคัญที่จะช่วยยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรนิกส์ (e-Authentication) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำการค้าข้ามพรมแดน (cross-border) เพื่อให้การทำธุรกรรมระหว่างประเทศมีความน่าเชื่อถือและมั่นคงปลอดภัย

“การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน eID จะช่วยให้เราสามารถลดการฉ้อโกงในทุกกระบวนการ ขณะที่สร้างความน่าเชื่อถือและทำให้การทำธุรกรรมเป็นไปอย่างมั่นคงปลอดภัย ซึ่งที่สุดแล้วจะช่วยสร้างตลาดการค้า (e-Market) แบบไร้พรมแดนระหว่างประเทศให้เกิดขึ้นได้อย่างเต็มรูปแบบและมีประสิทธิภาพ และจะนำพาประเทศก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลที่จะสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนตั้งแต่บุคคลทั่วไป วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ไปจนถึงหน่วยงานรัฐและองค์กรธุรกิจ ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการผลักดันและขับเคลื่อนธุรกิจและเศรษฐกิจได้อย่างสมบูรณ์” สุรางคณา กล่าว

ในฐานะสมาชิกของสมาคม Thailand PKI ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ Asia PKI Consortium เอ็ตด้าได้ร่วมทำงานในภารกิจด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนามาตรฐานเพื่อความสามารถในการทำงานร่วมกัน (interoperability) ซึ่งจะสนับสนุนการทำธุรกรรมข้ามประเทศอย่างมั่นคงปลอดภัย ผ่านมาตรฐานเพื่อการรับ-ส่งข้อมูล และประมวลผลระหว่างกันได้ 

เอ็ตด้ายังจับมือกับ Asia PKI Consortium จัดสัมมนาภายใต้หัวข้อ “Electronic ID, Building Ecosystem Right Is the Key” เพื่อการทำงานร่วมกันและให้ความรู้แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในวงกว้าง โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากประเทศทั้งในเอเชียแปซิฟิกและยุโรปมาร่วมให้ข้อมูลและความรู้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ 

ทั้งนี้ สมาคม Asia PKI Consortium คือหน่วยงานที่ส่งเสริมความร่วมมือในการใช้งานเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานกุญแจสาธารณะหรือ PKI (Public Key Infrastructure) ในกลุ่มประเทศแถบเอเชีย เพื่อให้การทำธุรกรรมออนไลน์มั่นคงปลอดภัย

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสร้างฐานรากเพื่อรองรับ e-ID เอ็ตด้าอยู่ระหว่างการดำเนินการพัฒนา “Wireless Digital Signing” เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในการทำธุรกรรมหรือเข้าใช้บริการใด ๆ ได้ด้วยความมั่นคงปลอดภัยสูงสุดแทนการใช้ OTP หรือรหัสผ่าน (username/password) โดยปัจจุบัน เอ็ตด้าจับมือผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (mobile operator) 3 รายใหญ่ในประเทศไทยทดสอบระบบ เนื่องจากการยืนยันตัวตนและลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์จะสร้างขึ้นในซิมการ์ด (PKI Sim) เพื่อทำให้การยืนยันตัวตนผ่านมือถือมีความมั่นคงปลอดภัยสูงสุด เนื่องจากโปรแกรมมุ่งร้ายหรือมัลแวร์ ไม่สามารถเข้าถึงซิมการ์ด เพื่อสร้างลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์แทนเจ้าของโทรศัพท์มือถือได้

การพัฒนาระบบการลงลายมือชื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Wireless Digital Signing ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ธุรกรรมที่ทำโดยบุคคลในโลกอิเล็กทรอนิกส์ (eID) จะมีผลผูกพันทางกฎหมายไปถึงผู้ใช้งาน และจะเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญในการยกระดับของการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของทั้งภาครัฐและเอกชนในการเข้าสู่การเป็นเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างสมบูรณ์

ในฐานะผู้พัฒนา เอ็ตด้าวางแผนจะผลักดันการใช้งาน Mobile Authentication เบื้องต้นใน 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มสถาบันการเงิน เนื่องจากเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของผู้ประสงค์ร้าย อีกทั้งยังเป็นการช่วยอำนวยความสะดวกและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้าในการทำธุรกรรมทางออนไลน์ และ 2. นิติบุคคลที่จำเป็นต้องติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐเป็นประจำ เช่น ผู้ประกอบการนำเข้าส่งออก บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น เพื่อลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรม