3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เตรียมหารือชาวไร่อ้อยและหน่วยงานภาครัฐ กำหนดกติกาและแนวทางปฏิบัติภายใต้โครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายใหม่ ที่จะมีการยกเลิกโควตาที่จัดสรรให้โรงงานน้ำตาลผลิต และการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในประเทศ
นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า แผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ พ.ศ. 2559–2564 ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ครอบคลุมประเด็นหลัก ได้แก่ การปรับปรุง พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 และระเบียบข้อบังคับต่างๆ การเปิดให้นำน้ำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอลและผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มอื่นๆ การเพิ่มผลิตภาพอ้อยและน้ำตาลทราย การกำหนดมาตรฐานคุณภาพอ้อยและประสิทธิภาพการผลิตของโรงงาน และการกำหนดต้นทุนมาตรฐานการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย รวมถึงการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายให้เป็นไปตามราคาในตลาดโลก และยกเลิกโควตา ก. ข. ค. เป็นต้น
ทั้งนี้ โรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อย จะหารือถึงวิธีปฏิบัติภายใต้ระบบใหม่ เนื่องจากมีหลายประเด็นที่ชาวไร่อ้อยและโรงงานจะต้องปรับตัว และต้องทำความเข้าใจกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งชาวไร่ โรงงาน ผู้บริโภค และอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบ เช่น การลอยตัวราคาน้ำตาล และยกเลิกโควตา เป็นต้น ซึ่งต้องมีการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือน ก่อนบังคับใช้ให้ทันในฤดูการผลิต 2560/61
“ในประเด็นการอุดหนุนการเพาะปลูกอ้อย 160 บาทต่อตัน โดยใช้เงินกู้เงินของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ที่เป็นข้อกังวลของชาวไร่อ้อยและเป็นหนึ่งในหัวข้อที่บราซิลนำมาเป็นประเด็นยื่นฟ้องร้องประเทศไทยต่อ WTO นั้น หลังจากเริ่มใช้ระบบใหม่ จะไม่สามารถเก็บเงินจากการขายน้ำตาลในประเทศ กก. ละ 5 บาท มาชำระหนี้เพื่อการนี้ได้อีกแล้วตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งการปรับเปลี่ยนระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในช่วงนี้ถือเป็นจังหวะที่ดี ที่ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกอยู่ในระดับสูง 19-20 เซนต์ต่อปอนด์ ส่งผลให้ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการหีบอ้อยปี 2559/60 สูงตามไปด้วย โดยคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้เห็นชอบแล้วให้กำหนดราคาที่ 1,050 บาทต่อตันอ้อย ที่ระดับค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส.” นายสิริวุทธิ์ กล่าว
ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า กรณีการลอยตัวราคาน้ำตาลให้เป็นไปตามกลไกตลาดโลกและการยกเลิกโควตาน้ำตาล ที่ผู้บริโภคอาจเป็นห่วงว่า ราคาในประเทศจะปรับตัวสูงขึ้น และมีน้ำตาลไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศนั้น ในประเด็นนี้หน่วยงานภาครัฐต้องเร่งสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้บริโภค และมีมาตรการรองรับไม่ให้เกิดผลกระทบดังกล่าว
สำหรับการแก้ไข พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 นั้น ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลเห็นว่า มีหลายมาตรา โดยเฉพาะในมาตรา 17 ที่กำหนดหน้าที่ของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จะต้องยกเลิกและปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับข้อตกลง WTO ตามมติคณะรัฐมนตรี ส่วนบทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายนั้น ทางผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลมองว่า ควรยึดเจตนารมณ์ของการออกกฎหมายที่มุ่งหวังให้ทุกฝ่าย ทั้งชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลถือปฏิบัติภายใต้กรอบของกฎหมายอย่างเป็นธรรม ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบ และได้รับประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย มากกว่าที่จะมุ่งลงโทษผู้กระทำผิด ซึ่งจะทำลายความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลที่เปรียบเสมือนคนในครอบครัวเดียวกัน สามารถตกลงและแก้ไขปัญหาร่วมกันได้เช่นที่ผ่านมา ซึ่งโรงงานและชาวไร่อ้อยไม่มีการปฏิบัติขัดต่อกฎหมายอย่างร้ายแรงแต่ประการใด